เรียบเรียงโดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) วว.

ในปัจุบันคำว่า  เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy นั้น เป็นที่คุ้นหูกันในหมู่นักวิชาการ รวมถึงนักวิจัยในสาขาต่างๆ ด้วย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในปัจุบันนี้เน้นไปที่เรื่องดังกล่าว เศรษฐกิจสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมแบบ 3 มิติไปพร้อมกัน อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุและของเสียต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมให้มีความสมดุล ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน  

การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการที่จะขับเคลื่อน เนื่องจากโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อน และยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการดำเนินงานร่วมกันให้เป็นไปโดยมีเอกภาพ ซึ่งในแต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับโลก แต่ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ดังนั้นการทำงานผสานกันเป็นแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) จึงเป็นแนวคิดที่ อว. ใช้ในการขับเคลื่อนโดย การทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการขอความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน หรือเทคโนโลยีจากพันธมิตรในต่างประเทศ 

อว.มีหน่วยงานภายใต้กระทรวง ซึ่งมีศักยภาพในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ โดย อว. มีความตั้งใจที่จะดำเนินการด้วยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ อว. ยังมุ่งหวังที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาด บรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยาง และปาล์ม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตยาชีววัตถุ วัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ทที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น อว. ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และจัดการระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแหล่งใหม่ ที่กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาปิดช่องว่างให้การใช้ทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

และทั้งหมดที่กล่าวมานี่ก็คือ คำตอบว่า เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวได้ด้วยอะไร   

ที่มา : โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG


โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ circular economy หรือบางครั้งฝรั่งก็เรียกสั้นๆ ว่า circularity นั้น ก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีจุดมุ่งมายในการกำจัดของเสียด้วยการนำมันกลับมาใช้ใหม่ โดยทำให้ของเสียหรือขยะต่างๆ กลับกลายมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้งนั่นเอง ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะประกอบไปด้วย การนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse), การแบ่งปันทรัพยากร/วัตถุดิบ (sharing), การซ่อมแซม (repair), การตกแต่งใหม่ (refurbishment), การประกอบใหม่จากโรงงาน (remanufacturing) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการในการทำให้กระบวนการผลิตการเป็นวงจรปิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำ input หรือวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรใหม่เข้าสู่วงจร ซึ่งนั่นก็ หมายความว่า เราจะช่วยลดปริมาณขยะและของเสียในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากนั้นเอง 

นอกเหนือไปจากการลดปริมาณขยะแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนยังทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอีกด้วย เนื่องจากลดการ input ทรัพยากรเข้าไปกระบวนการผลิต ด้วยการนำของเสียหรือขยะกลับผลิตซ้ำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีราคาที่ถูกลง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตลดลง เพราะลดการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 

ซึ่งถือได้ว่า นี่เป็นหนึ่งในกลไลการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear) ในอดีต ซึ่งก็คือ การเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ (take) ในกระบวนการผลิต (make) จากนั้นก็นำของเสียไปทิ้ง (dispose) โดยระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงนี้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและวัตถุดิบในการผลิต ทำให้วัตถุดิบในการผลิตมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงตามนั่นเอง นอกจากนี้การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างต่อเนื่องก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดมลภาวะอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนของเสียหรือขยะกลับมาใช้ใหม่นั้น ทำให้ระบบการผลิตมีความยั่งยืนมากกว่า 

สิ่งสำคัญอีกอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น คือ ความคิดสร้างสรรค์ นั่นก็คือ การที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาจากวัตถุดิบที่เป็นของเสีย ของเหลือทิ้งต่างๆ ตัวอย่างเช่น รองเท้าแตะตราช้างดาวรุ่น ‘KHYA’ (ขยะ) ที่ทำมาจากขยะริมชายหาด 5 กิโลกรัม ซึ่งมียอดจองถล่มทลาย หรือแม้กระทั่งความร่วมมือกันของผู้ประกอบการที่มีการ sharing ของเสียโดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน กลายเป็นการ co-branding  หรือบางครั้งก็เรียกว่า Dual Branding และนำของเหลือทิ้งมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างขึ้นมา อย่าง เช่น บริษัท SCG กับปูนตราเสือ ที่นำของเสียจากกระบวนการผลิต ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็น Eco Bag หรือ กระเป๋ารักษ์โลก ภายใต้ชื่อแบรนด์​ “คิด-จาก-ถุง ที่เป็นที่ฮิอฮาและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก  

ดังนั้นจากคำถามในหัวข้อของบทความนี้ เราจึงสรุปได้ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น หมุนเวียนแล้วได้อะไร เราก็ได้โลกที่สะอาดขึ้น ได้เศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น และได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน และได้ยอดขายที่สูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เหล่านั้นนั่นเอง

ดร. ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ตามนิยามจากหนังสือเศรษฐกิจชีวภาพ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) นั้น หมายถึง “ระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาทั้งการผลิตสินค้า บริการ และการใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านี้ โดยอาศัยทรัพยากร กระบวนการ และหลักการต่างๆทางชีววิทยา” จากคำนิยามดังกล่าว อาจจะสรุปได้ว่า เศรษฐกิจชีวภาพ ก็คือ รูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจ ที่มีการนำเอากระบวนการทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำพลังงาน หรือสิ่งของเหลือใช้ทางอุตหกรรมต่างๆ มาหมุนเวียนใหม่ ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร พลังงาน หรือสินค้าอื่นๆ

ภาพประกอบ Clipart library

จากคำนิยามและความหมายของเศรษฐกิจชีวภาพข้างต้นนั้น ทำให้พอจะทราบถึงความสำคัญของเรื่องนี้กันบ้างแล้วในเบื้องต้น แต่ในบทความนี้จะขอขยายความให้เข้าใจถึงเรื่องความสำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน

เศรษฐกิจชีวภาพ สำคัญอย่างยิ่งต่อ การลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากเป็นการใช้พลังงานทดแทนโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัย คิดค้น ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกนั่นเอง การที่เราหาพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาใช้แทนน้ำมันอย่างเช่นไบโอดีเซลหรือเอทานอลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแรกของเศรษฐกิจชีวภาพเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ โดยมีการหมุนเวียนนำทรัพยากรทางธรรมชาติหรือของเหลือใช้จากการเกษตรมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทดแทนการเชื้อเพลิงในด้านต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็ยังส่งผลให้ก๊าซในกลุ่มของที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกลดลงได้ เช่น การใช้พืชและมาผลิตเป็น bioplastics ที่ไม่ใช่แค่การผลิตถุงพลาสติกแต่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ขวด หลอด บรรจุภัณฑ์ต่างๆ หรือ แม้กระทั่ง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง ผ้าอ้อมเด็กไปจนถึงกบเหลาดินสอ!

ลองจินตนาการว่า หากโลกเราขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ ทั้งหมด ของเหลือใช้ ขยะต่างๆ ก็แทบจะไม่มี ทุกอย่างอาจสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือเป็นพลังงานได้ใหม่ การจัดการขยะ ก๊าซที่เกิดจากกองขยะ การเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะลดน้อยลงอย่างมาก อุตสาหกรรมการขนส่งที่ไม่ใช้น้ำมันก็จะเกิดขึ้น มลภาวะก็ลดลง ภาวะโลกร้อนก็จะค่อยๆ ดีขึ้น พวกเราก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ดังนั้นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพโดยเร็ววัน

ดร. ปฐมสุดา อินทุประภา
กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

    เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา SOE Digital Transformation for Thailand 4.0 ที่จัดขึ้นโดยชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในฐานะคนนอกวงการ IT เพราะส่วนใหญ่บุคลากรที่มีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นคนในแวดวง IT ไม่ว่าจะเป็น Programmer, System analyst และ Network engineer ซึ่งแต่ละคนก็จะมีการใช้คำพูดด้วยคำศัพท์ที่เป็น Technical terms ที่ผู้เขียนไม่ค่อยคุ้นหู และไม่เข้าใจความหมายเท่าไรนัก เพราะผู้เขียนเป็นแค่ End user หรือผู้ใช้ระบบที่เขาเหล่านั้นได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะ End user ที่เข้าร่วมในการสัมมนาในครั้งนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่านับเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้เขียนได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มรัฐวิสาหกิจไทยที่มุ่งมั่นจะพัฒนาระบบ Infrastructures, program และบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ

  ในงานสัมมนา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดและได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง SOE Digital Transformation for Thailand 4.0 ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวข้ามผ่านความล้าหลังแล้ว และกลุ่มรัฐวิสาหกิจของไทยก็มีศักยภาพทั้งในเรื่องเงินทุน กำลังคน และเทคโนโลยีที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่ 4.0 และหากกลุ่มรัฐวิสาหกิจไทยสามารถวางเป้าหมายร่วมกันได้ ท่านก็เชื่อว่ากลุ่มรัฐวิสาหกิจไทยจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเทศไทยความเป็นสู่ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ท่านยังเน้นย้ำว่าทุกรัฐวิสาหกิจควรที่จะตั้งเป้าร่วมกันคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยต้องไม่ลืมถึงความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคม ระบบ logistic และการทำธุรกรรมการเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในส่วนของรัฐบาลเองก็กำลังดำเนินการอยู่ 5 เรื่องหลักๆ เพื่อการขับเคลื่อน Digital 4.0 ซึ่ง ก็คือ SIGMA แปลว่า S = Security (ความปลอดภัย), I = Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน), G = Government (รัฐบาล), M = Manpower (กำลังคน) และ A = Application (การประยุกต์ใช้) โดยทั้งหมดนี้ก็หมายความถึง การคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการในโลกออนไลน์และความมีเสถียรภาพของระบบต่างๆ การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายให้ครอบคลุม การทำระบบ e-government เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างทั่วถึง การพัฒนากำลังคนหรือบุคลากรที่จำเป็นเพื่อใช้พัฒนา วิเคราะห์ และวางระบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และการนำเอาระบบต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับการเสวนาของ คุณเทวินทร์ วงวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และคุณมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสามท่านได้กล่าวถึง ความพร้อมในด้าน Manpower และ Infrastructure ของหน่วยงาน นอกจากนี้ท่านทั้งสามยังยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมไปถึงการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเตรียมพร้อมเกี่ยวกับใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยบนระบบเครือข่ายความเร็วสูงที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ

 

 นอกจากนี้ในการเสวนาช่วงบ่ายของ ดร. ณัฐพล นิมมานพัชริทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล และ นพ. ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE และ CEO บริษัท MCFIVA ทั้งสองท่านยังได้เน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อมของบุคลากรของภาครัฐให้มีความเป็นนักนวัตกร (Innovator) คือ การที่บุคลากรภาครัฐสามารถนำเอาผลงานวิจัยมาต่อยอดหรือสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชิวิตของผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น สร้างความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา หรือประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น นวัตกรจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงมุมมองของนักลงทุนและสามารถสื่อสารกับนักลงทุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่มีความแปลกใหม่และตอบสนองชีวิตในยุค digital 4.0 ได้ ซึ่งบุคลากรภาครัฐควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทัศนคติ รวมถึงแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และหลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ เพื่อสร้างสรรค์งานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่สังคม

 สำหรับในเรื่องของ Security นั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ก็ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ Cyber Security for New Generation ซึ่งในการบรรยายท่านก็ได้เน้นย้ำถึง การโจมตีทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเป้าหมายในการปฏิรูปธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานของระบบจำเป็นต้องเข้มแข็ง และสามารถตรวจจับเครือข่ายแปลกปลอมต่างๆ ที่แทรกซึมเข้ามาในระบบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เรื่องนี้นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ

  ในช่วงท้ายของงานซึ่งเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง Challenging to change in digital era โดย พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ดังนั้นในยุคที่ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในพริบตา บุคลากรภาครัฐจึงจำเป็นต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแลงที่รวดเร็วเช่นนี้ เพราะคลื่นลูกใหม่แห่งความเปลี่ยนแปลงอาจจะถาโถมลงมาได้อีกในไม่กี่ปีข้างหน้า

 ท้ายสุดนี้ ข้อคิดที่ได้จากเข้าร่วมสัมมนาในฐานะ End user ผู้เขียนได้ตระหนักถึงสิ่งที่ End user ต้องเตรียมรับมือเพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ Digital literacy หรือความตระหนักรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

โดย ดร. ชนะ พรหมทอง

   งานสนับสนุนโครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถือได้ว่าความเป็นความภาคภูมิใจประการหนึ่งของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการพัฒนาเกษตรที่สูง โดย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ฝวช.)  ซึ่งทาง วว. ได้เข้าไปมีบทบทในการวิจัยและพัฒนา การเพาะเห็ดเขตหนาว ซึ่งในอดีตนั้นเห็ดเขตหนาวไม่สามารถเพาะปลูกได้ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงโปรดให้มีการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โครงการพัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวของไทยจึงได้เกิดขึ้นและได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูงในภาคเหนือของไทยแล้ว ยังสามารถลดการนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

FullSizeRender (1)

 

   การวิจัยและพัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวนี้ ดำเนินการโดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง ด้วยการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งทาง วว.ดำเนินการภายใต้ศูนย์กิจกรรมพิเศษ โดยต่อมาได้ตั้งขึ้นเป็นศูนย์ประสานงานพัฒนาเกษตรที่สูง(ศปก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกองได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ในปี พ.ศ. 2512 ในการส่งเสริมพัฒนาการเพาะเห็ด เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพของชุมชนบนพื้นที่สูง โดยโครงการหลวงได้กันพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางวา ที่สถานีวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัย พัฒนาและทดสอบเห็ดเขตหนาว โดยเริ่มจากการเพาะเห็ดหอมในท่อนไม้จากการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญไต้หวันที่เข้ามาช่วยงานโครงการหลวงยุคเริ่มโครงการหลวงโดยการนำไม้ก่อที่มีอยู่ในธรรมชาติแต่ถูกตัดเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตร การเพาะเห็ดหอมท่อนไม้ประสบผลสำเร็จ เป็นอย่างดี ต่อมาได้ส่งนักวิจัยไปฝึกงานการเพาะเห็ดที่ประเทศไต้หวัน และสนับสนุนเครื่องจักรสำหรับเพาะเห็ดภายใต้ความร่วมมือของโครงการหลวงกับรัฐบาลไต้หวัน เพื่อนำความรู้กลับมาวิจัย พัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดเขตหนาวชนิดอื่นๆ เช่น เห็ดแชมปิญอง เห็ดเข็มทอง เห็ดนางรมหลวง เห็ดโคนหลวง เห็ดปุยฝ้าย เห็ดนางรมดอย และเห็ดอื่นๆอีกหลายชนิด ปัจจุบัน ได้ดำเนินการทดสอบ และทดลองนำสายพันธุ์เห็ดเขตหนาวชนิดอื่นๆมาเพาะเลี้ยง กว่า 10 ชนิด และส่งเสริมเห็ดที่มีศักยภาพให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมต่อไป รวมทั้งโครงการหลวงมอบหมายให้ช่วยบริหารจัดการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ. 2549 และ วว. มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้ยุบรวมงานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไปอยู่กับงานวิจัยพัฒนา ทำให้ ศปก. ถูกยุบรวมเป็นเพียงโครงการหนึ่งเท่านั้นโดยมีนักวิจัยเป็นหัวหน้าโครงการ

 

      ต่อมาในปีพ.ศ. 2553 โครงการหลวงได้แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ วว. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ช่วยดูแลการบริหารจัดการ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกอีกครั้งหนึ่ง และมีรับสั่งจากองค์ประทานมูลนิธิโครงการหลวงให้ขยายงานส่งเสริมการเพาะเห็ดไปยังศูนย์ต่างๆมากขึ้นนอกเหนือจากเดิมที่ทำเฉพาะงานทดสอบที่ศูนย์วิจัยเห็ดเขตหนาวดอยปุย ปัจจุบันงานเห็ดได้ขยายไปยังศูนย์/สถานีของโครงการหลวงทั้งหมด 5 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมีศูนย์ดอยปุยเป็นศูนย์หลักในการผลิตหัวเชื้อเห็ดของโครงการหลวง และปัจจุบันศูนย์เห็ดดอยปุยขอสนับสนุนงบประมาณในรูปกองทุนโครงการ อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อดำเนินการผลิตเห็ดสดเพื่อจำหน่ายผ่านโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค นอกเหนือจากงานทดสอบเห็ดชนิดใหม่

FullSizeRender (2)

     ในปี พ.ศ. 2557 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การดูแลของ วว. ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการหลวงประมาณ 13 ล้านบาท ในการสร้างอาคารเพาะเห็ดระบบปิดที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงเพื่อพัฒนางานผลิตเห็ดของโครงการหลวงให้มากขึ้น และต่อมาในปีพ.ศ. 2546 ได้เริมการวิจัยพัฒนาการผลิตวานิลลา ที่ศูนย์ฯป่าเมี่ยงโดยโครงการหลวงให้ทุนวิจัย เพื่อขยายผลสู่งานส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงต่อไปจนถึงปัจจุบันได้ขยายผลไปยัง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ศูนย์ฯม่อนเงาะ และศูนย์ฯตีนตก โดยมีการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ผ่านตลาดโครงการหลวง

      ทั้งหมดนี้จึงนับได้ว่า เป็นความภาคภูมิใจของ วว. ที่ได้มีส่วนร่วมในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคคลากรในองค์กรช่วยในการพัฒนาประเทศตามพระราชประสงค์

เอกสารการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส ปี 2558

1. Economic Outlook : ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2558 [ภาษาไทย] [ภาษาอังกฤษ]
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เว็บไซต์ : www.nesdb.go.th

วันที่ 18 พฤศภาคม 2558

money1

ภาพจาก http://www.flickr.com/photos/tracy_olson/61056391/ By Tracy O

รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม คำ ๆ นี้ยังใช้ได้ดีอยู่ในทุกยุคสมัย เพราะในบางครั้งบางเรื่องราวที่ดูแล้วอาจไม่เกี่ยวข้องกับเราอย่างเช่นเรื่องของกฎหมายการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฟังดูเหมือนเป็นกฎหมายที่ไกลตัวของบุคคลธรรมดาโดยทั่วไป เพราะมักคิดว่าคงไม่ได้ไปทำสิ่งผิดกฎหมายมา เช่น การกรรโชกทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับอาวุธสงคราม และเราอาจมีเงินหรือทรัพย์สินไม่มากพอที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุผู้มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมไว้ และถ้าท่านเป็นผู้ที่ต้องรายงานธุรกรรมตามที่กฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ หากเพิกเฉยก็อาจตกเป็นผู้ถูกกล่าวโทษได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมาก” อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่าถ้าท่านต้องเป็นผู้รายงานธุรกรรมทางการเงิน หน้าที่ของท่านคือถามที่มาของเงิน ไม่ใช่ผู้สอบสวน

Read more »