เล่าเรื่องงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมเลี้ยงแมลง ใครจะรู้ว่า จิ้งหรีด สามารถสร้างมูลค่าได้ ส่วนหนึ่งจากกิจกรรม BIO GROUP TALK: Sharing our knowledge & experience ของบุคลากร กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

เรียบเรียงโดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) วว.

ในปัจุบันคำว่า  เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy นั้น เป็นที่คุ้นหูกันในหมู่นักวิชาการ รวมถึงนักวิจัยในสาขาต่างๆ ด้วย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในปัจุบันนี้เน้นไปที่เรื่องดังกล่าว เศรษฐกิจสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมแบบ 3 มิติไปพร้อมกัน อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุและของเสียต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมให้มีความสมดุล ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน  

การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการที่จะขับเคลื่อน เนื่องจากโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อน และยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการดำเนินงานร่วมกันให้เป็นไปโดยมีเอกภาพ ซึ่งในแต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับโลก แต่ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ดังนั้นการทำงานผสานกันเป็นแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) จึงเป็นแนวคิดที่ อว. ใช้ในการขับเคลื่อนโดย การทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการขอความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน หรือเทคโนโลยีจากพันธมิตรในต่างประเทศ 

อว.มีหน่วยงานภายใต้กระทรวง ซึ่งมีศักยภาพในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ โดย อว. มีความตั้งใจที่จะดำเนินการด้วยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ อว. ยังมุ่งหวังที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาด บรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยาง และปาล์ม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตยาชีววัตถุ วัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ทที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น อว. ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และจัดการระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแหล่งใหม่ ที่กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาปิดช่องว่างให้การใช้ทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

และทั้งหมดที่กล่าวมานี่ก็คือ คำตอบว่า เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวได้ด้วยอะไร   

ที่มา : โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG


ดร. ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ตามนิยามจากหนังสือเศรษฐกิจชีวภาพ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) นั้น หมายถึง “ระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาทั้งการผลิตสินค้า บริการ และการใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านี้ โดยอาศัยทรัพยากร กระบวนการ และหลักการต่างๆทางชีววิทยา” จากคำนิยามดังกล่าว อาจจะสรุปได้ว่า เศรษฐกิจชีวภาพ ก็คือ รูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจ ที่มีการนำเอากระบวนการทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำพลังงาน หรือสิ่งของเหลือใช้ทางอุตหกรรมต่างๆ มาหมุนเวียนใหม่ ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร พลังงาน หรือสินค้าอื่นๆ

ภาพประกอบ Clipart library

จากคำนิยามและความหมายของเศรษฐกิจชีวภาพข้างต้นนั้น ทำให้พอจะทราบถึงความสำคัญของเรื่องนี้กันบ้างแล้วในเบื้องต้น แต่ในบทความนี้จะขอขยายความให้เข้าใจถึงเรื่องความสำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน

เศรษฐกิจชีวภาพ สำคัญอย่างยิ่งต่อ การลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากเป็นการใช้พลังงานทดแทนโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัย คิดค้น ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกนั่นเอง การที่เราหาพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาใช้แทนน้ำมันอย่างเช่นไบโอดีเซลหรือเอทานอลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแรกของเศรษฐกิจชีวภาพเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ โดยมีการหมุนเวียนนำทรัพยากรทางธรรมชาติหรือของเหลือใช้จากการเกษตรมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทดแทนการเชื้อเพลิงในด้านต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็ยังส่งผลให้ก๊าซในกลุ่มของที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกลดลงได้ เช่น การใช้พืชและมาผลิตเป็น bioplastics ที่ไม่ใช่แค่การผลิตถุงพลาสติกแต่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ขวด หลอด บรรจุภัณฑ์ต่างๆ หรือ แม้กระทั่ง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง ผ้าอ้อมเด็กไปจนถึงกบเหลาดินสอ!

ลองจินตนาการว่า หากโลกเราขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ ทั้งหมด ของเหลือใช้ ขยะต่างๆ ก็แทบจะไม่มี ทุกอย่างอาจสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือเป็นพลังงานได้ใหม่ การจัดการขยะ ก๊าซที่เกิดจากกองขยะ การเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะลดน้อยลงอย่างมาก อุตสาหกรรมการขนส่งที่ไม่ใช้น้ำมันก็จะเกิดขึ้น มลภาวะก็ลดลง ภาวะโลกร้อนก็จะค่อยๆ ดีขึ้น พวกเราก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ดังนั้นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพโดยเร็ววัน

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา และ วรวิทย์ อินทร์กง

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์ (กจค.)

การเตรียมตัวให้เด็กๆ ในการเรียนทางไกลผ่านทีวี หรือออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น พ่อแม่อาจทำได้ตามนี้

ปัจจุบันวิถีชีวิตในโลกเราได้เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างหลังจากการระบาดของโควิด19 ซึ่งทำให้เกิดวิถีใหม่ที่ที่เรียกว่า “New Normal”ขึ้น โดยคณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่าราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ “New Normal” หมายถึงความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยในตอนนี้เช่นเดียวกัน เพราะเด็กๆ ไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนปกติ ทำให้การเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราจะเตรียมตัวบุตรหลานของเราอย่างไรให้พร้อมกับการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้น

  1. จัดเตรียมพื้นที่เงียบ สงบ มีอุณหภูมิที่เหมาะสมให้เด็กอย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้เด็กได้มีสามธิในการเรียน หากไม่มีห้องส่วนตัวก็อาจจัดมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมโดยไม่ให้มีเสียงรบกวนและมีโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กๆ ได้นั่งทำการบ้านอย่างเหมาะสม
  2. จัดตารางเรียนและทำตามตารางอย่างเคร่งครัด หากเป็นการเรียนทางไกลผ่านทีวี ตามตารางการออกอากาศของรายวิชาต่างๆ ก็สามารถจัดตารางเรียนตามการออกอากาศในแต่ละวันได้ แต่หากเป็นการเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง พ่อแม่ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกเวลาที่เหมาะสมให้แก่เด็กว่าควรจะเรียนวิชาใดช่วงเวลาใด และกำหนดชั่วโมงเรียนในแต่ละวิชาให้แก่เด็กๆ โดยไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อรายวิชา เพราะอาจทำให้เด็กหมดความสนใจ หรือขาดสมาธิ
  3. ฝึกทักษะในการใช้เทคโนโลยี พ่อแม่ควรที่จะฝึกทักษะในการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ในการใช้โปรแกรมต่างๆ ในการเรียนการสอน ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กมีความคล่องตัวในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนแบบต่างๆ ในโลกยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังควรให้เด็กเรียนรู้ถึงการใช้โปรแกรมที่เกี่ยวกับการจัดตารางนัดหมาย การประชุมออนไลน์ การแชร์หน้าจอ การนำข้อมูลขึ้น cloud drive ซึ่งโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กๆ และสามารถทำให้ช่วยให้พ่อแม่และครูติดตามการเรียนของเด็กๆ ได้อีกด้วย
  4. ให้เด็กๆ รวมกลุ่มเรียนกับเพื่อน การเรียนออนไลน์คนเดียวที่บ้านอาจทำให้ลูกเบื่อหน่าย ดังนั้นพ่อแม่ควรจะสนับสนุนให้ลูกเรียนไปพร้อมๆ กับกลุ่มเพื่อน โดยอาจให้ลูกปรึกษากับเพื่อน เพื่อจัดตารางเรียนให้ตรงกัน เลือกสื่อการเรียนแบบเดียวกัน และเรียนไปพร้อมกัน โดยในระหว่างเรียนอาจใช้ social media ในการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสอบทานความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ ไปด้วยกัน ทั้งนี้พ่อแม่ควรคอยดูแน่ใจว่า การใช้ social media ในการสื่อสารไม่กลายเป็นการทำลายสมาธิของเด็กในระหว่างเรียน

ทั้ง 4 ข้อนี้ คือ สิ่งที่จะช่วยในการเตรียมพร้อมให้แก่บุตรหลานของเราในการเรียนออนไลน์ ในฐานวิถีชีวิตใหม่ยุคโควิด19 อย่างไรก็ตาม เราจะต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นอะไรที่ทำให้เราทุกคนต้องปรับตัว และเราทุกคนต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยเราจำเป็นต้องเปิดใจในการเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นไปกับทุกสถานการณ์ เพื่อให้เราใช้ชีวิตบนฐานวิถีชีวิตใหม่ได้อย่างมีความสุขไปกับบุตรหลานของเรา

โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา  และ วรวิทย์ อินทร์กง

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

ในขณะที่ Covid-19 ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ประชาชนทั่วโลกในหลายต่อหลายประเทศก็เริ่มมีการแบ่งปันอาหาร สิ่งของต่างๆ ให้แก่กัน เนื่องจากพิษเศรษฐกิจทำให้หลายคนต้องตกงาน ประชาชนในหลายๆที่ จึงเริ่มเกิดความเห็นอกเห็นใจกันและอยากแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้แก่กันตามที่ตนเองสามารถทำได้ ตู้ปันสุขจึงเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ในประเทศไทย อันที่จริงตู้ปันสุขนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นได้มาแต่ตั้งช่วงแรกๆ ของการระบาดของ Covid-19 โดยในช่วงที่ประเทศแถบตะวันตกมีการกักตุนสินค้า อาหารแห้ง แต่มีหลายบ้านที่เริ่มมีการแบ่งปันสิ่งของและอาหารแก่กัน  ด้วยการวางสิ่งของและอาหารแห้งต่างๆ ไว้ ตรงหน้าบ้าน และแปะป้ายไว้ให้คนส่งของหรือคนเก็บขยะ มาหยิบไปได้ จากนั้น จึงเริ่มมีการตั้งตู้เล็กๆ ขึ้นมา และแปะป้ายให้บุคคลทั่วไปที่ผ่านไปมาในละแวกนั้น สามารถหยิบไปได้ โดยคนในชุมชนละแวกนั้น ก็สามารถนำสิ่งของ หรืออาหารแห้ง ต่างๆ มาใส่เพิ่มเติมได้ เป็นการแบ่งปันน้ำใจให้แก่กันในช่วงเวลาวิฤกติเช่นนี้  ซึ่งในประเทศแถบตะวันตก เมื่อมีการทำเช่นนี้ และมีการนำเสนอสู่โลกออนไลน์ ทำให้ประเทศไทยอย่างเรา ก็นำสิ่งดีเช่นนี้มาปฏิบัติด้วย 

สำหรับตู้ปันสุขในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ใน 51 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว และมีตู้ปันสุขถึง 249 ตู้แล้ว โดยใน กทม. นั้น มีถึง 43 ตู้แล้ว ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่า พวกเราชาวไทย มีศรัทธา ซึ่งกันและกัน เรามีศรัทธาในการการแบ่งปัน ในการทำความดี เรามองเห็นถึงประโยชน์ในการแบ่งปันกัน เรามีศรัทธาในการช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก มองเห็นคุณค่า ความหมาย และประโยชน์ของการกระทำเช่นนี้ ซึ่งศรัทธานี้สามารถเกิดขึ้นได้ในระดับต่างๆ และในหลายๆ เรื่อง การมีศรัทธาในนั้น ทำให้เรายังคงยึดมั่นในการทำสิ่งดีๆ เช่นนี้ต่อไป ซึ่งนี่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามด้วยน้ำใจของคนไทย เพราะเรามีศรัทธาในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

อย่างไรก็ตาม มีข่าวเรื่องการที่มีกลุ่มคนบางกลุ่ม วนเวียนไปขนของจากตู้ปันสุขนั้น อาจทำให้คนที่ทำความดี ริเริ่มในการทำตู้ปันสุขเสียศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ไปบ้าง เพราะถูกคุกคามและต้องเยกเลิการทำตู้ปันสขไปเนื่องจากต้องการตัดปัญหา ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะบางครั้งการเสียศรัทธาในการทำแบ่งปัน เสียศรัทธาในพฤติกรรมของคนบางกลุ่ม ก็อาจทำให้เราล้มเลิกสิ่งดีๆ ไปเลย แต่อย่าลืมว่า มนุษย์นั้นมีหลายกลุ่ม ดังเช่น พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลกโดยเปรียบเหมือนบัว 4 เหล่า  คือ 

ภาพประกอบ http://getyourimage.club/

1.ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ  พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว  เปรียบเสมือนดอกบัว เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที 

2.ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ  พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัว ซึ่งจะบานในวันถัดไป

3. ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ  พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า  เปรียบเสมือนดอกบัว ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

4. ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม  พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร ปรียบเสมือนดอกบัวที่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน 

ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องดอกบัว 4 เหล่า แล้ว เราจึงจะเข้าใจในความเป็นไปของมนุษย์ เราจึงควรที่จะตั้งมั่นและมีศรัทธาในการทำความดีต่อไปกับบัวเหล่าอื่นๆ  ซึ่งหลายคนก็ยังคงไมเสียศรัทธาในการทำความดีและยังคงต้องการแบ่งปันสิ่งต่างๆ กันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่สนใจกับคนบางกลุ่มที่มีแต่ความละโมบ ดังจะเห็นได้จากจำนวนของตู้ปันสุข และสิ่งของในตู้ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง 

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร 

ช่วงนี้หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับ Covid-19 กันบ้างแล้ว มาตรการคลาย lock down จากประเทศต่างๆ นั้น ทำให้ผู้คนได้ออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนเกือบจะปกติมากขึ้น เด็กๆ ในบางประเทศก็ได้เริ่มทยอยไปโรงเรียนกันตามปกติ แต่ในความปกตินั้นมันก็เป็นความปกติใหม่ (new normal)  ซึ่งนั่นก็คือ การที่เด็กโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนในประเทศแถบยุโรปนั้น ส่วนใหญ่จะไม่นิยมสวมหน้ากากอนามัยกัน แต่จะเน้นไปที่การล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่าง โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวียร์ อย่าง ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ นั้น การรักษาระยะห่างเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นนิสัย จนกระทั่งเกิดเป็น meme ในโลกออนไลน์กันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเพราะนิสัยรักสันโดษของผู้คนในแถบประเทศเหล่านั้นนั่นเอง 

ภาพประกอบจาก clipart.email

กลับมาที่เรื่องเกี่ยวชีวิตของผู้คนหลังจากการคลายมาตรการ lock down กันต่อ เราจะเห็นได้ว่า ในประเทศไทยของเรานั้น ผู้คนเริ่มทยอยออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างความคับคั่งของยวดยานบนท้องถนน และผู้คนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะก็เริ่มมีมากขึ้น อย่างบนรถไฟฟ้า BTS ก็เริ่มมีผู้คนใช้บริการราวๆ สองแสนคนต่อวัน ทำให้เริ่มเกิดความแออัด และหากเราไม่ระวัง อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ขึ้นมาแบบประเทศ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ดังนั้น ชีวิตหลังจากการคลายมาตรการต่างๆ เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรดีล่ะ 

ภาพประกอบจาก clipart.email

การปฏิบัติตัวของเราหลังการผ่อนคลายนั้น อย่างแรก เรายังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ  สอง คือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ อย่างถูกต้องเช่นเดิม สาม เราต้องอย่าลืมที่จะรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing)  สี่ คือ บริษัท สถานประกอบการ ที่ทำงานต่างๆ ควรที่จะคงมาตรการ Work From Home ไว้ก่อน เพื่อลดความแออัดในสถานที่ทำงาน และลดความเสี่ยงจากการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะของพนักงาน ห้า คือ สถานประกอบการ ร้านอาหาร ควรมีรักษาความสะอาดของร้าน และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร รวมไปถึงพนักงานเสริฟและบุคลากรในครัวที่ประกอบอาหารจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากาอนามัยตลอดเวลาด้วย และสุดท้าย คือ เราทุกคนควรที่จะออกจากบ้านให้น้อยที่สุด โดยควรออกเท่าที่จำเป็นเพียงแค่นั้น ยังไม่ควรที่จะออกไปสังสรรค์ รวมกลุ่มกัน เพราะช่วงเวลานี้ ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งการเฝ้าระวัง  เรายังคงต้องคอยระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อขึ้นมาใหม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นทรุดหนักลงไปกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องมีมาตรการ lock down ที่เข้มข้นกว่าเดิมก็เป็นได้

ภาพประกอบจาก clipart.email

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เราเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ เราจำเป็นที่จะต้องพึงระลึกถึง 6 ข้อพึงปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นไว้ เพื่อให้เชื้อไวรัสร้ายหมดไปจากประเทศเราให้เร็วที่สุด และจนกว่าจะมีวัคซีน เราก็ยังจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตนเช่นนี้ต่อไป เพราะนั่นคือ ความปกติใหม่ (new normal) ของชีวิตหลังคลาย lock down ในปี 2020 นี้นั่นเอง