โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา และ ธันยกร อารีรัชชกุล

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. นั้น เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมีบทบาทในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่รัฐบาลนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน โดย BCG นั้นเกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนนั่นเอง 

ในส่วนของ วว. มีความพร้อมในการดำเนินการเพื่อส่งเสริม  BCG ในทุกด้าน เนื่องจาก วว. ได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ อันได้แก่ 

  • ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรชุมชนเพื่อชุมชน  
  • ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นในเรื่องพลังงานทดแทนและการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศอย่างยั่งยืน 
  • ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ที่มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบในประเทศ รวมทั้งพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทย 
  • ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอย่างครบวงจร เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการ 
  • ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ มุ่งเน้นการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านวัสดุสุขภาพ วัสดุพลังงาน วัสดุธรรมชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่า และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ 
  • ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ มุ่งเน้นเรื่องของการเพิ่มสมรรถนะให้ภาคการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ด้วยการวิจัยพัฒนา บริการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติตั้งแต่ระดับ OTOP จนถึง SMEs

จะเห็นได้ว่าทั้ง 6 ศูนย์เชี่ยวชาญที่ก่อตั้งขึ้นมานี้ มีพันธกิจในการมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ของ  BCG Model  ใน 4 สาขา ที่มาจากความหลากหลายทางชีวภาพ 2 สาขา คือ 1.อาหารและการเกษตร 2.สุขภาพและการแพทย์ และมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม 2 สาขา คือ 1.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 2.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า วว. นั้นเป็นองค์กรที่มีความพร้อมและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน  


เรียบเรียงโดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) วว.

ในปัจุบันคำว่า  เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy นั้น เป็นที่คุ้นหูกันในหมู่นักวิชาการ รวมถึงนักวิจัยในสาขาต่างๆ ด้วย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในปัจุบันนี้เน้นไปที่เรื่องดังกล่าว เศรษฐกิจสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมแบบ 3 มิติไปพร้อมกัน อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุและของเสียต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมให้มีความสมดุล ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน  

การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการที่จะขับเคลื่อน เนื่องจากโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อน และยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการดำเนินงานร่วมกันให้เป็นไปโดยมีเอกภาพ ซึ่งในแต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับโลก แต่ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ดังนั้นการทำงานผสานกันเป็นแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) จึงเป็นแนวคิดที่ อว. ใช้ในการขับเคลื่อนโดย การทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการขอความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน หรือเทคโนโลยีจากพันธมิตรในต่างประเทศ 

อว.มีหน่วยงานภายใต้กระทรวง ซึ่งมีศักยภาพในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ โดย อว. มีความตั้งใจที่จะดำเนินการด้วยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ อว. ยังมุ่งหวังที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาด บรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยาง และปาล์ม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตยาชีววัตถุ วัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ทที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น อว. ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และจัดการระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแหล่งใหม่ ที่กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาปิดช่องว่างให้การใช้ทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

และทั้งหมดที่กล่าวมานี่ก็คือ คำตอบว่า เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวได้ด้วยอะไร   

ที่มา : โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG


โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ circular economy หรือบางครั้งฝรั่งก็เรียกสั้นๆ ว่า circularity นั้น ก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีจุดมุ่งมายในการกำจัดของเสียด้วยการนำมันกลับมาใช้ใหม่ โดยทำให้ของเสียหรือขยะต่างๆ กลับกลายมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้งนั่นเอง ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะประกอบไปด้วย การนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse), การแบ่งปันทรัพยากร/วัตถุดิบ (sharing), การซ่อมแซม (repair), การตกแต่งใหม่ (refurbishment), การประกอบใหม่จากโรงงาน (remanufacturing) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการในการทำให้กระบวนการผลิตการเป็นวงจรปิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำ input หรือวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรใหม่เข้าสู่วงจร ซึ่งนั่นก็ หมายความว่า เราจะช่วยลดปริมาณขยะและของเสียในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากนั้นเอง 

นอกเหนือไปจากการลดปริมาณขยะแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนยังทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอีกด้วย เนื่องจากลดการ input ทรัพยากรเข้าไปกระบวนการผลิต ด้วยการนำของเสียหรือขยะกลับผลิตซ้ำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีราคาที่ถูกลง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตลดลง เพราะลดการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 

ซึ่งถือได้ว่า นี่เป็นหนึ่งในกลไลการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear) ในอดีต ซึ่งก็คือ การเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ (take) ในกระบวนการผลิต (make) จากนั้นก็นำของเสียไปทิ้ง (dispose) โดยระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงนี้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและวัตถุดิบในการผลิต ทำให้วัตถุดิบในการผลิตมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงตามนั่นเอง นอกจากนี้การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างต่อเนื่องก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดมลภาวะอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนของเสียหรือขยะกลับมาใช้ใหม่นั้น ทำให้ระบบการผลิตมีความยั่งยืนมากกว่า 

สิ่งสำคัญอีกอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น คือ ความคิดสร้างสรรค์ นั่นก็คือ การที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาจากวัตถุดิบที่เป็นของเสีย ของเหลือทิ้งต่างๆ ตัวอย่างเช่น รองเท้าแตะตราช้างดาวรุ่น ‘KHYA’ (ขยะ) ที่ทำมาจากขยะริมชายหาด 5 กิโลกรัม ซึ่งมียอดจองถล่มทลาย หรือแม้กระทั่งความร่วมมือกันของผู้ประกอบการที่มีการ sharing ของเสียโดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน กลายเป็นการ co-branding  หรือบางครั้งก็เรียกว่า Dual Branding และนำของเหลือทิ้งมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างขึ้นมา อย่าง เช่น บริษัท SCG กับปูนตราเสือ ที่นำของเสียจากกระบวนการผลิต ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็น Eco Bag หรือ กระเป๋ารักษ์โลก ภายใต้ชื่อแบรนด์​ “คิด-จาก-ถุง ที่เป็นที่ฮิอฮาและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก  

ดังนั้นจากคำถามในหัวข้อของบทความนี้ เราจึงสรุปได้ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น หมุนเวียนแล้วได้อะไร เราก็ได้โลกที่สะอาดขึ้น ได้เศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น และได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน และได้ยอดขายที่สูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เหล่านั้นนั่นเอง

ดร. ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ตามนิยามจากหนังสือเศรษฐกิจชีวภาพ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) นั้น หมายถึง “ระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาทั้งการผลิตสินค้า บริการ และการใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านี้ โดยอาศัยทรัพยากร กระบวนการ และหลักการต่างๆทางชีววิทยา” จากคำนิยามดังกล่าว อาจจะสรุปได้ว่า เศรษฐกิจชีวภาพ ก็คือ รูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจ ที่มีการนำเอากระบวนการทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำพลังงาน หรือสิ่งของเหลือใช้ทางอุตหกรรมต่างๆ มาหมุนเวียนใหม่ ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร พลังงาน หรือสินค้าอื่นๆ

ภาพประกอบ Clipart library

จากคำนิยามและความหมายของเศรษฐกิจชีวภาพข้างต้นนั้น ทำให้พอจะทราบถึงความสำคัญของเรื่องนี้กันบ้างแล้วในเบื้องต้น แต่ในบทความนี้จะขอขยายความให้เข้าใจถึงเรื่องความสำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน

เศรษฐกิจชีวภาพ สำคัญอย่างยิ่งต่อ การลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากเป็นการใช้พลังงานทดแทนโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัย คิดค้น ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกนั่นเอง การที่เราหาพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาใช้แทนน้ำมันอย่างเช่นไบโอดีเซลหรือเอทานอลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแรกของเศรษฐกิจชีวภาพเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ โดยมีการหมุนเวียนนำทรัพยากรทางธรรมชาติหรือของเหลือใช้จากการเกษตรมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทดแทนการเชื้อเพลิงในด้านต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็ยังส่งผลให้ก๊าซในกลุ่มของที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกลดลงได้ เช่น การใช้พืชและมาผลิตเป็น bioplastics ที่ไม่ใช่แค่การผลิตถุงพลาสติกแต่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ขวด หลอด บรรจุภัณฑ์ต่างๆ หรือ แม้กระทั่ง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง ผ้าอ้อมเด็กไปจนถึงกบเหลาดินสอ!

ลองจินตนาการว่า หากโลกเราขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ ทั้งหมด ของเหลือใช้ ขยะต่างๆ ก็แทบจะไม่มี ทุกอย่างอาจสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือเป็นพลังงานได้ใหม่ การจัดการขยะ ก๊าซที่เกิดจากกองขยะ การเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะลดน้อยลงอย่างมาก อุตสาหกรรมการขนส่งที่ไม่ใช้น้ำมันก็จะเกิดขึ้น มลภาวะก็ลดลง ภาวะโลกร้อนก็จะค่อยๆ ดีขึ้น พวกเราก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ดังนั้นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพโดยเร็ววัน

โดย นายธันยกร อารีรัชชกุล และ ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) สำนักดิจิทัลและสารสนเทศ

บริการด้านการเงินสำหรับผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะในช่วงโควิท-19 สถาบันการเงินหลายแห่งมีการนำเทคโนโลยี electronic Know-Your-Customer (e-KYC) หรือการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์มาช่วย เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้ประสบการณ์ลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่น

เทคโนโลยี e-KYC ใช้เพื่อลดขั้นตอนการแสดงตัวตน หรือระบุตัวตนของลูกค้า (Identification & Verification) ช่วยลดขั้นตอนการทำความรู้จักลูกค้าใหม่ โดยสถาบันการเงินไม่พบหน้าลูกค้า แต่มีประสิทธิภาพและคุณภาพเทียบเท่าการพบหน้ากัน เพื่อป้องกันการกระทำความผิดและปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าหากเกิดความผิดพลาด เช่น การใช้ตัวตนปลอมหรือใช้ข้อมูลบุคคลอื่นในการเปิดบัญชี การซื้อขายแทนกัน หรือการถูกลักลอบใช้บัญชีซื้อขาย การถูกยักยอกเงิน 

รูปแบบการยืนยันและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าถูกนำมาใช้ในกระบวนการ e-KYC คือ การยืนยันตัวตันด้วยชีวภาพ (Biometrics) เช่น ม่านตา ใบหน้า ลายนิ้วมือ เสียงพูด DNA เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดีย การใช้หมายเลขไอดีดิจิทัล Aaadhaar ผ่าน e-KYC เพื่อเปิดบัญชี หรือทำธุรกรรมทางการเงิน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบันทางการเงิน  โดยรัฐบาลอินเดียวได้จัดตั้งหน่วยงาน  Unique Identification Authority of India (UIDA) ขึ้น ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น  ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ ที่อยู่ ลายนิ้วมือ และม่านตา เพื่อระบุตัวตน โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับบัตร Aadhaar ซึ่งจะมีหมายเลข 12 หลัก เป็นเลขประจำตัวอยู่ในฐานข้อมูลกลางซี่งมีหน่วยง่านของรัฐบาลเป็นผู้ดูแล บัตร Aadhaar ช่วยให้การระบุตัวตนของคนอินเดียวทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก ไม่ต้องเตรียมเอกสารซ้ำซ้อน และใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สถาบันการเงิน เช่น  การเปิดบัญชีธนาคาร ATM โทรศัพท์มือถือ ใบขับขี่

ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทยได้รับอนุญาตให้นำเทคโนโลยีการจดจำและเรียนรู้ใบหน้า (Biometric facial recognition) มาใช้ในการยืนยันตัวตน ในการเปิดบัญชีเงินฝากจากระยะไกล (Remote account opening)  โดยอ้างอิงข้อมูลบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID – NDID) ซึ่งบันทึกประวัติการทำธุรกรรมการเงิน ทั้งนี้ธนาคารในประเทศไทยและผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินได้เริ่มนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกมาใช้ภายใต้โครงการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชื่อว่า  “โครงการ Regulatory Sandbox” 

หลาย ๆ ประเทศที่ประชากรในอัตราการไม่รู้หนังสือระดับสูง และมีประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากลำบากในการเดินทางเพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินได้เห็นประโยชน์จากการนำ e-KYC มาใช้ จะเห็นได้ได้รับประโยชน์เชิงพาณิชย์และการปฎิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับ

ทั้งนี้ การเปิดบัญชีรับฝากเงินหรือการรับเงินจากประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สถาบันการเงิน จะต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการระบุตัวตนของผู้ใช้บริการสถาบันการเงินต้องจัดให้มี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Video Conference ที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินสามารถสัมภาษณ์และ สังเกตพฤติกรรมของลูกค้าในขณะนั้นได้ (Real time) โดยมีคุณภาพของภาพและเสียงที่ชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่า เป็นลูกค้าที่ต้องการมาเปิดบัญชีรายนั้นจริง และหากสถาบันการเงินต้องการใช้วิธีการหรือเทคโนโลยีอื่น ทดแทนนอกเหนือวิธี Video Conference ให้สถาบันการเงินขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย            ส่วนการพิสูจน์ตัวตนในการเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเครื่องมือของลูกค้า เช่น เครื่อง คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโปรแกรมระบบงาน (Application) ที่สถาบันการเงินได้จัดเตรียมไว้ สถาบันการเงินต้องใช้ระบบการตรวจสอบสถานะของข้อมูลและบัตรประจ าตัวประชาชนของลูกค้าที่เป็นปัจจุบัน ประกอบกับระบบการตรวจสอบลายนิ้วมือของลูกค้าเป็นอย่างน้อย หากต้องการใช้เทคโนโลยีอื่นนอกจาก      ที่ระบุให้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี (“ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 7/2559”, 2561, น.46-53 ; สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, 2560

ภาพ กระบวนการลงทะเบียน การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบ Digital ID ที่มา: แนวปฏิบัติในการน าเทคโนโลยีมาใช้ในการท าความรู้จักลูกค้า โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, 2561, https://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1540966630 hearing_45_2561_s01.pdf

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา และ วรวิทย์ อินทร์กง

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์ (กจค.)

การเตรียมตัวให้เด็กๆ ในการเรียนทางไกลผ่านทีวี หรือออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น พ่อแม่อาจทำได้ตามนี้

ปัจจุบันวิถีชีวิตในโลกเราได้เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างหลังจากการระบาดของโควิด19 ซึ่งทำให้เกิดวิถีใหม่ที่ที่เรียกว่า “New Normal”ขึ้น โดยคณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่าราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ “New Normal” หมายถึงความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยในตอนนี้เช่นเดียวกัน เพราะเด็กๆ ไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนปกติ ทำให้การเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราจะเตรียมตัวบุตรหลานของเราอย่างไรให้พร้อมกับการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้น

  1. จัดเตรียมพื้นที่เงียบ สงบ มีอุณหภูมิที่เหมาะสมให้เด็กอย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้เด็กได้มีสามธิในการเรียน หากไม่มีห้องส่วนตัวก็อาจจัดมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมโดยไม่ให้มีเสียงรบกวนและมีโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กๆ ได้นั่งทำการบ้านอย่างเหมาะสม
  2. จัดตารางเรียนและทำตามตารางอย่างเคร่งครัด หากเป็นการเรียนทางไกลผ่านทีวี ตามตารางการออกอากาศของรายวิชาต่างๆ ก็สามารถจัดตารางเรียนตามการออกอากาศในแต่ละวันได้ แต่หากเป็นการเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง พ่อแม่ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกเวลาที่เหมาะสมให้แก่เด็กว่าควรจะเรียนวิชาใดช่วงเวลาใด และกำหนดชั่วโมงเรียนในแต่ละวิชาให้แก่เด็กๆ โดยไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อรายวิชา เพราะอาจทำให้เด็กหมดความสนใจ หรือขาดสมาธิ
  3. ฝึกทักษะในการใช้เทคโนโลยี พ่อแม่ควรที่จะฝึกทักษะในการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ในการใช้โปรแกรมต่างๆ ในการเรียนการสอน ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กมีความคล่องตัวในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนแบบต่างๆ ในโลกยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังควรให้เด็กเรียนรู้ถึงการใช้โปรแกรมที่เกี่ยวกับการจัดตารางนัดหมาย การประชุมออนไลน์ การแชร์หน้าจอ การนำข้อมูลขึ้น cloud drive ซึ่งโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กๆ และสามารถทำให้ช่วยให้พ่อแม่และครูติดตามการเรียนของเด็กๆ ได้อีกด้วย
  4. ให้เด็กๆ รวมกลุ่มเรียนกับเพื่อน การเรียนออนไลน์คนเดียวที่บ้านอาจทำให้ลูกเบื่อหน่าย ดังนั้นพ่อแม่ควรจะสนับสนุนให้ลูกเรียนไปพร้อมๆ กับกลุ่มเพื่อน โดยอาจให้ลูกปรึกษากับเพื่อน เพื่อจัดตารางเรียนให้ตรงกัน เลือกสื่อการเรียนแบบเดียวกัน และเรียนไปพร้อมกัน โดยในระหว่างเรียนอาจใช้ social media ในการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสอบทานความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ ไปด้วยกัน ทั้งนี้พ่อแม่ควรคอยดูแน่ใจว่า การใช้ social media ในการสื่อสารไม่กลายเป็นการทำลายสมาธิของเด็กในระหว่างเรียน

ทั้ง 4 ข้อนี้ คือ สิ่งที่จะช่วยในการเตรียมพร้อมให้แก่บุตรหลานของเราในการเรียนออนไลน์ ในฐานวิถีชีวิตใหม่ยุคโควิด19 อย่างไรก็ตาม เราจะต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นอะไรที่ทำให้เราทุกคนต้องปรับตัว และเราทุกคนต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยเราจำเป็นต้องเปิดใจในการเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นไปกับทุกสถานการณ์ เพื่อให้เราใช้ชีวิตบนฐานวิถีชีวิตใหม่ได้อย่างมีความสุขไปกับบุตรหลานของเรา

โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา  และ วรวิทย์ อินทร์กง

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

ในขณะที่ Covid-19 ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ประชาชนทั่วโลกในหลายต่อหลายประเทศก็เริ่มมีการแบ่งปันอาหาร สิ่งของต่างๆ ให้แก่กัน เนื่องจากพิษเศรษฐกิจทำให้หลายคนต้องตกงาน ประชาชนในหลายๆที่ จึงเริ่มเกิดความเห็นอกเห็นใจกันและอยากแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้แก่กันตามที่ตนเองสามารถทำได้ ตู้ปันสุขจึงเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ในประเทศไทย อันที่จริงตู้ปันสุขนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นได้มาแต่ตั้งช่วงแรกๆ ของการระบาดของ Covid-19 โดยในช่วงที่ประเทศแถบตะวันตกมีการกักตุนสินค้า อาหารแห้ง แต่มีหลายบ้านที่เริ่มมีการแบ่งปันสิ่งของและอาหารแก่กัน  ด้วยการวางสิ่งของและอาหารแห้งต่างๆ ไว้ ตรงหน้าบ้าน และแปะป้ายไว้ให้คนส่งของหรือคนเก็บขยะ มาหยิบไปได้ จากนั้น จึงเริ่มมีการตั้งตู้เล็กๆ ขึ้นมา และแปะป้ายให้บุคคลทั่วไปที่ผ่านไปมาในละแวกนั้น สามารถหยิบไปได้ โดยคนในชุมชนละแวกนั้น ก็สามารถนำสิ่งของ หรืออาหารแห้ง ต่างๆ มาใส่เพิ่มเติมได้ เป็นการแบ่งปันน้ำใจให้แก่กันในช่วงเวลาวิฤกติเช่นนี้  ซึ่งในประเทศแถบตะวันตก เมื่อมีการทำเช่นนี้ และมีการนำเสนอสู่โลกออนไลน์ ทำให้ประเทศไทยอย่างเรา ก็นำสิ่งดีเช่นนี้มาปฏิบัติด้วย 

สำหรับตู้ปันสุขในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ใน 51 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว และมีตู้ปันสุขถึง 249 ตู้แล้ว โดยใน กทม. นั้น มีถึง 43 ตู้แล้ว ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่า พวกเราชาวไทย มีศรัทธา ซึ่งกันและกัน เรามีศรัทธาในการการแบ่งปัน ในการทำความดี เรามองเห็นถึงประโยชน์ในการแบ่งปันกัน เรามีศรัทธาในการช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก มองเห็นคุณค่า ความหมาย และประโยชน์ของการกระทำเช่นนี้ ซึ่งศรัทธานี้สามารถเกิดขึ้นได้ในระดับต่างๆ และในหลายๆ เรื่อง การมีศรัทธาในนั้น ทำให้เรายังคงยึดมั่นในการทำสิ่งดีๆ เช่นนี้ต่อไป ซึ่งนี่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามด้วยน้ำใจของคนไทย เพราะเรามีศรัทธาในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

อย่างไรก็ตาม มีข่าวเรื่องการที่มีกลุ่มคนบางกลุ่ม วนเวียนไปขนของจากตู้ปันสุขนั้น อาจทำให้คนที่ทำความดี ริเริ่มในการทำตู้ปันสุขเสียศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ไปบ้าง เพราะถูกคุกคามและต้องเยกเลิการทำตู้ปันสขไปเนื่องจากต้องการตัดปัญหา ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะบางครั้งการเสียศรัทธาในการทำแบ่งปัน เสียศรัทธาในพฤติกรรมของคนบางกลุ่ม ก็อาจทำให้เราล้มเลิกสิ่งดีๆ ไปเลย แต่อย่าลืมว่า มนุษย์นั้นมีหลายกลุ่ม ดังเช่น พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลกโดยเปรียบเหมือนบัว 4 เหล่า  คือ 

ภาพประกอบ http://getyourimage.club/

1.ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ  พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว  เปรียบเสมือนดอกบัว เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที 

2.ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ  พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัว ซึ่งจะบานในวันถัดไป

3. ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ  พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า  เปรียบเสมือนดอกบัว ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

4. ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม  พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร ปรียบเสมือนดอกบัวที่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน 

ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องดอกบัว 4 เหล่า แล้ว เราจึงจะเข้าใจในความเป็นไปของมนุษย์ เราจึงควรที่จะตั้งมั่นและมีศรัทธาในการทำความดีต่อไปกับบัวเหล่าอื่นๆ  ซึ่งหลายคนก็ยังคงไมเสียศรัทธาในการทำความดีและยังคงต้องการแบ่งปันสิ่งต่างๆ กันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่สนใจกับคนบางกลุ่มที่มีแต่ความละโมบ ดังจะเห็นได้จากจำนวนของตู้ปันสุข และสิ่งของในตู้ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง 

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร 

ช่วงนี้หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับ Covid-19 กันบ้างแล้ว มาตรการคลาย lock down จากประเทศต่างๆ นั้น ทำให้ผู้คนได้ออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนเกือบจะปกติมากขึ้น เด็กๆ ในบางประเทศก็ได้เริ่มทยอยไปโรงเรียนกันตามปกติ แต่ในความปกตินั้นมันก็เป็นความปกติใหม่ (new normal)  ซึ่งนั่นก็คือ การที่เด็กโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนในประเทศแถบยุโรปนั้น ส่วนใหญ่จะไม่นิยมสวมหน้ากากอนามัยกัน แต่จะเน้นไปที่การล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่าง โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวียร์ อย่าง ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ นั้น การรักษาระยะห่างเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นนิสัย จนกระทั่งเกิดเป็น meme ในโลกออนไลน์กันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเพราะนิสัยรักสันโดษของผู้คนในแถบประเทศเหล่านั้นนั่นเอง 

ภาพประกอบจาก clipart.email

กลับมาที่เรื่องเกี่ยวชีวิตของผู้คนหลังจากการคลายมาตรการ lock down กันต่อ เราจะเห็นได้ว่า ในประเทศไทยของเรานั้น ผู้คนเริ่มทยอยออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างความคับคั่งของยวดยานบนท้องถนน และผู้คนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะก็เริ่มมีมากขึ้น อย่างบนรถไฟฟ้า BTS ก็เริ่มมีผู้คนใช้บริการราวๆ สองแสนคนต่อวัน ทำให้เริ่มเกิดความแออัด และหากเราไม่ระวัง อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ขึ้นมาแบบประเทศ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ดังนั้น ชีวิตหลังจากการคลายมาตรการต่างๆ เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรดีล่ะ 

ภาพประกอบจาก clipart.email

การปฏิบัติตัวของเราหลังการผ่อนคลายนั้น อย่างแรก เรายังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ  สอง คือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ อย่างถูกต้องเช่นเดิม สาม เราต้องอย่าลืมที่จะรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing)  สี่ คือ บริษัท สถานประกอบการ ที่ทำงานต่างๆ ควรที่จะคงมาตรการ Work From Home ไว้ก่อน เพื่อลดความแออัดในสถานที่ทำงาน และลดความเสี่ยงจากการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะของพนักงาน ห้า คือ สถานประกอบการ ร้านอาหาร ควรมีรักษาความสะอาดของร้าน และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร รวมไปถึงพนักงานเสริฟและบุคลากรในครัวที่ประกอบอาหารจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากาอนามัยตลอดเวลาด้วย และสุดท้าย คือ เราทุกคนควรที่จะออกจากบ้านให้น้อยที่สุด โดยควรออกเท่าที่จำเป็นเพียงแค่นั้น ยังไม่ควรที่จะออกไปสังสรรค์ รวมกลุ่มกัน เพราะช่วงเวลานี้ ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งการเฝ้าระวัง  เรายังคงต้องคอยระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อขึ้นมาใหม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นทรุดหนักลงไปกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องมีมาตรการ lock down ที่เข้มข้นกว่าเดิมก็เป็นได้

ภาพประกอบจาก clipart.email

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เราเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ เราจำเป็นที่จะต้องพึงระลึกถึง 6 ข้อพึงปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นไว้ เพื่อให้เชื้อไวรัสร้ายหมดไปจากประเทศเราให้เร็วที่สุด และจนกว่าจะมีวัคซีน เราก็ยังจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตนเช่นนี้ต่อไป เพราะนั่นคือ ความปกติใหม่ (new normal) ของชีวิตหลังคลาย lock down ในปี 2020 นี้นั่นเอง 

โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

  • Speed 

Speed คือ ความเร็ว ในส่วนของงานการจัดการความรู้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความรวดเร็ว ทั้งนี้ความรวดเร็วในการจัดการความรู้นั้น ต้องเป็นความรวดเร็วในแง่ของการรวบองค์ความรู้ที่ทันสมัย และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ขององค์กร  บุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดการความรู้จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ มีหูตากว้างไกล ว่องไวต่อการรับรู้ข่าวสารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กร และมีความฉับไวในการรวบรวมองค์ความรู้ และจัดการองค์ความรู้ที่ทันสมัยเหล่านั้น ให้อยู่ในรูปแบบที่คนในองค์กรเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว 

 ดังนั้น การพัฒนาในส่วนของ Speed ของการจัดการความรู้ อาจจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดการความรู้ให้มีความคล่องตัวในการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ พัฒนาให้รู้จักใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการจัดเก็บเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างฉับไว ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้อาจรวมไปถึงการพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ด้วยเช่นกัน 

ภาพประกอบจาก Webstockreview
  • Satisfaction 

Satisfaction คือ การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า งานการจัดการความรู้นั้น ลูกค้าของเรา คือ บุคลากรในองค์กร ดังนั้นการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ก็คือ การสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับองค์ความรู้ที่เป็นบุคลากรในองค์กรนั่นเอง ซึ่งการจะสร้างความพึงพอใจได้นั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า บุคลากรต้องการองค์ความรู้ในด้านใดเสียก่อน  นอกจากนั้น ต้องคาดการณ์ได้ว่า องค์ความรู้ด้านใดที่จำเป็นต่อองค์กรในอนาคต เราจำเป็นต้องเข้าใจ trend ต่างๆ ในด้านการวิจัย แล้วทำการรวบรวมองค์ความรู้จากแหล่งความรู้ทั้งภายใน และภายนอกองค์กรให้พร้อม และนำเข้าสู่คลังความรู้ในองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรในองค์กร

นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการความคาดหวังของผู้รับบริการด้วยเช่นกัน ซึ่งการเรียนรู้ในเรื่องนี้จะทำให้เรามีข้อมูลเพื่อเตรียมให้บริการ หรือพัฒนานวัตกรรมการให้บริการ ให้ตรงกับความคาดหวัง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ โดยหากเราสามารถตอบสนองได้เกินความคาดหวังก็จะทำให้ผู้รับบริการเกิดความประทับใจแบบ beyond expectation

ภาพประกอบจาก freesvg.org
  • Sharing 

Sharing คือ การแบ่งปัน resource service และ idea ในส่วนของงานจัดการความรู้ แน่นอนว่า เราต้องแบ่งปันทั้ง 3 ข้อนี้อยู่แล้ว การแบ่งปัน resource ของเราคือการแบ่งปันและรวบรวมแหล่งองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานขององค์กร โดยจัดทำเป็นคลังความรู้ สำหรับ service นั้น คือ การทำให้คลังความรู้เป็นฐานข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ง่าย idea ในส่วนของงานจัดการความรู้ คือ การจัดกิจกรรมให้คนในองค์กร สามารถมาแชร์ความคิด องค์ความรู้กันได้ โดยการใช้เครื่องมือในการจัดการความรู้เช่น Storytelling CoP และ Dialogue เป็นต้น

ภาพประกอบจาก Clipartkey

กล่าวโดยสรุป คือ งานด้านการจัดการความรู้ หากจะทำให้ตรงกับค่านิยม 3S ขององค์กร เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการความรู้ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น รวมไปถึงต้องสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ในองค์กรให้เกิดประโยชน์

โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) 

เป็นที่ทราบกันดีว่า Covid-19 ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชิวิตใหม่กันไปทั่วโลก จากที่เราเคยออกจากบ้านไปทำงาน ไปโรงเรียน ไปช้อปปิ้ง ไปทานอาหาร หรือแม้กระทั่งไปพบแพทย์ เราต้องหันมาทำทุกอย่างที่บ้านในรูปแบบ online ไม่ว่าจะเป็นการ Work From Home, online learning, online shopping, online food ordering, online medical consulting   ทุก อย่างนี้ถูกปรับเปลี่ยนในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด Covid-19 ขึ้น ก็เพื่อให้วิถีชีวิตเราดำเนินต่อไปได้อย่างปกติที่สุด แต่ในความปกติที่กำลังเกิดขึ้นนี้จริงๆ แล้ว มันคือ วิถีใหม่ในการดำรงชีวิต ซึ่งเมื่อเราจำต้องปฏิบัติกันเป็นปกติเช่นนี้ ในที่สุดมันก็ได้กลายเป็น New Normal ในสังคมของเราไปนั่นเอง 

คำว่า New Normal จริงๆ แล้ว เป็นคำศัพท์ในเชิงของธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึง วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงปี 2007-2008 และเหตุการณ์ในปี 2008-2012 ภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว คำๆ นี้ ได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายวงการต่อจากนั้น และโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ Covid-19 เช่นนี้ คำๆ นี้จึงได้ถูกหยิบยกมาใช้อีกครั้ง  ซึ่งเราอาจได้เห็น New Normal หลายๆ อย่างเกิดขึ้นแน่นอนทั้งในภาครัฐและเอกชน หาก Covid-19 จบลง 

ภาพประกอบจาก Can Stock Photo

หากจะคาดเดาถึง New Normal ที่จะเกิดขึ้นในสังคม เราคงเดาได้ไม่ยาก โดย 5 อันดับที่กำลังจะพูดถึงนี้ ก็คือสิ่งที่ได้ค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ  ซึ่งอันดับ คงนี้ไม่พ้นเรื่องของ การเรียน online และการ Work From Home ที่คาดว่าจะถูกดำเนินการต่อโดยที่อาจจะมีการพัฒนาในเรื่องของ digital technology ให้มีความสอดรับกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งทั้งนี้เราอาจจะได้เห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันกันอย่างจริงจังในการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบสื่อสาร online ระบบสัญญาณ 5G อาจจะถูกพัฒนาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศเพื่อรองรับ online และการ Work From Home 

ภาพประกอบจาก VectorStock

อันดับต่อมา น่าจะเป็นด้านการแพทย์ ที่เราอาจจะได้ใช้ระบบ online medical consulting กันมากขึ้น และรัฐเพิ่มงบประมาณและให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านสาธารณสุขของประเทศมากกว่าเดิม เพราะบทเรียนจาก Covid-19 ทำให้เราเห็นว่า การลงทุนใดๆ ก็สามารถพังลงได้ในพริบตาหากระบบสาธารณสุขของประเทศล้มเหลว ผู้คนล้มตายเป็นหมื่นๆ แสนๆ คน ในยามที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก  ซึ่งหากรัฐบาลได้ lesson learn จากการะบาดของ Covid-19 ในครั้งนี้ เราอาจจะไม่ต้องเห็นพี่ตูนมาวิ่งเพื่อระดมทุนให้โรงพยาบาลต่างๆ อีกต่อไป

ภาพประกอบจาก VectorStock

อันดับต่อมา คือ เรื่องของ online business คาดว่า เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการลงทุนของภาคเอกชน ห้างร้านต่างๆ หันมาจริงจังกับการทำธุรกิจ online กันมากขึ้น ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นถึงแพลตฟอร์มธุรกิจ online ใหม่ๆ เกิดขึ้น วิธีการชำระเงินแบบ contactless รูปแบบต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุง รวมไปถึงการแข่งขันในด้านการค้าระหว่างแม่ค้าออนไลน์กับเจ้าของแบรนด์และห้างร้านดังๆ ต่างๆ  ดังนั้นฐานข้อมูลของลูกค้า จึงจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเป็นเท่าตัว และเทคโนโลยี AI ที่สามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าจากฐานข้อมูลที่มีอยู่จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของ Online business 

อันดับที่สี่ คือ online entertainment ซึ่งก็คือ การท่องเที่ยว การดูหนัง ฟังเพลง หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ในรูปแบบ online ซึ่งในปัจุบัน ทางพิพิธภัณฑ์และแกลอรี่ชื่อดังต่างๆ ก็ได้จัดทำ virtual museum และ vitrul gallery ให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าไปท่องเที่ยวแบบ online กันแล้วหลายแห่ง ซึ่งในประเทศไทยก็มีเช่นที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย 

ภาพประกอบจาก Freepik

อันดับที่ห้า คือ การ deglobalization ซึ่งข้อนี้คือ สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์คาดเดาไว้ เนื่องจากการระบาดที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมหลายๆ อย่าง ในหลายๆ ประเทศ แม้ว่าการระบาดของโรคยังไม่ไปถึงประเทศอื่นๆ แต่เมื่อประเทศจีนมีการปิดเมือง อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ของจีนก็จำต้องหยุดชะงัก รวมไปถึงการขนส่งต่างๆด้วย ดังนั้น อุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิต จึงหยุดชะงักตามไปด้วยเช่นกัน และภายหลังจากจบการระบาดของ Covid-19 อาจเป็นไปได้ว่า หลายประเทศอาจจะเปลี่ยนมาพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้นนั่นเอง 

ทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่า เป็น lesson learn ที่เราได้รับจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และเราก็จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างเป็นปกติที่สุด แม้ความปกตินั้นจะเป็นเรื่องใหม่ที่เราจะต้องเรียนรู้ก็ตาม New Normal ได้เกิดขึ้นช้าๆ ในทุกสังคม หากเรามองเห็นและทำความเข้าใจกับมันได้เร็ว เราก็จะปรับตัวได้และมีความสนุกกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น