เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) : หมุนเวียนแล้วได้อะไร

โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.)

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ circular economy หรือบางครั้งฝรั่งก็เรียกสั้นๆ ว่า circularity นั้น ก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีจุดมุ่งมายในการกำจัดของเสียด้วยการนำมันกลับมาใช้ใหม่ โดยทำให้ของเสียหรือขยะต่างๆ กลับกลายมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้งนั่นเอง ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะประกอบไปด้วย การนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse), การแบ่งปันทรัพยากร/วัตถุดิบ (sharing), การซ่อมแซม (repair), การตกแต่งใหม่ (refurbishment), การประกอบใหม่จากโรงงาน (remanufacturing) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการในการทำให้กระบวนการผลิตการเป็นวงจรปิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำ input หรือวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรใหม่เข้าสู่วงจร ซึ่งนั่นก็ หมายความว่า เราจะช่วยลดปริมาณขยะและของเสียในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากนั้นเอง 

นอกเหนือไปจากการลดปริมาณขยะแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนยังทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอีกด้วย เนื่องจากลดการ input ทรัพยากรเข้าไปกระบวนการผลิต ด้วยการนำของเสียหรือขยะกลับผลิตซ้ำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีราคาที่ถูกลง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตลดลง เพราะลดการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 

ซึ่งถือได้ว่า นี่เป็นหนึ่งในกลไลการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear) ในอดีต ซึ่งก็คือ การเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ (take) ในกระบวนการผลิต (make) จากนั้นก็นำของเสียไปทิ้ง (dispose) โดยระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงนี้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและวัตถุดิบในการผลิต ทำให้วัตถุดิบในการผลิตมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงตามนั่นเอง นอกจากนี้การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างต่อเนื่องก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดมลภาวะอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนของเสียหรือขยะกลับมาใช้ใหม่นั้น ทำให้ระบบการผลิตมีความยั่งยืนมากกว่า 

สิ่งสำคัญอีกอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น คือ ความคิดสร้างสรรค์ นั่นก็คือ การที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาจากวัตถุดิบที่เป็นของเสีย ของเหลือทิ้งต่างๆ ตัวอย่างเช่น รองเท้าแตะตราช้างดาวรุ่น ‘KHYA’ (ขยะ) ที่ทำมาจากขยะริมชายหาด 5 กิโลกรัม ซึ่งมียอดจองถล่มทลาย หรือแม้กระทั่งความร่วมมือกันของผู้ประกอบการที่มีการ sharing ของเสียโดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน กลายเป็นการ co-branding  หรือบางครั้งก็เรียกว่า Dual Branding และนำของเหลือทิ้งมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างขึ้นมา อย่าง เช่น บริษัท SCG กับปูนตราเสือ ที่นำของเสียจากกระบวนการผลิต ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็น Eco Bag หรือ กระเป๋ารักษ์โลก ภายใต้ชื่อแบรนด์​ “คิด-จาก-ถุง ที่เป็นที่ฮิอฮาและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก  

ดังนั้นจากคำถามในหัวข้อของบทความนี้ เราจึงสรุปได้ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น หมุนเวียนแล้วได้อะไร เราก็ได้โลกที่สะอาดขึ้น ได้เศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น และได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน และได้ยอดขายที่สูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เหล่านั้นนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*