การประเมินผลพฤติกรรมการกัดกร่อนของโลหะจากเส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve)

>>โดย รุจีภรณ์ นาคขุนทด <<<

ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ

 

          การกัดกร่อน (corrosion) ของโลหะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเพราะเป็นพฤติกรรมธรรมชาติของโลหะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้เกิดความเสียหายได้ทั้งในด้านทรัพย์สิน เศรษฐกิจ ถ้าเราสามารถประเมินความเสียหายจากการกัดกร่อนของโลหะได้ก่อนก็จะช่วยยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การประเมินอัตราการกัดกร่อนของโลหะ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทดสอบการกัดกร่อนโดยการผึ่งในบรรยากาศ การทดสอบความทนละอองน้ำเกลือ การใช้คูปองการกัดกร่อน การทดสอบด้วยเทคนิคเคมีไฟฟ้าโดยประเมินผลการกัดกร่อนจากเส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) ที่ช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

       การทดสอบการกัดกร่อนของโลหะโดยเทคนิคเคมีไฟฟ้า (electrochemical technique) เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยประเมินอัตราการกัดกร่อนได้ดีและเร็ว และเป็นการจำลองการเกิดกระบวนการการกัดกร่อนของโลหะ โดยปกติแล้วการเกิดการกัดกร่อนเป็นปฏิกิริยาทางกายภาพของโลหะกับสภาพแวดล้อมรอบๆ โลหะ ซึ่งเกิดจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าหรือแลกเปลี่ยนอิเล็กตรอนในสารละลายของน้ำ เรียกว่า ปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า (electrochemical reaction) การเกิดปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าของการกัดกร่อนเป็นปฏิกิริยาออกซิเดชันและรีดักชัน เมื่อน้ำหรือสารละลายที่สัมผัสกับโลหะ หลักการของการทดสอบการกัดกร่อนโลหะโดยใช้เทคนิคทางเคมีไฟฟ้า คือการป้อนศักย์ไฟฟ้าเร่งการกัดกร่อน โดยใช้เครื่อง potentiostat/galvanostat ในสภาวะที่มีสารละลายอิเล็กโทรไลต์ ทำหน้าที่เป็นทางเดินของอิออน และเป็นการเชื่อมต่อเซลล์เคมีไฟฟ้า (electrochemical cell) ดังรูปที่ 1 ทำให้เราสามารถคำนวณหาอัตราการกัดกร่อนได้

          เซลล์เคมีไฟฟ้าที่ใช้ในการทดสอบการกัดกร่อนของโลหะประกอบไปด้วย

  • ขั้วทำงาน (working electrode หรือ specimen electrode) เป็นขั้วอาโนด ก็คือชิ้นตัวอย่างทดสอบ เป็นขั้วที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและให้อิเล็กตรอน
  • ขั้วมาตรฐานอ้างอิง (standard reference electrode) เป็นขั้วแคโทด (cathode) ที่เกิดปฏิกิริยารีดักชันและรับอิเล็กตรอน เช่น SCE (saturated calomel electrode) หรือ Ag/AgCl ที่มีค่าศักย์ไฟฟ้าคงที่
  • ขั้วอิเล็กโทรดกระแส (counter electrode) มักจะใช้โลหะที่เสถียร เช่น แพลตินัม หรือ กราไฟต์ หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม
  • สารละลายอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) ซึ่งเป็นทางเดินของอิออน

Microsoft Word - paper-58

รูปที่ 1  เซลล์เคมีไฟฟ้าที่ใช้ในการทดสอบการกัดกร่อน

 

          ค่าที่วัดได้จากการทดสอบ ได้เป็นเส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าศักย์ไฟฟ้าและค่ากระแสไฟฟ้า เมื่อป้อนศักย์ไฟฟ้าจนกระทั่งโลหะเริ่มเกิดการกัดกร่อนเราเรียกว่าค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion potential, Ecorr) ที่จุดนี้ก็จะได้ค่าความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion current density, Icorr) ด้วย ซึ่งนำไปคำนวณหาอัตราการกัดกร่อน แสดงดังรูปที่ 2 ในขณะเดียวกันถ้าโลหะที่มีฟิล์มพาสซีพ (passive film) ที่ทนต่อการกัดกร่อน เช่น เหล็กกล้าไร้สนิม ถ้าป้อนศักย์ไฟฟ้าต่อไปอีกโลหะนั้นสร้างฟิล์มพาสซีพ (passive film) เพื่อป้องการการกัดกร่อนทำให้ค่ากระแสไฟฟ้าคงที่หรือลดลง ในขณะเมื่อที่ป้อนศักย์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนถึงระดับหนึ่งที่ทำให้ค่ากระแสไฟฟ้าเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง  แสดงว่าเกิดการแตกของฟิล์มพาสซีพ (passive film) เป็นรูเข็ม (pitting) นั่นคือค่าศักย์ไฟฟ้าที่เกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม (pitting potential, Ep) และค่ากระแสไฟฟ้าพาสซีพ (passive current density, Ip) แสดงดังรูปที่ 3

Polarization curve_02

รูปที่ 2 เส้นโค้งโพลาไรเซชันสำหรับการกัดกร่อน แบบทั่วผิวหน้าของโลหะ (ASTM G 3)

 

Polarization curve_03

 

รูปที่ 3 เส้นโค้งโพลาไรเซชันสำหรับการกัดกร่อนที่เกิดฟิล์มพาสซีพ (passive film) คลุมทั่วผิวหน้าโลหะ (ASTM G 3)

 

          ลักษณะของเส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) แสดงพฤติกรรมการกัดกร่อนของโลหะมีรายละเอียดดังนี้

  • ค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion potential, Ecorr) เป็นค่าศักย์ไฟฟ้าที่โลหะเริ่มเกิดการกัดกร่อน ซึ่งถ้าโลหะที่มีค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนต่ำจะไวต่อการกัดกร่อนมากกว่าโลหะที่มีค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนสูง
  • ค่าความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion current density, Icorr) เป็นค่าความหนาแน่นกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นที่จุดเกิด Ecorr โดยค่า Icorr แสดงถึงการกัดกร่อนแบบทั่วผิวหน้า (uniform corrosion) และสามารถนำมาคำนวณหาค่าอัตราการกัดกร่อนแบบทั่วผิวหน้าต่อปีของตัวอย่างทดสอบได้ จากสูตรดังนี้

                    อัตราการกัดกร่อน (corrosion rate) =(k x Icorr x EW)/(A x D)

                       –  k คือ ค่าคงที่ของการคำนวณเปลี่ยนหน่วยต่างๆ เช่น มีค่า 13 ถ้าอัตราการกัดกร่อนมีหน่วย มิลต่อปี (mil per year, mpy) หรือมีค่า 0.00327 ถ้าหน่วย มิลลิเมตรต่อปี (millimeter per year, mm/y)

                      –  Icorr คือ ค่าความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion current density) หน่วยเป็นไมโครแอมป์ต่อตารางเซนติเมตร (µA/cm2)

                       –  EW คือ ค่ามวลสมมูล (equivalent Weight) ของโลหะตัวอย่างที่ผ่านการทดสอบ ถ้าโลหะผสมต้องคำนวณตามสัดส่วน

                       –  A คือ พื้นที่ผิวของโลหะตัวอย่าง หน่วยเป็นตารางเซนติเมตร (cm2)

                       –  D คือ ความหนาแน่นของโลหะตัวอย่าง หน่วยเป็น กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (g/cm3)

  • ค่าศักย์ไฟฟ้าขณะที่เกิดฟิล์มที่ผิว (primary passivation potential, Epp) เป็นค่าศักย์ไฟฟ้าที่โลหะเกิดฟิล์มพาสซีพ (passive film) คลุมทั่วผิวหน้าโลหะ ซึ่งมีผลให้เกิดการกัดกร่อนน้อยลง
  • ค่าศักย์ไฟฟ้าที่เกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม (pitting potential, Ep) เป็นค่าศักย์ไฟฟ้าที่โลหะเกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม (pitting) ซึ่งพบในโลหะที่สามารถสร้างฟิล์มพาสซีพ (passive film) ที่ทนต่อการกัดกร่อน เช่น เหล็กกล้าไร้สนิม

 

          ตัวอย่าง เส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) และประเมินผลของการทดสอบแผ่นอะลูมิเนียมในสารละลายกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid, 1N H2SO4) รายละเอียดแสดงดังรูปที่ 4

 

Microsoft Word - paper-58

จากเส้นโค้งโพลาไรเซซัน (polarization curve) ประเมินผลได้ดังนี้

–  ค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion potential, Ecorr) = – 0.142 V

–  ค่าความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้าการกัดกร่อน (corrosion current density, Icorr) =  81 µA/ cm2

ข้อมูลของโลหะตัวอย่าง

–  ค่ามวลสมมูล (equivalent weight) ของอะลูมิเนียม =  99 g.

–  พื้นที่ผิวของโลหะตัวอย่าง =  1 cm2

–  ความหนาแน่นของอะลูมิเนียม =  7 g/cm3

คำนวณหาอัตราการกัดกร่อน (corrosion rate) =(k x Icorr x EW)/(A x D)

–  อัตราการกัดกร่อนของอะลูมิเนียม  =  0.15 mm/y

 

 

รูปที่ 4  เส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) ของการกัดกร่อนของแผ่นอะลูมิเนียมในสารละลายกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid,  1N H2SO4) และอัตราการกัดกร่อนของอะลูมิเนียม

 

          ตัวอย่างเส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) ที่เกิดฟิล์มพาสซีพ (passive film)  และประเมินผลค่าศักย์ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการกัดแบบรูเข็ม จากการทดสอบแผ่นสแตนเลส ทดสอบในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (5%NaCl) แสดงดังรูปที่ 5

Microsoft Word - paper-58

 

 

 

 

จากเส้นโค้งโพลาไรเซซัน (polarization curve) ที่เกิดฟิล์มพาสซีพ (passive film) ประเมินผลได้ดังนี้

ค่าศักย์ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม (pitting potential, Ep) =  0.12 V

 

 

 

 

 

รูปที่ 5  เส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) ของการกัดกร่อนของแผ่นสแตนเลส ในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (5% NaCl) ที่เกิดฟิล์มพาสซีพ (passive film)

 

          ผลการประเมินการกัดกร่อนของโลหะจากเส้นโค้งโพลาไรเซชัน (polarization curve) ถ้าโลหะที่มีค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อน (Ecorr ) ต่ำ จะไวต่อการกัดกร่อนมากกว่าโลหะที่มีค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อน (Ecorr ) สูง และคำนวณหาอัตราการกัดกร่อนของโลหะต่อปีได้จากค่าความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้าการกัดกร่อน (Icorr) ดังนั้นการทดสอบการกัดกร่อนโลหะโดยเทคนิคเคมีไฟฟ้า (electrochemical test) เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถศึกษาพฤติกรรมการกัดกร่อนของโลหะได้ ใช้เวลาน้อย เพื่อช่วยให้การเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับงานหรือสามารถหาวิธีป้องกันการกัดกร่อนได้ดี

 

เอกสารอ้างอิง

การกัดกร่อนและการเลือกใช้วัสดุ โดย รศ. ศิริลักษณ์ นิวิฐจรรยงค์ ภาควิชาเคมีอุตสาหการ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2545

Standard Practice for Convention Applicable to Electrochemical Measurements in Corrosion Testing1, ASTM G 3 – 89 (reapproved 2004)

Standard Practice for Calculation of Corrosion Rate and Related information from Electrochemical Measurements1, ASTM G 102 – 89 (reapproved 2004)E1

คู่มือการใช้เครื่อง Potentiostat/Galvanostat

มลพิษในดิน

>>> โดย  ปฐมสุดา อินทุประภา (กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร)

และ ชลธิชา นิวาสประกฤติ  (ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์) <<<

          มลพิษในดินเกิดจากการปนเปื้อนของสารเคมีและมลพิษต่างๆ ในปริมาณที่สูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งพืช สัตว์ มนุษย์  และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมลพิษในดินทำให้พื้นที่การเกษตรหลายแห่งในหลายประเทศประสบกับปัญหาหน้าดินแตกระแหง ซึ่งเกิดจากหลายหลากสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการเกษตร การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่ผิวดิน การรั่วซึมของสารเคมีจากการฝังกลบขยะ การรั่วไหลของน้ำมันจากยานพาหนะและเครื่องจักรกลการเกษตร การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี และสภาวะฝนกรด ภาวการณ์ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ดินมีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้ดินขาดธาตุอาหารและไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก

          มลพิษในดินที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะส่งผลต่อการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

toxic-waste-2089779_1920ผลกระทบต่อมนุษย์

          สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสารเคมีปนเปื้อนเหล่านี้หากสะสมในร่างกายในปริมาณหนึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างมะเร็งได้ การสัมผัสดินที่มีสารเคมีปนเปื้อนตกค้างอย่างเบนซินและพอลิคลอริเนตไบฟีนีลเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตับได้  ผลกระทบจากมลพิษในดินยังสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ทางอ้อมแม้ว่าเราจะไม่ได้สัมผัสกับดินโดยตรง ซึ่งเกิดจากการใช้ดินที่มีสารเคมีหรือโลหะหนักปนเปื้อนในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร พืชจะดูดซับสารเคมีและโลหะหนักเหล่านั้นมาเก็บไว้ เมื่อเรานำพืชผลทางการเกษตรเหล่านั้นมาบริโภคก็จะทำให้สารเคมีและโลหะหนักเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย สารโลหะหนักส่วนใหญ่ที่พบตกค้างอยู่ในดินและก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ได้แก่ สารตะกั่วและสารปรอท สารสองตัวนี้หากสะสมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตับและไตearthworm-686593_1280-2

ผลกระทบต่อสัตว์  

         สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวเป็นข้อปล้อง (arthropods)  และจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ทำให้วงจรห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย ผู้ผลิตไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ผู้บริโภคในแต่ละลำดับขั้นของห่วงโซ่อาหารขาดแหล่งอาหาร เป็นสาเหตุการตายและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในแต่ละลำดับชั้นของห่วงโซ่อาหารในที่สุด

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

farmland-801817_1920          สารเคมีที่ตกค้างและปนเปื้อนอยู่ในดินนั้น สามารถก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำได้ การเกิดมลพิษทางอากาศจากสารเคมีที่ตกค้างในดินเกิดจากการระเหยตัวของสารประกอบต่างๆ เช่น ก๊าซไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งสารสองชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก  นอกจากนี้การระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์ยังก่อให้เกิดภาวะฝนกรด ซึ่งเมื่อตกลงสู่พื้นดินจะทำให้พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ได้รับผลกระทบทางด้านเคมี มีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก  ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรด้อยคุณภาพลง การเกิดมลพิษทางน้ำจากสารเคมีจำพวกไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่ตกค้างในดิน หากสารสองชนิดนี้มีในปริมาณมากเกินและถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้พืชน้ำขาดออกซิเจนและตายในที่สุด เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศในน้ำ สารปนเปื้อนในดินยังส่งผลให้สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย

          ปัญหามลพิษในดินนั้น เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยดินในการเพาะปลูก มีการคาดการณ์ว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรมนุษย์จะเพิ่มมากขึ้นอีกราว 2 พันล้านคน จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรอย่างน้อยประมาณ 40% ให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น  แต่เนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมแก่การเพาะปลูกนั้นเหลืออยู่ประมาณ 11% บนพื้นผิวโลกเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ดินและหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการเกิดมลพิษทางดิน

แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง Soil Pollution http://www.everythingconnects.org/soil-pollution.html

เทคนิคการสร้าง EQ สำหรับผู้บริหาร

>>> โดย ดร. วรุตม์ ทวีศรี <<<

Boss Man Angry

          หลายต่อหลายปีที่ผู้บริหารระดับสูงอย่าง Chief Executive Officer หรือ CEO ต้องทนกับความกดดันในการบริหารงานและดูแลองค์กรให้พัฒนาก้าวหน้า จนทำให้ผู้บริหารหลายต่อหลายคนกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมโมโboredom1หง่ายหรือขาด Emotional-Intelligence Quotient (EQ) ซึ่งหมายความง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในสภาวการณ์ต่างๆ ผู้บริหารระดับสูงหลายคนรับความกดดันจากภายนอกมา และไม่สามารถทนต่อสภาวะกดดันต่างๆ เหล่านั้นได้ ส่งผลต่อจิตใจของตนเอง ทำให้เกิดความเครียด ความขุ่นมัว หรือความระแวงต่อความล้มเหลวมากเกินไป จนทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองลดต่ำลง ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทนกับอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ของผู้บริหาร จนส่งผลเกิดความเบื่อหน่ายต่อผู้บริหาร และอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานได้ เช่น การขาดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน เนื่องจากเกิดความเบื่อหน่ายในการจะนำเสนอความคิดใหม่ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงที่จะสนทนากับผู้บริหาร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การควบคุมอารมณ์ของผู้บริหารนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบริหารงานอย่างยิ่ง เพราะการมีความรอบรู้ในการบริหารงานแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถจะนำพาองค์กรไปสู่จุดสูงสุดได้หากขาด EQ

          ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจึงควรจะมีการจัดการบริหาร EQ ของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยสร้างความสัมพันธที่ดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกเคารพ และพร้อมที่จะทุ่มกายและใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ สำหรับเทคนิคง่ายๆ ในการเริ่มสร้าง EQ บริหารนั้น สามารถเริ่มต้นทำได้จาก 5 เทคนิค ดังนี้

ให้ความสำคัญกับความรู้สึกผู้อื่น

meeting1         ผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จ ต้องไม่ละเลยที่จะรับรู้หรือเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น การที่มีความเข้าใจ และใส่ใจเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น ก็เพื่อที่จะทำให้อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นของเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน การทำความเข้าใจอารมณ์ของเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา อาจสามารถทำได้โดยการพูดคุย การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การรับฟัง การปลอบโยน ให้กำลังใจ ถึงแม้บางครั้งผู้บริหารอาจจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่การแสดงความเห็นอกเห็นใจนั้น ก็สามารถทำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และมีความเข้มแข็งในการก้าวข้ามปัญหาที่เขาเหล่านั้นกำลังเผชิญไปได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถกลับมาปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยเร็ว

ชมเชยผู้ใต้บังบัญชา

         ผู้บริหารที่ดีจะต้องมองเห็นความดีและความทุ่มเทของผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา หากผู้บริหารเห็น ความดีและความทุ่มเทในการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ทำให้ผลงานออกมาดี ทันต่อเวลา ผู้บริหารที่ดี จะต้องไม่ละเลยที่จะแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการกล่าวชมเชยเป็นคำพูด หรือเขียนอีเมลชมเชยเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง นอกจากนี้การชมเชยของผู้บริหารจะสร้างความรู้สึกภักดีให้กับพวกเขา ทำให้รู้สึกว่าตนได้รับการยกย่อง เชิดชู จึงพร้อมที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเมื่อถูกร้องขอในโอกาสต่อไป

ระมัดระวังอารมณ์ของตนเอง

angryboss1         ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพต้องมีการเฝ้าระมัดระวังอารมณ์ของตนเองหรือมีการควบคุมอารมณ์ของตนอยู่เสมอ โดยต้องตระหนักถึงอารมณ์ของตนเองที่จะไปกระทบกับผู้อื่น ต้องระมัดระวังคำพูด ในขณะที่อารมณ์ของตนเองขุ่นมัว ต้องเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญ การฝึกฝนการเฝ้าระวังอารมณ์อาจสามารถทำได้โดยการหยุดเพื่อจดบันทึกอารมณ์ ความคิดต่างๆ ในสถานการณ์ที่พบเจอ เพื่อที่จะช่วยให้ตนเองไม่ด่วนตัดสินใจกระทำพฤติกรรมในใดๆ ไปอย่างหุนหันพลันแล่น และเพื่อตรวจสอบดูว่า อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของตนเองอย่างไร

การนอนหลับพักผ่อน

          การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอทำให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนไปด้วย และการที่สมองได้รับ การพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้สมองได้รับการรีชาร์จ (recharge) ทำให้มีการจัดเรียงข้อมูลที่รับมาในแต่ละวัน ความทรงจำที่ดีมีประโยชน์ก็จะถูกเก็บไว้ในพื้นที่ที่สามารถเรียกใช้ต่อไป ส่วนที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ก็จะถูกสมองจัดเก็บไว้ในส่วนลึก และในที่สุดก็จะกลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำ และเมื่อสมองได้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นแล้ว เราก็จะตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น ไม่ขุ่นมัว พร้อมที่จะปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารหลายคนประสบปัญหาการพักผ่อนไม่เพียงพอ หลับไม่สนิทหรือไม่เต็มที่ ทำให้สมองไม่ได้รับการรีชาร์จ เมื่อตื่นนอนมาจึงไม่รู้สึกสดชื่น และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อพอเจอปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ  ที่เพิ่ม เข้ามาในแต่ละวัน

เลิกคิดและพูดในเชิงลบ

          การเลิกคิดและเลิกพูดในเชิงลบถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา EQ ของผู้บริหาร เพราะยิ่งผู้บริหารมีความคิดในเชิงลบมากเท่าใด พฤติกรรมการแสดงออกหรือคำพูดที่ออกมาก็จะเป็นไปในเชิงลบในลักษณะของอคติ มากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงควรหมั่นฝึกฝนตนเองโดยการควบคุมความคิดในเชิงลบด้วยการหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจทำได้โดยการหยุดการกระทำต่างๆ ไว้ก่อนหากตนเองเริ่มเกิดความคิดในเชิงลบกับสิ่งต่างๆ จากนั้นจึงเขียนบันทึกความคิดต่างๆ เหล่านั้นเอาไว้ เพื่อที่จะชะลอตนเองไม่กระทำพฤติกรรมในเชิงลบออกไปก่อนที่จะไตร่ตรองอย่างรอบคอบ จากนั้นอ่านทบทวนสิ่งที่ตนเองบันทึกไว้ และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงแค่ทัศนคติในเชิงลบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ หากมีการสื่อออกมา

          เทคนิคทั้ง 5 ข้อที่นำเสนอมานี้ เป็นเพียงเทคนิคในการเริ่มต้นของการสร้าง EQ ของผู้บริหาร ซึ่งคนทั่วไปก็อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง

แปลและเรียบเรียงจาก Why Your Boss Lacks Emotional Intelligence จากนิตยสาร Forbes โดย Travis Bradberry

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด

>> เรียบเรียง โดย นพวรรณ  หาแก้ว <<<

 

 

          ในทางการเกษตรเห็ดจัดเป็นอาหารประเภทผักชนิดหนึ่ง  แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น เห็ดจัดเป็นราชนิดหนึ่ง  เห็ดมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง  เนื่องจากมีโปรตีนกากใยอาหารสูง  ปราศจากไขมัน  ปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ  รวมทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิดรวมทั้งวิตามินบีรวม  และสารไนอาซิน ซึ่งช่วยควบคุมระบบย่อยอาหาร  นอกจากนี้อะมิโนหลายชนิดในเห็ดทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นประสาทการรับรู้รสอาหารของลิ้นให้ไวกว่าปกติ ดังนั้นเห็ดจึงจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของมนุษย์มีคุณสมบัติเป็นยาป้องกันและรักษาโรค  นอกจากนี้เห็ดบางชนิดยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อความงามด้วยตัวอย่างประโยชน์ของเห็ดทางการแพทย์  เช่น  เห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า  สามารถช่วยป้องกันโรคหวัดและช่วยการไหลเวียนเลือด  เห็ดเข็มทองช่วยบำรุงตับกระเพาะและลำไล้  เห็ดหอมช่วยลดไขมันในเสนเลือด  เพิ่มภูมิคุ้มกัน  บำรุงกระดูกและฟัน  เห็ดฟางมีวิตามินสูง  ช่วยลดความดัน  และช่วยเร่งสมานแผล  เห็ดหลินจือที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ  ช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  เห็ดเข็มทองช่วยบำรุงตับ กระเพาะและลำไส้  และเห็ดหูหนูที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน  รักษาโรคกระเพาะและริดสีดวง  เป็นต้น

          ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของเห็ด  จึงได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการดำเนินวิจัยและพัฒนาเห็ดของ วว. นั้นประกอบด้วยการวิจัยหลักๆ ทั้งสิ้น 4 สาขาคือ เทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยว (preharvest)  เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (postharvest)  การวิจัยและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเห็ด (R&D product)  และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transferring, consultancy and training services)  หนึ่งในงานที่ประสบผลสำเร็จของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรกับการวิจัยด้านเห็ดทางด้านเทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยวคือ การพัฒนาสายพันธุ์เห็ดยานางิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นเห็ดเมืองหนาว  ให้สามารถเพาะได้ในพื้นที่ราบหรือภาคกลางได้ โดยดั้งเดิมนั้นเห็ดสายพันธุ์นี้สามารถเปิดดอกในที่อุณหภูมิต่ำเท่านั้น  หรือเพาะได้เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย    ส่งผลให้ผลิตผลของเห็ดดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการตลอดทั้งปี    ซึ่ง ดร.ธนภักษ์ อินยอด และคณะ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดเมืองหนาว สำหรับกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้คือ การกระตุ้นให้เห็ดยานางิสายพันธุ์เดิมนั้นเกิดการกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา  โดยเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการคือ เห็ดยานางิที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนเดิมทุกประการ  แต่สามารถเพาะในพื้นที่ราบซึ่งมีอุณหภูมิสูงได้  จากการวิจัยและพัฒนานี้ทำให้สามารถได้เห็ดยานางิสายพันธุ์ที่สามารถเปิดดอกในที่อุณหภูมิสูงได้ทั้งหมด 5 สายพันธุ์  จึงนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ วว. อีกครั้งหนึ่ง

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การเปิดดอกเพื่อทดสอบสายพันธุ์เห็ดเทียบกับสายพันธุ์ควบคุม

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่น ด้วยรังสีแกมมาเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบ

          นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรได้จัดงานสัมมนาวิชาการภายในขึ้น โดยมีนักวิจัยในฝ่ายมาแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรกันอย่างหลากหลาย ดร.คนึงนิจ บุศราคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บรรยาย ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มดำเนินงานวิจัยทางด้านเห็ดขอวง วว. ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512   โดยแต่เดิมนั้น ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรมีศูนย์ประสานงานเกษตรที่สูงที่รับผิดชอบในการนำเข้าเห็ดเมืองหนาวเข้ามาเพาะในพื้นที่ภาคเหนือของไทย  ซึ่งเห็ดที่นำเข้ามาเพาะได้แก่ เห็ดหอม  เห็ดกระดุม  เห็ดภูฐาน  เห็ดเข็มทอง  เห็ดเป๋าฮื้อ  และเห็ดยานางิ  โดยระหว่าง พ.ศ. 2512-2540 ซึ่งเป็นระยะแรกของการดำเนินงานด้านเห็ดนั้น วว. มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการและการพัฒนาวัสดุปลูกให้เหมาะสมต่อเห็ดแต่ละชนิดเพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้บนพื้นที่ภาคเหนือของไทย การศึกษาและทดลองในระยะนั้น ทำให้ วว. มีพันธมิตรในการทำวิจัยหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือหน่วยงานราชการอย่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กรมอนามัย  กรมวิชาการเกษตร  กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท สหฟาร์มเห็ด  สวนเห็ดบ้านอรัญญิก  และบริษัทปิยะพรเทคโนโลยีจำกัด เป็นต้น

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
เห็ดเมืองหนาว ที่นำเข้ามาผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีต

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นระยะที่สองของการดำเนินงาน  แนวทางในการวิจัยของ วว. ได้ปรับเน้นไปทางด้านการศึกษาสารสำคัญของเห็ดชนิดต่างๆ ในการป้องกันรักษาโรค  ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเห็ดเศรษฐกิจอย่างครบวงจรและยั่งยืน  โดยในปี พ.ศ. 2548- 2550 วว. มีโครงการบูรณาการด้านวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าเห็ดเศรษฐกิจอย่างครบวงจรและยั่งยืน และในปีพ.ศ. 2557-2559 ได้ดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงโรคเกาต์  ต่อมา วว. ได้เริ่มทำการวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดเมืองหนาว อันได้แก่ เห็ดหอม  เห็ดยานางิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถเพาะปลูกในบริเวณภาคกลางหรือพื้นที่ราบได้ โดยในปี พ.ศ. 2556-2558 ได้เริ่มดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดและระบบการผลิตเห็ดเมืองหนาวในพื้นราบเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกเห็ดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร  ในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562  วว. ได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดพื้นบ้านแบบธรรมชาติในป่าชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน และในปีพ.ศ. 2561-2562 ยังริเริ่มโครงการเทคโนโลยีการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นแบบอินทรีย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศขึ้นอีก

วว. กับการวิจัยด้านเห็ด
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดพื้นบ้านแบบธรรมชาติในป่าชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน

          ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ดร.ตันติมา กำลัง และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเห็ดเพื่อลดความเสี่ยงโรคเกาต์  เนื่องจากองค์ประกอบหลักของเห็ดคือ สารเบต้ากลูแคน (b-glucan) ซึ่งเป็นสารพอลิแซคคาไรด์ (polysaccharide) ที่ลดการอักเสบ  โดยงานวิจัยนี้จะเป็นการพัฒนาเห็ดที่มีสารเบต้ากลูแคนให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการบริโภค  นอกจากนี้ ดร.ตันติมา และคณะ ยังการพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ถังหมัก (fermenter) เพื่อลดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้ผลิตสารดังกล่าวในระยะเวลาที่สั้นลง

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเพื่อลดความเสี่ยงโรคเกาต์

 

          สำหรับงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว  ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกับศูนย์บรรจุหีบห่อไทย วว. ได้ทำการศึกษาและพัฒนาการใช้กล่อง รวมทั้งศึกษาชนิดของพลาสติกต่างๆ ในตลาด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของเห็ดสดหลังจากการเก็บเกี่ยว  ซึ่งปกติแล้วการเสื่อมคุณภาพของเห็ดนั้น เกิดจากการทำงานของเอนไซม์กลุ่มพอลิฟีนอลออกซิเดส (polyphenol oxidase, PPOs) และเพอร์ออกซิเดส (peroxidase)  ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในสภาวะที่มีออกซิเจน (aerobic oxidation) ของสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) เกิดเป็นสารควิโนน (quinone)  ที่มีสีน้ำตาล  ซึ่งทำให้เห็ดกลายเป็นสีน้ำตาล (browning) นั่นเอง   ซึ่งการกลายเป็นสีน้ำตาลนั้น ทำให้เห็ดเสียราคา  และเก็บรักษาได้ไม่นาน

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
ศึกษาและพัฒนาการใช้กล่อง รวมทั้งศึกษาชนิดของพลาสติกต่างๆ ในตลาด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของเห็ดสดหลังจากการเก็บเกี่ยว

          ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริการที่ปรึกษา รวมถึงการฝึกอบรม  ทางฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรได้ทำการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร  กลุ่มแม่บ้าน และชุมชนต่างๆ มากมาย  เช่น การให้คำปรึกษากระบวนการผลิตเห็ดตามมาตรฐาน GMP โดยผู้รับการถ่ายทอด คือ พี.เจ. ฟาร์ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  การถ่ายทอดการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาเห็นล้นตลาด เช่น ข้าวเกรียบเห็ด  แหนมเห็ด เป็นต้น โดยผู้รับการถ่ายทอดคือ สวนเห็ดกรรณิการและผลิตภัณฑ์แสนสมัย  การอบรมการเพาะเห็ดตีนแรด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งมีผู้เข้าอบรมคือ เกษตรกร จ.ยโสธร  และการอบรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีเกษตรกรผู้สนใจผู้เข้ารับการอบรม ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

การให้คำปรึกษากระบวนการผลิตเห็ดตามมาตรฐาน GMP ผู้รับการถ่ายทอด คือ พี.เจ. ฟาร์ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

 

วว. กับงานวิจัยทางด้านเห็ด
การถ่ายทอดการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาเห็นล้นตลาด ผู้รับการถ่ายทอดคือ สวนเห็ดกรรณิการและผลิตภัณฑ์แสนสมัย

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การอบรมการเพาะเห็ดตีนแรด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ผู้เข้าอบรมคือ เกษตรกร จ.ยโสธร

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การอบรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีเกษตรกรผู้สนใจผู้เข้ารับการอบรม ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

          งานวิจัยและพัฒนาด้านเห็ดของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. นั้น นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

——————————————————

โดย วรวิทย์ อินทร์กง กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ในปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัลความต้องการในการใช้กระดาษและงานพิมพ์ได้ลดลงมาก หนังสือ นิตยสาร และสำนักพิมพ์ต่างๆ ทยอยปิดตัวลง เนื่องจากความนิยมในการอ่านของผู้อ่านเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะ e-book, e-journal, e-magazine ได้เข้ามาแทนที่ แต่อย่างไรก็ตาม กระดาษและงานพิมพ์ก็ยังไม่ถึงกับสูญหายไปเสียทีเดียว เนื่องจากความต้องการในการพิมพ์งานจิปาถะต่างๆ ยังคงมีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การพิมพ์นามบัตร การพิมพ์บัตรเชิญ การพิมพ์รายงานสำหรับนักเรียน นักศึกษา การพิมพ์รายงานสำหรับนักวิจัย การพิมพ์โปสเตอร์สำหรับการนำเสนองานในการประชุมและงานโฆษณา เป็นต้น  ดังนั้น เราจึงควรมีความรู้ในเรื่องของการเลือกกระดาษที่เหมาะกับงานพิมพ์ เพื่อให้งานของเราออกมาดีและสวยงามยิ่งขึ้น  pa1

หลักการพื้นฐานในการเลือกกระดาษให้เหมาะกับบงานพิมพ์มี 4 สิ่งที่ต้องคำนึง คือ

  1. ความสว่างของกระดาษ (brightness) ในที่นี้หมายถึงความขาวสว่างของกระดาษ ซึ่งยิ่งกระดาษมีความขาวสว่างมากเท่าใด ก็จะทำให้เกิดมิติและความเข้มของสีมากขึ้นเท่านั้น ทำให้สีสันของงานพิมพ์ออกมาสวยงามชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน
  2. ความทึบแสงของกระดาษ (opacity) ความทึบแสงของกระดาษสามารถสังเกตได้จากการที่เราชูกระดาษขึ้นให้แสงส่องผ่าน แล้วเราสามารถมองเห็นสิ่งที่ถูกเขียนหรือถูกพิมพ์ไว้ในอีกด้านหนึ่งของกระดาษ ซึ่งหากเรามองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของกระดาษได้ชัดเจน ก็แสดงว่ากระดาษชนิดนั้น ไม่เหมาะสำหรับงานพิมพ์สองด้าน (double-sided printing)  ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หากกระดาษพิมพ์คุณภาพดีจะมีความทึบแสงสูง ทำให้เหมาะกับงานพิมพ์หลากหลายประเภท และสามารถพิมพ์ได้ทั้งสองด้านpa2
  3. น้ำหนักกระดาษ (weight) ซึ่งบ่งบอกถึงความหนา ความบางของกระดาษ และเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของกระดาษ เพราะหากกระดาษมีน้ำหนักมาก ย่อมมีหนามากและมีความทึบแสงมากขึ้น ดังนั้นการเลือกกระดาษที่มีน้ำหนักมาก ความสูง จะทำให้งานพิมพ์ที่ออกมาดูดี มีคุณค่าและดูมีราคา กว่าการเลือกใช้กระดาษที่มีความบางและโปร่งแสง
  4. เนื้อกระดาษ (texture) หมายถึง พื้นผิวหรือความเรียบของเนื้อกระดาษ ซึ่งเนื้อกระดาษมีความสำคัญมากในการพิมพ์ เนื่องจากส่งผลต่อการกระจายตัวของหมึกพิมพ์ ซึ่งหากเลิกใช้เครื่องพิมพ์ inkjet และ laser เราควรเลือกใช้กระดาษที่มีความเรียบมากกว่ากระดาษที่มีพื้นผิวขรุขระpa3

จากหลักการพื้นฐานในการเลือกกระดาษทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า การเลือกกระดาษที่เหมาะสมกับงานพิมพ์แต่ละชนิดจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพงานพิมพ์ที่ผลิตออกมา ผลงานออกแบบต่างๆ ที่ดูสวยงามจอคอมพิวเตอร์จะถูกลดความสวยงามลงไปในทันที หากผู้ผลิตไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกกระดาษในเหมาะสมกับออกแบบนั้นๆ

เอกสารอ้างอิง                                                                                                                                   

ไม่ปรากฏผู้แต่ง .2559. Printing Basics: How to Choose the Right Kind of Paper. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: http://www.computershopper.com/feature/printing-basics-how-to-choose-the-right-kind-of-paper/(page)/2, [เข้าถึงเมื่อ 9 กันยายน 2559].

วว. กับงานด้านการเก็บรักษาและอนุรักษ์เห็ด

>>> บรรยาย โดย ลาวัลย์ ชตานนท์

>>> เรียบเรียง โดย นพวรรณ หาแก้ว

 

การวัดและประเมินผลการ

       ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) รับผิดชอบงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่าย ผลิต และเก็บรักษาเชื้อจุลินทรีย์  และยังได้ร่วมในโครงการ การเก็บรวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดในประเทศไทย โดยทำการแยกเชื้อเห็ดและเก็บเชื้อพันธุ์ด้วยวิธีเก็บในเมล็ดข้าวฟ่างไว้ที่อุณหภูมิเยือกแข็ง ซึ่งในการร่วมโครงการนี้คุณลาวัลย์ ชตานนท์ นักวิจัยจากฝ่ายชีวภาพ ได้กล่าวถึงวิธีการ พร้อมทั้งแนวทางการเก็บรักษาและการอนุรักษ์เห็ดในลักษณะโครงสร้างที่แห้ง (Herbarium) รวมไปถึงเชื้อพันธุ์ในด้านพันธุกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  คุณลาวัลย์แสดงความเห็นว่า การอนุรักษ์เห็ดในลักษณะโครงสร้างที่แห้งหรือ herbarium นั้น มีการจัดการดูแลในลักษณะพิพิธภัณฑ์ เช่นที่ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือในลักษณะเชื้อพันธุ์เห็ด ก็มีการจัดการดูแลรักษาในรูปแบบของศูนย์เก็บรวบรวมเห็ดในประเทศไทย ที่กรมวิชาการเกษตร ในส่วนของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนั้น ทางศูนย์จุลินทรีย์  โดยฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการอนุรักษ์สายพันธุ์เห็ดพื้นเมืองภาคอีสานกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำ herbarium ของเห็ดพื้นเมืองภาคอีสานมาเก็บไว้ที่ศูนย์จุลินทรีย์ วว. เพื่อเป็นคลังสำรองให้แก่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นอกจากนี้ศูนย์จุลินทรีย์ วว. ยังมีความพร้อมในการรับเก็บรักษาเชื้อพันธุ์เห็ดที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในเมล็ดข้าวฟ่าง จากนั้นจึงนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิเยือกแข็งเพื่อใช้เป็นคลังสำรองและ เพื่อความปลอดภัยของเชื้อพันธุ์เห็ดในอนาคต

         สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการเก็บรักษาเห็ดนั้น คุณลาวัลย์ ได้กล่าวไว้ 2 ประการ คือ

  1. เพื่อคงโครงสร้างธรรมชาติ โดยมีวิธีการเก็บรักษา คือ การดอง การตากแห้ง และการอบ

วิธีการดอง

การวัดและประเมินผลการ

 

 

 

 

 

 

สูตรน้ำยาดองเห็ด น้ำยาฟอร์มาลิน (เข้มข้น) 40 มิลลิลิตร เอทิลแอลกอฮอล์ ( 95 %) 300 มิลลิลิตร น้ำกลั่น 2000 มิลลิลิตร

วิธีตากแห้ง

การวัดและประเมินผลการ

 

 

 

 

 

ตากแดด 1-3 วัน

วิธีการอบ

การวัดและประเมินผลการ

 

 

 

 

 

 

อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 1-3 วัน และเก็บใส่ภาชนะให้มิดชิด

การเก็บรักษาตัวอย่างเห็ดลักษณะแห้งหรือ herbarium

  • เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้เก็บรักษาที่ถาวร
  • ใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิง ศึกษารายละเอียด และการเปรียบเทียบ
  • ห้องเก็บ herbarium ควรรมด้วยด่างทับทิมและฟอร์มาลิน และวางลูกเหม็นตามชั้นตัวอย่างเห็ด เพื่อป้องกันแมลงมารบกวน

 

  1. เพื่อรักษาพันธุกรรม

โดยใช้วิธีการแยกเชื้อพันธุ์จากดอกเห็ด สามารถทำได้  2 วิธี คือ

การวัดและประเมินผลการ

 

 

 

 

 

 

  1. การทำรอยพิมพ์สปอร์ (spore print ) เลือกดอกเห็ดที่โตเต็มที่ผลิตสปอร์สามารถที่จะ

พิมพ์รอยได้

การวัดและประเมินผลการ

 

 

 

 

 

 

  1. การแยกเชื้อบริสุทธิ์จากดอกเห็ด เลือกดอกเห็ดที่เจริญเต็มที่ โดยการเขี่ยเนื้อเยื่อ

นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์หลักๆ 2 ข้อ ข้างต้น คุณลาวัลย์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า การเก็บ รักษาเชื้อพันธุ์เห็ดนั้น ยังมีประโยชน์สำหรับผู้ค้นพบ ศึกษา เก็บไว้กับตนเอง และสำหรับหน่วยงาน เก็บเพื่อความปลอดภัย ฝากเก็บไว้กับสถานที่สำรอง

 

          สำหรับในส่วนของโครงการที่ วว.  ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในเรื่อง การจัดตั้งคลังเก็บรักษาสายพันธุ์เห็ดพื้นเมืองอีสานสำรอง (back-up ) ของพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เป็นระยะเวลา 5 ปี  (ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2554 ถึง กุมภาพันธ์ 2559)นั้น ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการส่งตัวอย่างเห็ด : อบแห้ง จำนวนแต่ละชนิด : 3 ตัวอย่าง/ชนิด โดย วว. มีจำนวนตัวอย่างเห็ดที่รับเก็บรักษา ระยะเวลา 5 ปี จำนวน 7 ครั้ง รวมทั้งสิ้น  1,188 ชนิด 3,564 ตัวอย่าง

 รายการต่อไปนี้คือ ชื่อสกุลเห็ดจำนวน 10 ลำดับ ที่ วว.นำมาเก็บรักษา

mushroom-7

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          จำนวนเห็ดที่เก็บรักษารวมทั้งสิ้น 1,188 ชนิด  ในจำนวนชื่อสกุลเห็ด 10 ลำดับข้างต้น มีจำนวนทั้งหมด 589 ชนิด  นอกจากนั้นยังเหลือเห็ดชนิดอื่นๆ อีกจำนวน 599 ชนิด

       ก่อนที่จะจากกันคุณลาวัลย์ ยังได้ฝากเรื่องการอนุรักษ์เห็ดเอาไว้ เพื่อให้เห็ดสามารถเกิดขึ้นและเจริญเติบโตยังประโยชน์ให้แก่ธรรมชาติ และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งแนวทางการอนุรักษ์เห็ดพื้นบ้านในชุมชน  ที่คุณลาวัลย์ฝากไว้มี 4 แนวทางหลักๆ  คือ

แนวทางที่ 1 การให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเห็ด ว่าเห็ดเป็นฐานอาหาร ความสัมพันธ์ของเห็ดพื้นบ้านและป่าแต่ละชนิด รวมถึงการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

แนวทางที่ 2 การปลูกป่าเพิ่มทุกปี ป่าเป็นที่อยู่อาศัยของเห็ด เมื่อป่าเพิ่มเห็ดจะเพิ่มตามมา ป่าใดเห็ดน้อยก็ส่งเสริมให้นำไปปลูกเพิ่มให้มีจำนวนมากขึ้น

แนวทางที่ 3 ส่งเสริมอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่าและไม่เผาทำลายป่า เป็นการสร้างจิตสำนึกและรักษาระบบนิเวศน์ หากป่าคงความอุดมสมบูรณ์ เห็ดก็ยังคงอยู่ให้เป็นอาหารสืบไป

แนวทางที่ 4 การเก็บเห็ดให้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มการแพร่และการกระจายพันธุ์  โดยเก็บพอรับประทาน  เก็บในระยะที่เหมาะต่อการบริโภค เห็ดที่แก่แล้วไม่ต้องเก็บให้เหลือดอกไว้เป็นเชื้อพันธุ์ในพื้นที่ต่อไป

 วว. กับการสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพลังงานทดแทน

>>>>> โดย  วัชรีวรรณ ทรัพย์รุ่งเรือง <<<<<

15676352_10154973150273938_3643245635217486564_o (1)

 

          ในการเสวนา “วว….สืบสานงานพ่อ” ณ วว.เทคโนธานี คลองห้า เมื่อปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาดร.ธีรภัทร ศรีนรคุตร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้เล่าให้ชาว วว. ฟังว่า วว. ได้เริ่มดำเนินการโครงการเอทานอล ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพลังงานทดแทน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นปีที่ท่านผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้เริ่มเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งวิศวกร ท่านได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชดำริว่าวิกฤตด้านพลังงานกระทบกับชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง จะเห็นจากการเกิดวิกฤตพลังงานนับตั้งแต่ปี 2516 ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากสงคราม และต่อมาในปี 2523 ก็เกิดวิกฤตพลังงานขึ้น โดยประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ มีเนื้อเพียงแค่ที่ราวๆ 1 % ของโลกใบนี้ กลับต้องนำเข้าน้ำมันเป็นมูลค่านับล้านล้านบาท แต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าประเทศไทยเราตั้งอยู่บนแผ่นดินสุวรรณภูมิซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารมากมาย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้นำเอาพืชผลทางเกษตรที่มีอยู่มาผลิตเป็นพลังงานทดแทนการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลเกิดจากการทับถมของซากพืช ซากสัตว์ใช้เวลาเป็นล้านๆ ปี มาทำทดแทนน้ำมัน โดยไม่ต้องใช้เวลาเป็นล้านล้านปีเพื่อที่จะรอน้ำมัน

          วว. จึงได้คิดโครงการสนองแนวพระราชดำริดังกล่าว ด้วยการนำเอาพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลัง  และอ้อย มาผลิตเป็นเอทานอลใช้ทดแทนน้ำมัน โดยเริ่มทำโครงการวิจัยและพัฒนานี้ ตั้งแต่ปี 2522  ต่อมาในปี 2524 จึงเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบ และเริ่มทดลองผลิตในปี 2526 จากนั้นจึงเริ่มทดลองตลาดครั้งแรกในปี 2528 ด้วยการเอาเอทานอลผสมน้ำมันเบนซินได้เป็นแก๊สโซฮอล์ (สมัยนั้นเรียก เบนโซฮอล์ หรือน้ำมันเบนซินพิเศษ) สุดท้ายเมื่อประสบความสำเร็จเราก็เสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไป 4 ครั้ง แต่เนื่องจากสมัยก่อนราคาน้ำมันอาจจะไม่แพงมาก ทำเป็นเชิงพาณิชย์อาจจะไม่คุ้ม ทำให้โครงการหยุดชะงัก

          จนกระทั่งในปี 2540 หลังจาก ดร.ธีรภัทร สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกกลับจากต่างประเทศ จึงเริ่มเสนอโครงการฯ ในระดับนโยบายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี จึงได้ตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา โดย วว. สนับสนุนข้อมูลด้านเทคนิค และให้มีการไปศึกษาดูงานที่ประเทศบราซิล เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่มีการใช้เอทานอลเป็นเชิงพาณิชย์ โดยยึดหลักการที่ว่า เมื่อเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ จากนั้นก็เริ่มทำการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ผ่านสื่อโทรทัศน์ครั้งแรกในรายการท้าพิสูจน์ หัวข้อ “มันสำปะหลังนำมาทำน้ำมันได้จริงหรือ” ซึ่ง ดร.ธีรภัทร ได้ร่วมรายการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเอทนอล

          ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำเรื่องเอทานอลเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งครม. มีมติให้สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เอทานอลในเชิงพาณิชย์ จากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นได้ขอให้ย้ายโครงการฯ นี้ ไปอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป็น “คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ” โดย ดร.ธีรภัทร ได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำเนินการเรื่องนโยบาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของการผลิตเอทานอลเชิงพาณิชย์ และในปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอล 22 โรงงาน ผลิตเอทานอลได้วันละประมาณ 4 ล้านลิตร

15540914_10154973150638938_5038547393470841823_o (1)          อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนแล้ว ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่เชื่อว่าเอทานอลสามารถนำมาทดแทนน้ำมันได้จริง ดร.ธีรภัทร ได้ประสานความร่วมมือกับ ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณให้ วว. มา 7 แสนบาท สำหรับซ่อมแซมโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลของ วว. ที่บางเขน เพื่อให้ผลิตเอทานอลส่งให้บางจากนำไปทดลองตลาดระหว่างปีพ.ศ. 2544 – 2546 และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ จึงได้ขอความร่วมมือทดลองใช้แก๊สโซฮอล์กับรถยนต์ของทางราชการก่อน

              ดร.ธีรภัทร กล่าวว่า “การใช้เอทานอล หรือแก๊สโซฮอล์ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี วว. ที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการดำเนินโครงการเอทานอลสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดชีวิตการทำงานได้ทำงานในโครงการเอทานอลประมาณเกือบ 50 โครงการ และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถึง 4 ครั้ง แต่ครั้งที่ภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิตคือ ครั้งที่ได้ทูลเกล้าถวายหนังสือเฉลิมพระเกียรติ พลังงานทดแทนเอทานอลไบโอดีเซล เล่มนี้ถือเป็นคัมภีร์เล่มแรกสำหรับเอทานอลในเมืองไทย”

          โครงการเอทานอลของ วว. ถือเป็นความภาคภูมิใจของ วว. เป็นอย่างมาก ที่ได้สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่อง การลดการนำเข้าพลังงาน และช่วยเหลือเกษตรกรหลาย 10 ล้านครัวเรือน และช่วยประเทศไทยมีพลังงานสะอาดใช้ อย่างยั่งยืน

—————————————————————————-

เตาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานฟรี จากค่ายเยาวชนสะแกราช

>>>>> โดย วัชรีวรรณ ทรัพย์รุ่งเรือง <<<<<

          “ไข่ต้มพลังงานแสงอาทิตย์ของเด็กๆ พร้อมทานแล้วค่ะ”

           ไม่น่าเชื่อว่า เพียงระยะเวลาแค่ 3 – 4 ชั่วโมง กับแสงแดดจ้าในฤดูร้อนกลางป่าดิบแล้งสะแกราช จะทำให้เยาวชนสมาชิกค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์ ของ วว. ได้รับประทานไข่ไก่ที่สุกทั่วถึงกัน

          เราได้ให้น้องๆ เยาวชนทำการทดลอง ประดิษฐ์เตาพลังงานแสงอาทิตย์ เลียบแบบตามหลักการทำเตาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล่อง (Solar Box Cooker) ของมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ด้วยหลักการง่ายๆ อันได้แก่ การใช้พื้นผิวโลหะที่รองรับและสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ และเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน ก่อนที่จะถ่ายเทไปสู่พื้นผิวภาชนะที่รองรับอาหารที่ต้องการปรุงให้สุก

image001image003

 

          ด้วยหลักการดังนี้ จะได้ เตาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล่อง (Solar Box Cooker) ที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ภายในกล่องสี่เหลี่ยมมีผนัง 4 ด้าน และพื้น 1 ด้านที่เป็นฉนวนกันความร้อนที่สามารถกักเก็บความร้อน ส่วนด้านบนของกล่องปิดด้วยกระจกใส เมื่อแสงแดดส่องผ่านกระจกเข้าไปในกล่อง จะถูกดูดซับไว้ด้วย แผ่นรองรับแสงสีดำและภาชนะใส่อาหารสีดำ พลังงานแสงที่ถูกดูดซับเอาไว้จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนสะสมอยู่ภายในกล่อง

       น้องๆ เยาวชน แบ่งกลุ่มกันออกไปเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มช่วยกันสร้างเตาเลียนแบบเตาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล่อง (Solar Box Cooker) ด้วยหลักการเดียวกัน จากวัสดุ อุปกรณ์ที่พอหาได้ ได้แก่ ลังกระดาษ A4 กระดาษอะลูมิเนียมฟอยล์ ปกเอกสารแผ่นใส กระดาษโปสเตอร์สีดำ กรรไกร คัตเตอร์ แลกซิน ฯลฯ

         จากการสังเกตการณ์ของทีมงาน และพี่เลี้ยง พบว่าเยาวชนทุกคนตื่นเต้นมาก และร่วมมือร่วมใจช่วยกันประดิษฐ์เตาพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอย่างดี หลายกลุ่มทำได้เหนือความคาดหมายว่าเยาวชนชั้นประถมศึกษาตอนปลายจะสามารถทำได้ น้องๆ ใช้หลักการสังเกต พยายามประดิษฐ์เลียนแบบเตาต้นแบบให้ใกล้เคียงได้มากที่สุด มีการใช้หลักการดูดซับแสง-โดยใช้กระดาษสีดำ หลักการสะท้อนของแสง-ใช้อะลูมิ
เนียมฟอยล์ หลักการกักเก็บความร้อน-ใช้แผ่นใสปิดหน้ากล่อง จนทำให้หลายกลุ่มประสบความสำเร็จในการทำไข่ให้สุก

 

image008image004image006

 

          กิจกรรมนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เยาวชนชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่น้องๆ ได้ลงมือทำเอง ประดิษฐ์สิ่งของ และทำการทดลองเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) ด้วยตัวเอง สร้างความรู้ (knowledge) ความภาคภูมิใจ (proudly) ให้กับเยาวชน และยังก่อให้เกิดความตระหนัก (awareness) ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้เยาวชนมีทัศนคติ (attitude) ที่ดีต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อโลกที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

แรงบันดาลใจจากหลักการทรงงาน และพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9

ดุรงค์ฤทธิ์ สุดสงวน

กองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้

k0

     ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 สิ่งที่พสกนิกรชาวไทยรู้สึกเสียใจมากที่สุด คือ การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต สิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือ ถวายความอาลัย และทำกิจกรรมตามพระราชปณิธานของพระองค์ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน สิ่งที่ได้เห็นคือ ท่านทรงงานและมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน เช่น โครงการพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ฝนหลวง และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนมีประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทย จนหาที่สุดมิได้ ยากที่จะอธิบายได้หมด ในส่วนของงานศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งที่พระองค์มีพระอัจฉริยภาพมาก เป็นแรงบันดาลใจให้รำลึกถึงท่านตลอดกาล

     วันที่ 9 ธันวาคม วิทยาลัยช่างศิลปะเปิดงานนิทรรศการศิลปกรรมในหัวข้อ แรงบันดาลใจจากหลักการทรงงาน และพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9  จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ถือเป็นกรณีศึกษาที่มีมุมมองในส่วนของความร่วมมือ ร่วมใจกันในการถวายความอาลัย แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำแต่ก็สูงค่าทางจิตใจเพราะได้ลงมือทำภาพในหลวง กว่า 200 ภาพ     ปรากฏสู่สายตามประชาชน

     ผลงานที่ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์ คือ “ใจ” แห่งความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

     การดำเนินงานผ่านการเตรียมงานอย่างละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่การเขียนโครงการของงาน ผลที่ได้รับ และการนำไปต่อยอด

     ประธานในการจัดงาน คือ อาจารย์ศักดิ์ชาย บุญอินทร์ ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

การเขียนโครงการ

     มีหลักการและเหตุผล กล่าวคือ 70 ปี ที่ในหลวงทรงงาน มีพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกร ปกครองแผ่นดิน โดยใช้ทศพิธราชธรรม ซึ่งประชาชนชาวไทยได้เห็นประจักษ์ พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา การถ่ายภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถสร้างแรงบันดาลในในการดำเนินชิวิต เป็นแนวทางทั้งด้านหลักคิด
k1

     ตัวอย่างการเขียนหลักการและเหตุผล

     ความยากในการเขียนคือการใช้คำและการเรียบเรียงให้เหมาะสม เพราะมีความละเอียดในเรื่องของราชาศัพท์ต่างๆ

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน มีประเด็นต่างๆดังนี้
k2

  1. เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
  2. เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ หลักการทรงงานและทรงประกอบพระราชกรณียกิจ พระราชอุตสาหะวิริยะ พระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงอาทรห่วงใยในอาณาประชาราษฏร์ และพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ เป็นแบบอย่าง เป็นแนวทาง และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม
  3. เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ ทั้งเนื้อหา รูปแบบ วิธีการที่แสดงออก การเทิดพระเกียรติ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
  4. เพื่อให้เกิดความสามัคคี ของบุคลากรในองค์กร ทั้งครู อาจารย์ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษา เกิดความการร่วมมือ ร่วมใจในการทำงานร่วมกันในองค์กร
  5. เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ชมผลงาน ทั้งด้านศิลปกรรม และเนื้อหาเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถ หลักการทำงาน พระอัจฉริยภาพ พระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตาทรงอาทรห่วงใยในอาณาประชาราษฏร์ และพระราชอุตสาหะวิริยะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่ทรงสร้างคุณูปการแก่แผ่นดินไทยคนไทยอย่างอเนกอนันต์

ตัวอย่างการเขียน

ผลสำเร็จของงาน

     มีผู้เข้าร่วมโครงการ 250 คน (นักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. 219 คน คณาจารย์ 31 ท่าน) ภาพทั้งหมดในการจัดงาน ครั้งนี้ 202 ภาพ โดยใช้เวลา 2 เดือน ในการผลิตผลงาน ด้วยเทคนิคที่หลากหลาย ตามแขนงวิชาเรียน เช่น วาดเส้น, องค์ประกอบศิลป์, ศิลปะไทย, PAINTING, ประติมากรรม งบประมาณ 2 หมื่นบาท “เรามีงบประมาณจำกัด เพราะเมื่อผลิตผลงานออกมา ต้องใส่กรอบให้เหมาะสม มีวิธีแก้ปัญหาคือ ต้องหางบสนับสนุนจากชมรมศิษย์เก่า แต่ก็สำเร็จจนได้ เพราะพระบารมีของในหลวง ของเราครับ” อาจารย์ศักดิ์ชายกล่าว

     เมื่อได้ผลงานพร้อมใส่กรอบแล้ว การติดตั้งจัดวางเป็นเรื่องสำคัญ ทุกอย่างต้องเหมาะสม ผู้รับผิดชอบคือ วิทยาลัยช่างศิลปะ และบ้านสามครู ในชุมชนตลาดไม้หัวตะเข้ ใช้เวลาจัดสถานที่แสดงผลงาน 3 วัน สิ่งที่ได้เห็น คือ ความร่วมมือของบุคลากร และชาวชุมชน ช่วยกันคิด ช่วยกันติด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม

ภาพการจัดแสดงงาน และพิธีเปิดในวิทยาลัยช่างศิลป

ภาพพิธีเปิดที่บ้านสามครู

วันเปิดงาน ชาวชุมชนร่วมกันจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เด็กๆ ในชุมชน มาร่วมกันร้องเพลงต้นไม้ของพ่อ พระราชาในนิทาน และเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

ผลที่ได้รับ

     ได้เห็นถึงความร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา ประชาชน ในทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้งบประมาณจะจำกัด แต่งานก็สำเร็จ สวยงาม เหมาะสม ควรค่าแก่ความทรงจำ ผู้คนมากมายได้ชื่นชมพระบารมี ได้เห็นผลงานนักศึกษา ซึ่งจัดพิมพ์เป็นโปสการ์ดไว้เป็นที่ระลึก โดยไม่ได้จำหน่าย ผู้ที่สนใจถ้าจะช่วยเหลือกิจกรรมก็บริจาคได้ตามกำลัง งานนี้ เปิดแสดงถึงวันที่ 29 ธันวาคมนี้

k5

 

การต่อยอด

     นิทรรศการมีผู้สนใจเป็นอย่างมาก ผู้มาชมงานชื่นชอบ และชื่นชม ประทับใจในความงดงามของการแสดงออกทางศิลปะของนักศึกษา มีการเผยแพร่ผลงานทางสื่อออนไลน์ ยิ่งทำให้มีคนให้ความสนใจมากขึ้น ผู้สร้างสรรค์ผลงานก็ยิ่งมีกำลังใจ และมีแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานศิลปะมากขึ้น นับว่าเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อหลายๆ ส่วน และคงต่อเนื่องต่อไป เพื่อสืบสานการทำความดีตามพระราชปณิธานของพระองค์

 

 

โดย ดร. นิกร  แก้วแพรก

         ปัจจุบันการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ อาทิ พลังงานความร้อน (thermal energy) พลังงานลม (wind energy) และพลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และไม่มีต้นทุนด้านพลังงาน และจากภาวะขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลายประเทศได้ให้ความสนใจในการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกเพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานหลักจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่างประเทศไทยได้เริ่มมีการใช้พลังงานทดแทนอย่างเช่น แก๊สโซฮอล์ และ  ไบโอดีเชล ที่เห็นเป็นรูปประจักษ์ เมื่อไม่นานมานี้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพื่อใช้ประโยชน์ภายในโครงการและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ยังอ่างเก็บน้ำหนองเสือแล้วปล่อยน้ำลงมาเพื่อใช้ในด้านเกษตรกรรมของโครงการชั่งหัวมัน และยังมีงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสูบน้ำบาดาลด้วยโซลาเซลล์อีกมากมาย อาทิ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนการผลิตระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ของกลุ่มเกษตรบ้านหางแขยง ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นต้น

ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบปัญหาภัยแล้งจากภาวะการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคเกษตรกรรมอย่างมาก ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้มีส่วนช่วยเหลืออย่างมากมายในการเป็นแหล่งพลังงานทดแทนด้านกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลและประสบปัญหาภัยแล้ง แต่อาจยังไม่คลอบคลุมในหลายๆจังหวัดของประเทศไทย มีการคาดการณ์อีกว่าในปี 2560 อาจจะเกิดภัยแล้งขึ้นอีกครั้ง ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีของกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากปัจจัยด้านราคาของวัสดุและอุปกรณ์มีราคาถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และจากการนำระบบผลิตไฟฟ้ามาใช้กับการสูบน้ำบาดาล บทความนี้จะกล่าวถึงการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนสำหรับระบบประปาบาดาลเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคสำหรับหมู่บ้านและลดต้นทุนด้านกำลังไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) พร้อมระบบสำรองพลังงาน (battery backup)

 

รูปที่ 1 ระบบประปาบาดาลด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

หลักการทำงานของระบบ

เทคโนโลยีระบบสูบน้ำประปาบาดาลด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (The Photovoltaic Systems) พร้อมระบบสำรองพลังงาน มีหลักการทำงานดังต่อไปนี้

  • ขณะสูบน้ำขึ้นหอถัง
    • ในกรณีพลังงานแสงอาทิตย์มีเพียงพอ พลังงานไฟฟ้าจะถูกจ่ายไปยังเครื่องสูบน้ำผ่านเครื่องควบคุมหรืออินเวอร์เตอร์ และประจุสะสมเข้าแบตเตอรีสำรองไฟฟ้า
    • ในกรณีพลังงานแสงอาทิตย์มีไม่พอสำหรับเครื่องสูบน้ำ พลังงานไฟฟ้าที่ถูกสะสมไว้ในแบตเตอรีจะถูกนำมาเสริมกับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์เพื่อให้ระบบเกิดการทำงานสมดุลแบบอัตโนมัติ
    • และในกรณีฉุกเฉิน เช่นพลังงานไฟฟ้าทั้งจากแสงอาทิตย์และไฟฟ้าจากแบตเตอรีสำรองมีไม่เพียงพอ หากมีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเชื่อมเข้ากับเครื่องควบคุม ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะจ่ายพลังงานให้กับเครื่องสูบน้ำและสามารถประจุแบตเตอรีในเวลาเดียวกัน (เช่น ในช่วงเวลาที่มีฝนตกต่อเนื่อง)
    • พลังงานที่ถูกสะสมในแบตเตอรี ยังสามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ได้ ในขณะเครื่องสูบน้ำทำงาน เช่น ระบบแสงสว่าง กล้องวงจรปิด หรืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบเพิ่มเติมตามความต้องการ

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ข้างต้นให้เข้ากับระบบสูบน้ำประปาบาดาลในปัจจุบัน

ระบบสูบน้ำบาดาลสามารถพิจารณาได้จากเครื่องสูบน้ำในแต่ละรุ่นประกอบไปด้วยประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยของมอเตอร์อยู่ที่ประมาณ 55% ของประสิทธิภาพโดยรวมและเมื่อชดเชยกับค่าการสูญเสียทางไฟฟ้า 5% ดังนั้นกำลังไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการขับมอเตอร์แต่ละรุ่นจึงมีขนาดดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 กำลังไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการขับมอเตอร์

 

การนำพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มาใช้ในระบบสูบน้ำประปาบาดาลจะต้องมีความสัมพันธ์กับอัตราการสูบที่กำหนดไว้นั้น เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หากคำนวณเฉพาะแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ สามารถสรุปได้ดังแสดงในตารางที่ 2

 

 ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบอัตราการสูบกับกำลังไฟฟ้าที่ต้องการ

 

จากข้อมูลเชิงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาล ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทพบว่า ระบบมีความต้องการใช้น้ำสูงสุด (peak demand) 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า 06.00-08.00 น. และช่วงเย็น 16.00-18.00 น. ทั้งในกรณีประปาเพื่อการเกษตรและประปาหมู่บ้าน (ทั้งนี้เวลาอาจแตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการ (peak demand) ได้

ตารางที่ 3 การเปรียบเทียบขนาดเครื่องสูบน้ำกับกำลังไฟฟ้าที่ต้องการจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์

 

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลานอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือเวลา 08.00-16.00 น. จะเป็นระยะเวลาที่พลังงานแสงอาทิตย์ที่ความเข้มของแสงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และยังเป็นช่วงเวลาที่ระบบประปาบาดาลสามารถสูบน้ำเข้าหอถังพักน้ำจนเต็ม จนกระทั่งระบบหยุดการทำงานโดยอัตโนมัติในท้ายที่สุด หากนำปัจจัยด้านเวลามาพิจารณาจะพบว่า ระบบสูบน้ำจำเป็นจะต้องมีพลังงานส่วนเกิน (06.00-08.00 น. และ 16.00-18.00 น. รวม 4 ชั่วโมง) ที่สามารถชดเชยและนำมาประจุสะสมเข้าแบตเตอรีเพื่อนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่จำเป็น

การประยุกต์เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนอย่างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบประปาบาดาลทำให้เราสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าลงไปได้อย่างมากมาย มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการใช้ทรัพยากรน้ำยามขาดแคลนในช่วงหน้าแล้ง