เทคนิคการสร้าง EQ สำหรับผู้บริหาร
เทคนิคการสร้าง EQ สำหรับผู้บริหาร
>>> โดย ดร. วรุตม์ ทวีศรี <<<
หลายต่อหลายปีที่ผู้บริหารระดับสูงอย่าง Chief Executive Officer หรือ CEO ต้องทนกับความกดดันในการบริหารงานและดูแลองค์กรให้พัฒนาก้าวหน้า จนทำให้ผู้บริหารหลายต่อหลายคนกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมโมโหง่ายหรือขาด Emotional-Intelligence Quotient (EQ) ซึ่งหมายความง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในสภาวการณ์ต่างๆ ผู้บริหารระดับสูงหลายคนรับความกดดันจากภายนอกมา และไม่สามารถทนต่อสภาวะกดดันต่างๆ เหล่านั้นได้ ส่งผลต่อจิตใจของตนเอง ทำให้เกิดความเครียด ความขุ่นมัว หรือความระแวงต่อความล้มเหลวมากเกินไป จนทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองลดต่ำลง ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทนกับอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ของผู้บริหาร จนส่งผลเกิดความเบื่อหน่ายต่อผู้บริหาร และอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานได้ เช่น การขาดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน เนื่องจากเกิดความเบื่อหน่ายในการจะนำเสนอความคิดใหม่ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงที่จะสนทนากับผู้บริหาร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การควบคุมอารมณ์ของผู้บริหารนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบริหารงานอย่างยิ่ง เพราะการมีความรอบรู้ในการบริหารงานแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถจะนำพาองค์กรไปสู่จุดสูงสุดได้หากขาด EQ
ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจึงควรจะมีการจัดการบริหาร EQ ของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยสร้างความสัมพันธที่ดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกเคารพ และพร้อมที่จะทุ่มกายและใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ สำหรับเทคนิคง่ายๆ ในการเริ่มสร้าง EQ บริหารนั้น สามารถเริ่มต้นทำได้จาก 5 เทคนิค ดังนี้
ให้ความสำคัญกับความรู้สึกผู้อื่น
ผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จ ต้องไม่ละเลยที่จะรับรู้หรือเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น การที่มีความเข้าใจ และใส่ใจเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น ก็เพื่อที่จะทำให้อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นของเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน การทำความเข้าใจอารมณ์ของเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา อาจสามารถทำได้โดยการพูดคุย การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การรับฟัง การปลอบโยน ให้กำลังใจ ถึงแม้บางครั้งผู้บริหารอาจจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่การแสดงความเห็นอกเห็นใจนั้น ก็สามารถทำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และมีความเข้มแข็งในการก้าวข้ามปัญหาที่เขาเหล่านั้นกำลังเผชิญไปได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถกลับมาปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยเร็ว
ชมเชยผู้ใต้บังบัญชา
ผู้บริหารที่ดีจะต้องมองเห็นความดีและความทุ่มเทของผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา หากผู้บริหารเห็น ความดีและความทุ่มเทในการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ทำให้ผลงานออกมาดี ทันต่อเวลา ผู้บริหารที่ดี จะต้องไม่ละเลยที่จะแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการกล่าวชมเชยเป็นคำพูด หรือเขียนอีเมลชมเชยเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง นอกจากนี้การชมเชยของผู้บริหารจะสร้างความรู้สึกภักดีให้กับพวกเขา ทำให้รู้สึกว่าตนได้รับการยกย่อง เชิดชู จึงพร้อมที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเมื่อถูกร้องขอในโอกาสต่อไป
ระมัดระวังอารมณ์ของตนเอง
ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพต้องมีการเฝ้าระมัดระวังอารมณ์ของตนเองหรือมีการควบคุมอารมณ์ของตนอยู่เสมอ โดยต้องตระหนักถึงอารมณ์ของตนเองที่จะไปกระทบกับผู้อื่น ต้องระมัดระวังคำพูด ในขณะที่อารมณ์ของตนเองขุ่นมัว ต้องเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญ การฝึกฝนการเฝ้าระวังอารมณ์อาจสามารถทำได้โดยการหยุดเพื่อจดบันทึกอารมณ์ ความคิดต่างๆ ในสถานการณ์ที่พบเจอ เพื่อที่จะช่วยให้ตนเองไม่ด่วนตัดสินใจกระทำพฤติกรรมในใดๆ ไปอย่างหุนหันพลันแล่น และเพื่อตรวจสอบดูว่า อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของตนเองอย่างไร
การนอนหลับพักผ่อน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอทำให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนไปด้วย และการที่สมองได้รับ การพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้สมองได้รับการรีชาร์จ (recharge) ทำให้มีการจัดเรียงข้อมูลที่รับมาในแต่ละวัน ความทรงจำที่ดีมีประโยชน์ก็จะถูกเก็บไว้ในพื้นที่ที่สามารถเรียกใช้ต่อไป ส่วนที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ก็จะถูกสมองจัดเก็บไว้ในส่วนลึก และในที่สุดก็จะกลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำ และเมื่อสมองได้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นแล้ว เราก็จะตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น ไม่ขุ่นมัว พร้อมที่จะปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารหลายคนประสบปัญหาการพักผ่อนไม่เพียงพอ หลับไม่สนิทหรือไม่เต็มที่ ทำให้สมองไม่ได้รับการรีชาร์จ เมื่อตื่นนอนมาจึงไม่รู้สึกสดชื่น และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อพอเจอปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เพิ่ม เข้ามาในแต่ละวัน
เลิกคิดและพูดในเชิงลบ
การเลิกคิดและเลิกพูดในเชิงลบถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา EQ ของผู้บริหาร เพราะยิ่งผู้บริหารมีความคิดในเชิงลบมากเท่าใด พฤติกรรมการแสดงออกหรือคำพูดที่ออกมาก็จะเป็นไปในเชิงลบในลักษณะของอคติ มากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงควรหมั่นฝึกฝนตนเองโดยการควบคุมความคิดในเชิงลบด้วยการหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจทำได้โดยการหยุดการกระทำต่างๆ ไว้ก่อนหากตนเองเริ่มเกิดความคิดในเชิงลบกับสิ่งต่างๆ จากนั้นจึงเขียนบันทึกความคิดต่างๆ เหล่านั้นเอาไว้ เพื่อที่จะชะลอตนเองไม่กระทำพฤติกรรมในเชิงลบออกไปก่อนที่จะไตร่ตรองอย่างรอบคอบ จากนั้นอ่านทบทวนสิ่งที่ตนเองบันทึกไว้ และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงแค่ทัศนคติในเชิงลบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ หากมีการสื่อออกมา
เทคนิคทั้ง 5 ข้อที่นำเสนอมานี้ เป็นเพียงเทคนิคในการเริ่มต้นของการสร้าง EQ ของผู้บริหาร ซึ่งคนทั่วไปก็อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง
แปลและเรียบเรียงจาก Why Your Boss Lacks Emotional Intelligence จากนิตยสาร Forbes โดย Travis Bradberry