โดย ดร. ชนะ พรหมทอง

   งานสนับสนุนโครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถือได้ว่าความเป็นความภาคภูมิใจประการหนึ่งของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการพัฒนาเกษตรที่สูง โดย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ฝวช.)  ซึ่งทาง วว. ได้เข้าไปมีบทบทในการวิจัยและพัฒนา การเพาะเห็ดเขตหนาว ซึ่งในอดีตนั้นเห็ดเขตหนาวไม่สามารถเพาะปลูกได้ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงโปรดให้มีการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โครงการพัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวของไทยจึงได้เกิดขึ้นและได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูงในภาคเหนือของไทยแล้ว ยังสามารถลดการนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

FullSizeRender (1)

 

   การวิจัยและพัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวนี้ ดำเนินการโดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง ด้วยการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งทาง วว.ดำเนินการภายใต้ศูนย์กิจกรรมพิเศษ โดยต่อมาได้ตั้งขึ้นเป็นศูนย์ประสานงานพัฒนาเกษตรที่สูง(ศปก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกองได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ในปี พ.ศ. 2512 ในการส่งเสริมพัฒนาการเพาะเห็ด เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพของชุมชนบนพื้นที่สูง โดยโครงการหลวงได้กันพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางวา ที่สถานีวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัย พัฒนาและทดสอบเห็ดเขตหนาว โดยเริ่มจากการเพาะเห็ดหอมในท่อนไม้จากการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญไต้หวันที่เข้ามาช่วยงานโครงการหลวงยุคเริ่มโครงการหลวงโดยการนำไม้ก่อที่มีอยู่ในธรรมชาติแต่ถูกตัดเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตร การเพาะเห็ดหอมท่อนไม้ประสบผลสำเร็จ เป็นอย่างดี ต่อมาได้ส่งนักวิจัยไปฝึกงานการเพาะเห็ดที่ประเทศไต้หวัน และสนับสนุนเครื่องจักรสำหรับเพาะเห็ดภายใต้ความร่วมมือของโครงการหลวงกับรัฐบาลไต้หวัน เพื่อนำความรู้กลับมาวิจัย พัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดเขตหนาวชนิดอื่นๆ เช่น เห็ดแชมปิญอง เห็ดเข็มทอง เห็ดนางรมหลวง เห็ดโคนหลวง เห็ดปุยฝ้าย เห็ดนางรมดอย และเห็ดอื่นๆอีกหลายชนิด ปัจจุบัน ได้ดำเนินการทดสอบ และทดลองนำสายพันธุ์เห็ดเขตหนาวชนิดอื่นๆมาเพาะเลี้ยง กว่า 10 ชนิด และส่งเสริมเห็ดที่มีศักยภาพให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมต่อไป รวมทั้งโครงการหลวงมอบหมายให้ช่วยบริหารจัดการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ. 2549 และ วว. มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้ยุบรวมงานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไปอยู่กับงานวิจัยพัฒนา ทำให้ ศปก. ถูกยุบรวมเป็นเพียงโครงการหนึ่งเท่านั้นโดยมีนักวิจัยเป็นหัวหน้าโครงการ

 

      ต่อมาในปีพ.ศ. 2553 โครงการหลวงได้แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ วว. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ช่วยดูแลการบริหารจัดการ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกอีกครั้งหนึ่ง และมีรับสั่งจากองค์ประทานมูลนิธิโครงการหลวงให้ขยายงานส่งเสริมการเพาะเห็ดไปยังศูนย์ต่างๆมากขึ้นนอกเหนือจากเดิมที่ทำเฉพาะงานทดสอบที่ศูนย์วิจัยเห็ดเขตหนาวดอยปุย ปัจจุบันงานเห็ดได้ขยายไปยังศูนย์/สถานีของโครงการหลวงทั้งหมด 5 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมีศูนย์ดอยปุยเป็นศูนย์หลักในการผลิตหัวเชื้อเห็ดของโครงการหลวง และปัจจุบันศูนย์เห็ดดอยปุยขอสนับสนุนงบประมาณในรูปกองทุนโครงการ อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อดำเนินการผลิตเห็ดสดเพื่อจำหน่ายผ่านโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค นอกเหนือจากงานทดสอบเห็ดชนิดใหม่

FullSizeRender (2)

     ในปี พ.ศ. 2557 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การดูแลของ วว. ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการหลวงประมาณ 13 ล้านบาท ในการสร้างอาคารเพาะเห็ดระบบปิดที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงเพื่อพัฒนางานผลิตเห็ดของโครงการหลวงให้มากขึ้น และต่อมาในปีพ.ศ. 2546 ได้เริมการวิจัยพัฒนาการผลิตวานิลลา ที่ศูนย์ฯป่าเมี่ยงโดยโครงการหลวงให้ทุนวิจัย เพื่อขยายผลสู่งานส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงต่อไปจนถึงปัจจุบันได้ขยายผลไปยัง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ศูนย์ฯม่อนเงาะ และศูนย์ฯตีนตก โดยมีการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ผ่านตลาดโครงการหลวง

      ทั้งหมดนี้จึงนับได้ว่า เป็นความภาคภูมิใจของ วว. ที่ได้มีส่วนร่วมในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคคลากรในองค์กรช่วยในการพัฒนาประเทศตามพระราชประสงค์