เก็บตกการสัมมนา SOE Digital Transformation for Thailand 4.0…มุมมองจากคนนอกวงการ IT
ดร. ปฐมสุดา อินทุประภา
กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร
เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา SOE Digital Transformation for Thailand 4.0 ที่จัดขึ้นโดยชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในฐานะคนนอกวงการ IT เพราะส่วนใหญ่บุคลากรที่มีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นคนในแวดวง IT ไม่ว่าจะเป็น Programmer, System analyst และ Network engineer ซึ่งแต่ละคนก็จะมีการใช้คำพูดด้วยคำศัพท์ที่เป็น Technical terms ที่ผู้เขียนไม่ค่อยคุ้นหู และไม่เข้าใจความหมายเท่าไรนัก เพราะผู้เขียนเป็นแค่ End user หรือผู้ใช้ระบบที่เขาเหล่านั้นได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะ End user ที่เข้าร่วมในการสัมมนาในครั้งนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่านับเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้เขียนได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มรัฐวิสาหกิจไทยที่มุ่งมั่นจะพัฒนาระบบ Infrastructures, program และบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ
ในงานสัมมนา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดและได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง SOE Digital Transformation for Thailand 4.0 ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวข้ามผ่านความล้าหลังแล้ว และกลุ่มรัฐวิสาหกิจของไทยก็มีศักยภาพทั้งในเรื่องเงินทุน กำลังคน และเทคโนโลยีที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่ 4.0 และหากกลุ่มรัฐวิสาหกิจไทยสามารถวางเป้าหมายร่วมกันได้ ท่านก็เชื่อว่ากลุ่มรัฐวิสาหกิจไทยจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเทศไทยความเป็นสู่ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ท่านยังเน้นย้ำว่าทุกรัฐวิสาหกิจควรที่จะตั้งเป้าร่วมกันคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยต้องไม่ลืมถึงความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคม ระบบ logistic และการทำธุรกรรมการเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในส่วนของรัฐบาลเองก็กำลังดำเนินการอยู่ 5 เรื่องหลักๆ เพื่อการขับเคลื่อน Digital 4.0 ซึ่ง ก็คือ SIGMA แปลว่า S = Security (ความปลอดภัย), I = Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน), G = Government (รัฐบาล), M = Manpower (กำลังคน) และ A = Application (การประยุกต์ใช้) โดยทั้งหมดนี้ก็หมายความถึง การคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการในโลกออนไลน์และความมีเสถียรภาพของระบบต่างๆ การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายให้ครอบคลุม การทำระบบ e-government เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างทั่วถึง การพัฒนากำลังคนหรือบุคลากรที่จำเป็นเพื่อใช้พัฒนา วิเคราะห์ และวางระบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และการนำเอาระบบต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับการเสวนาของ คุณเทวินทร์ วงวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และคุณมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสามท่านได้กล่าวถึง ความพร้อมในด้าน Manpower และ Infrastructure ของหน่วยงาน นอกจากนี้ท่านทั้งสามยังยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมไปถึงการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเตรียมพร้อมเกี่ยวกับใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยบนระบบเครือข่ายความเร็วสูงที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ในการเสวนาช่วงบ่ายของ ดร. ณัฐพล นิมมานพัชริทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล และ นพ. ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE และ CEO บริษัท MCFIVA ทั้งสองท่านยังได้เน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อมของบุคลากรของภาครัฐให้มีความเป็นนักนวัตกร (Innovator) คือ การที่บุคลากรภาครัฐสามารถนำเอาผลงานวิจัยมาต่อยอดหรือสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชิวิตของผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น สร้างความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา หรือประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น นวัตกรจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงมุมมองของนักลงทุนและสามารถสื่อสารกับนักลงทุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่มีความแปลกใหม่และตอบสนองชีวิตในยุค digital 4.0 ได้ ซึ่งบุคลากรภาครัฐควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทัศนคติ รวมถึงแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และหลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ เพื่อสร้างสรรค์งานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่สังคม
สำหรับในเรื่องของ Security นั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ก็ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ Cyber Security for New Generation ซึ่งในการบรรยายท่านก็ได้เน้นย้ำถึง การโจมตีทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเป้าหมายในการปฏิรูปธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานของระบบจำเป็นต้องเข้มแข็ง และสามารถตรวจจับเครือข่ายแปลกปลอมต่างๆ ที่แทรกซึมเข้ามาในระบบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เรื่องนี้นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงท้ายของงานซึ่งเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง Challenging to change in digital era โดย พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ดังนั้นในยุคที่ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในพริบตา บุคลากรภาครัฐจึงจำเป็นต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแลงที่รวดเร็วเช่นนี้ เพราะคลื่นลูกใหม่แห่งความเปลี่ยนแปลงอาจจะถาโถมลงมาได้อีกในไม่กี่ปีข้างหน้า
ท้ายสุดนี้ ข้อคิดที่ได้จากเข้าร่วมสัมมนาในฐานะ End user ผู้เขียนได้ตระหนักถึงสิ่งที่ End user ต้องเตรียมรับมือเพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ Digital literacy หรือความตระหนักรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
Leave a Reply