โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

            การบรรยายในหัวข้อ การสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดย อาจารย์บุญเลิศ อรุณพิบูลย์  ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการ เรื่อง เสริมพลังการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การบริการความรู้แบบเสรี (Empowering S&T Research with the Openness Revolution)  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หลักสี่  

            หลังจากการวนหาที่จอดรถอยู่ราวๆ 20 นาที ซึ่งเราก็ไม่ได้ที่จอดจึงต้องอ้อนวอน คุณรปภ. หน้าอาคารช่วยจัดหาที่จอดให้ จึงจะได้ขึ้นไปที่ห้องประชุมซึ่งอยู่ชั้น 2 ของอาคารดังกล่าว  ทำให้พลาดพิธีเปิด แต่ก็ทันฟังอาจารย์บุญเลิศ บรรยายสาระน่ารู้เพื่อในการเตรียมเข้าสู่การสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งก่อนการบรรยายจะเริ่มนั้น อาจารย์บุญเลิศก็ได้ให้ link เพื่อเข้าไปดูสไลด์การบรรยายผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ซึ่งก็คือ https://padlet.com/boonlerta/opened  ในการบรรยายครั้งนี้ อาจารย์ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนที่เราจะสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น เราต้องพิจารณาว่า องค์กรของเรามีศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ขนาดไหน มีความพร้อมในด้าน human resources และ infrastructure แล้วหรือยัง เพราะการสร้างองค์ความรู้ในยุคนี้จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ที่อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งาน กล่าวคือ ข้อมูลที่มีการเผยแพร่หรือเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัลนั้น จะต้องนำมาใช้ต่อได้ทันที ไม่ใช่อยู่ในรูปไฟล์ PDF  เท่านั้น แต่จะต้องอยู่ในรูปแบบที่ programmer หรือ end user  สามารถนำไปเชื่อมโยงเข้าระบบของตนเองได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการนำมาแปลงหรือพิมพ์ใหม่  ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในด้านการวางแผนทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ให้พร้อมจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านบุคคลกร จำเป็นที่จะต้องมีทักษะดิจิทัล (digital literacy) เป็นอย่างดี ต้องรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์พร้อมทั้งประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นได้  และยังสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบของสื่อหรือสร้างเป็นข้อมูลพร้อมใช้ผ่านเครื่องมือดิจิทัลได้อีกด้วย  

            นอกจากนี้อาจารย์ยังได้กล่าวถึงแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 2561-2580 ที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 1 ก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  โดยเป้าหมายหลักก็คือ การพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยให้มีคุณภาพและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการนำเอานวัตกรรมและความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีมาในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งให้ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ โดยเน้นไปในเรื่องของการศึกษา การสาธารณสุข การบริการสาธารณะต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็ยังต้องให้ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐให้มีการจัดเก็บบริหารข้อมูลแบบบูรณาการ ไม่ซ้ำซ้อน และรองรับการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานได้ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และโปร่งใส  ยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องของการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์เน้นตั้งแต่แรกว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใด แต่หากบุคลากรไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นในยุทธศาสตร์นี้จึงมีแผนงานในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในทุกสาขาอาชีพ และยังมุ่งเน้นพัฒนาความเชี่ยวชาญดิจิทัลเฉพาะด้านอีกด้วย นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ฉับไวในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 6 เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะเน้นไปที่การปรับปรุงกฎหมายดิจิทัลให้ทันสมัย ครอบคลุม และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล มีการสร้างมาตรฐานข้อมูลที่เป็นสากลเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและการทำธุรกรรมพร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ

            นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจารย์ยังย้ำในเรื่องของความฉลาดทางดิจิทัล ซึ่งได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว
  3. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ
  4. ทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล
  5. ทักษะในการับมือภัยคุมคามทางออนไลน์
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้ทิ้งไว้บนโลกออนไลน์
  7. ทักษะในการในการรักษาความปลอดภัยของตนเอง
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

            ซึ่งทักษะทั้ง 8 ทักษะนี้มีความสำคัญที่บุคลากรผู้ที่จะสร้างสรรค์สร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จำเป็นต้องมี ซึ่งรวมไปถึงผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่ว ๆ ไปด้วย

            และสุดท้าย ก่อนที่จะจบการบรรยายนั้น อาจารย์ได้ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดที่น่าสนใจไว้ว่า การที่เราจะก้าวเข้าสู่ ยุคดิจิทัลระบบเปิดอย่างมั่นคงยั่งยืน เราจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการคิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ และเกิดกระบวนการทำงานใหม่ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ และเกิดวิถีชีวิตใหม่ในยุค Thailand  4.0


tistr e_book