Category: บริการสารสนเทศ
สารสนเทศศาสตร์ ห้องสมุด บรรณารักษ์ บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร หลักภาษา แนะนำหนังสือ
SDI – คุณแนะ เราจัดให้
Selective Dissemination of Information : SDI
คือ บริการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศแบบเจาะจง ที่ให้ คุณ สามารถแนะนำความต้องการสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของคุณ ผ่าน Leave a Reply ที่นี่ เพื่อเราจะดำเนินการจัดหาสารสนเทศมาแบ่งปันให้คุณได้อย่างเหมาะสม ตรงใจ
มารู้จักเรา :
เรา คือ ทีมงาน ของ กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกองภายใต้ สำนักดิจิทัลและสารสนเทศ (สทส.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รัฐวิสาหกิจในสังกัด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อเราสามารถเป็นที่ต้องการ และเป็นที่พึ่งของคุณได้ เพียง คุณแนะ ผ่าน Leave a Reply ด้านล่าง เราจัดให้
เยี่ยมชมหอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
โดย ปฐมสุดา อินทุประภา
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 คณะทำงานการจัดการความรู้ของ วว. นำโดย ดร.นฤมล รื่นไวย์ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลและสารสนเทศได้เข้าเยี่ยมชมหอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มหาวิทยายาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งได้รับการต้อนรับจากทางเจ้าหน้าที่ของหอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นอย่างดี
หอสมุดป๋วย อึ้งภาภรณ์ ที่ศูนย์รังสิตแห่งนี้ มีพื้นที่ถึง 18,699 ตร.ม. มีพื้นที่นั่งอ่านหนังสือถึง 2, 310 เครื่องคอมพิวเตอร์ 142 เครื่อง มี Wifi และเครื่อง printer ให้นักศึกษาได้ใช้งาน หอสมุดป๋วยเปิดให้บริการแก่นักศึกษาทุกวันไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และในช่วงสอบยังเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนอีกด้วย ในส่วนของทรัพยากรสารสนเทศนั้น ทางหอสมุดมีหนังสือในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 278,647 เรื่อง ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 34,275 เรื่อง มีวารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 217 เรื่องในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ถึง 106,542 เรื่อง วิทยานิพนธ์ในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 19,500 เรื่อง ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 20,995 เรื่อง หนังสือพิมพ์ในรูปแบบสิ่งพิมพ์จาก 10 สำนักพิมพ์ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 5,000 สำนักพิมพ์ และยังมีโสตทัศนวัสดุจำนวน 14,937 เรื่อง ให้นักศึกษาได้เข้ามาศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ทางหอสมุดยังมีระบบการยืม-คืนทรัพยากรสารสนเทศระหว่างหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตต่างๆ อีกด้วย และหากนักศึกษาต้องการทรัพยากรสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยอื่นที่อยู่ในเครื่องข่ายของหอสมุด ก็สามารถกรอกแบบฟอร์มผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยื่นความจำนงในการขอยืมทรัพยากรสารสนเทศเหล่านั้นมาใช้ได้อีกด้วย นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี สมกับยุคไทยแลนด์ 4.0
ในส่วนของศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2558 ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Active learning หรือการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่ 15,300 ตร.ม. ที่นั่งอ่าน 1,200 ที่นั่ง เครื่องคอมพิวเตอร์ 228 เครื่อง พร้อม Wifi และเครื่อง printer ไว้คอยให้บริการ นักศึกษาสามารถเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ติวหนังสือ ทำรายงาน หรือประชุมหารือในเรื่องต่างๆ ได้ตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ให้แนวคิดในการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ไว้ว่า ท่านต้องการสร้างที่นี่ให้เป็นห้องสมุดแนวใหม่ ที่ไม่มีหนังสือ ไม่มีผนัง ไม่มีเจ้าหน้าที่ เป็นห้องสมุดเปิดโล่ง ไม่เข้มงวดเหมือนห้องสมุดทั่วไป แต่ให้มีที่อ่านหนังสือ มีที่นั่งเล่น มีบรรยายกาศที่เป็นกันเอง สำหรับพื้นที่ในการให้บริการนั้น ทางศูนย์ฯ ได้จัดแบ่งไว้เป็นสัดส่วน คือชั้น 1 Business Zone ซึ่งจะมีร้านกาแฟให้บริการ ชั้น 2 Tutoring Zone ซึ่งห้องจะกั้นด้วยกระจกใส เพื่อให้นักศึกษารวมกลุ่มกัน เพื่อติวหนังสือ หรือประชุมหารือเรื่องต่างๆ โดยสามารถจองห้องผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยได้ล่วงหน้า ในส่วนของชั้น 3 Reading Zone นักศึกษาสามารถนำหนังสือ เข้ามาอ่านหรือทำรายงานได้ ส่วนชั้น 4 Multimedia Service จะให้บริการคอมพิวเตอร์ และเป็นห้องฝึกฝนทักษะทางด้านภาษา รวมถึงให้บริการห้องชมภาพยนตร์
นอกจากนี้ทางที่บริเวณชั้น 2 ของศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังแบ่งพื้นที่ไว้จัดนิทรรศการ โดยจัดนิทรรศการที่เกี่ยวของกับการบริหารจัดการทรัพยากรห้องสมุด บทเรียนออนไลน์ การจัดการความรู้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านห้องสมุดและบริการที่เป็นประโยชน์ต่างๆ
หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นี้ นับได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาในยุค 4.0 นี้ ได้เป็นอย่างดี