ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมประเมินโครงการวิจัยพัฒนากับ ดร.เสริมพล รัตสุข, อ.อัครพงศ์ ผ่องสุวรรณ, Innovation Developer จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และ ผู้เชี่ยวชาญ จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องของมุมมองในการคิดงานวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ผลผลิตสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงขอนำความรู้ดังกล่าวมาแบ่งปันเพื่อนักวิจัยรุ่นใหม่และผู้ที่กำลังคิดสร้างนวัตกรรมสามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม

       ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง นวัตกรรม กับ สิ่งประดิษฐ์ ในมุมมองของการตลาดอย่างง่ายๆกันดีกว่า

       นวัตกรรม (Innovation) คือ การสร้างสิ่งใหม่ที่ขายได้ ถ้าขายไม่ได้ ถือว่าเป็นแค่ การประดิษฐ์ (Invention)

       นวัตกรรมที่น่าสนใจในมุมมองของการตลาดจำเป็นต้องตอบโจทย์ในประเด็นดังนี้

  • Fixing Pain Point คือ การแก้ปัญหา หรือข้อจำกัด ที่ผู้ใช้ได้รับจากบริการหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้ยังไม่รู้สึกพอใจหรือได้ประโยชน์สูงสุดตามที่ได้ลงทุนไป
  • Market Impact คือ ผลที่ได้เมื่อเรานำสิ่งที่เราคิดไปจัดจำหน่ายในท้องตลาด เช่น เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและน่าสนใจจนสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการนวัตกรรมนั้นๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ลงทุนน้อยกว่าคู่แข่ง ราคาถูกกว่าคู่แข่ง มีคุณค่าที่แตกต่างจากคู่แข่ง
  • Disrupt Industry คือ การเปลี่ยนมุมมองการผลิตและการบริการที่ออกนอกกรอบกฏเกณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องตลาด หรือ อุตสาหกรรม จนสามารถสร้างพื้นที่ใหม่ของผลิตภัณฑ์และบริการ ในฐานะของการเป็นเจ้าแรกที่มีความแตกต่างจากของเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาดเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้แนวความคิดที่เรียกว่า Disruption นั้นจะไม่มีกฏเกณฑ์ที่ตายตัว สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามสภาพแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนไป

       จากนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการ หัวใจสำคัญของข้อเสนอโครงการที่ดี อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • ชื่อโครงการ ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว อะไรคือนวัตกรรมที่จะได้ โดยสามารถตอบโจทย์ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้การจะได้มานั้นซึ่งนวัตกรรมที่เราต้องการจะสร้างนั้น เราจำเป็นต้องศึกษา ค้นคว้า ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด รวมถึงงานวิจัยทั้งที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และที่มีการวางแผนจะดำเนินการ ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะแค่ในประเทศแต่ต้องรวมถึงที่มีในต่างประเทศด้วย เพื่อจะได้เกิดความแน่ใจว่าสิ่งที่เราคิดจะสร้างนั้น มีใครทำแล้วหรือคิดเหมือนเราไหม ถ้าเหมือนก็ไม่ควรที่จะทำ ถ้าต่างเราก็ต้องตอบได้ว่าต่างกันตรงไหน ระหว่างเรากับเขาใครดีกว่ากัน ถ้าดีกว่าก็ลุย
  • มีการระบุกลุ่มลูกค้า หรือ ผู้ได้รับผลประโยชน์ จากโครงการที่ชัดเจน ยิ่งถ้าสามารถแสดงให้เห็นว่ามีคนรอใช้ผลผลิตของโครงการเราอยู่จำนวนไม่น้อย โอกาสที่ข้อเสนอโครงการจะผ่านก็ยิ่งมีมาก
  • มีแผนและงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการที่ครอบคลุมทุกกิจกรรม รวมทั้งมีระยะเวลาในการดำเนินงานที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การศึกษา กฏระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เราจะดำเนินการ เช่น ถ้าจะทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสักชนิด เราจำเป็นต้องรู้ว่าการที่เราจะผลิตออกขายในท้องตลาดได้นั้น เราต้องได้รับการรับรองหรืออนุญาตจากใครบ้าง และระยะเวลาตลอดจนค่าใช้จ่ายในการขอการรับรองและการอนุญาตนั้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะทำให้เราสามารถกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการและงบประมาณที่ต้องใช้ได้อย่างครบถ้วนเหมาะสม
  • มีแบบจำลองธุรกิจ หรือ Business Model  ที่แสดงให้เห็นว่า ผลของโครงการจะสามารถทำเงินให้กับลูกค้า หรือ ผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ อย่างไร โดยแสดงให้เห็นวิธีการ ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ และต้นทุนในการดำเนินงานในโครงการนั้นๆประกอบด้วย
  • ระยะเวลาการคืนทุนไม่ควรเกิน 2 ปีครึ่ง

       เพียงแค่นี้ ไม่ยากใช่ไหมคะที่เราจะคิดสร้างนวัตกรรม และทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนในการดำเนินงาน มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่มี Impact กันเถอะค่ะ

อรุณี ชัยสวัสดิ์
นักวิจัย
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.)

     การพัฒนานวัตกรรม ให้เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาด  มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ สามารถขายและสร้างเป็นธุรกิจได้นั้น  ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ  เช่น ความใหม่ (Newness)   ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) มีความแตกต่าง ไม่ซ้ำ หรือเลียนแบบ สามารถใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefit) หรือสามารถขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องได้

     กระบวนการสร้างนวัตกรรม เกิดขึ้นหลากหลายวิธี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความต้องการแก้ปัญหา (Problem) การจัดการและต่อยอดองค์ความรู้ (Knowledge Management) และการปรับปรุงและพัฒนา (Improvement) ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ อีกทั้งมีโอกาสสำเร็จสูง สามารถนำไปใช้ได้ทั้ง นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) วิธีการโดยการระดมความคิด เพื่อค้นหาจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการเดิม ประกอบกับการประเมินความต้องการหรือความพึงพอใจของผู้ใช้ นำมาใช้เป็นข้อมูลป้อนเข้า (Input) เพื่อใช้วิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่แท้จริงของปัญหา ดังนั้น การวางแผนเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้วยวิธีนี้ จึงต้องมีการกำหนดแผนและวิธีการดำเนินงาน ในรูปแบบของกระบวนการ (Process Approach) โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน รูปแบบนี้สามารถใช้ได้กับ งาน กระบวนการ และ กิจกรรมทุกประเภท นั่นคือ พิจารณาจาก ส่วนปัจจัยนำเข้า (Input) คือ ทรัพยากร วัตถุดิบ ประกอบด้วย ชนิด ประเภท สัดส่วน ปริมาณ น้ำหนัก ความชื้น ฯลฯ ส่วนกระบวนการ (Process) คือ วิธีการ ขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนการผลิต ได้แก่ กระบวนการ เทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ ระยะเวลาการผลิต อุณหภูมิ ความดัน ระบบควบคุม ระบบ IT การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิต (Output) คือ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ ตามต้องการ

     หลักการ Process Approach เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น เปลี่ยนวัตถุดิบ สัดส่วนหรือปริมาณฯลฯ ก็จะทำให้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับกระบวนการ (Process) สามารถจำแนกเป็น กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนหรือวิธีการ เช่น เปลี่ยนเทคโนโลยี/เปลี่ยนระบบ เปลี่ยนเครื่องมือ ระยะเวลา อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เช่นกัน สำหรับกระบวนการทำงานในภาคธุรกิจบริการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น การบริหารงานคุณภาพ การนำระบบ IT มาใช้ สามารถลดขั้นตอน การซ้ำซ้อน ใช้คนน้อยลง ลดความผิดพลาด รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น เกิดเป็นกระบวนการใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่นี้ หากสามารถสร้างรายได้ หรือมูลค่าเชิงพาณิชย์ ก็จะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่นั่นเอง

     อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดำเนินงานในภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ประกอบด้วย กิจกรรมหรือกระบวนการต่างๆมากมาย เมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน จะทำให้ Output ของ Process หนึ่งไปเป็น Input ของอีก Process หนึ่ง เกิดความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) จนเกิดเป็นระบบ (System Approach) ดังนั้น หาก Input เริ่มต้นดี จะส่งผลให้ได้ Output ดี เช่นกัน แต่หาก Input ไม่ดี ก็จะส่งผล Output ไม่ดีหรือด้อยคุณภาพ ซึ่ง Output ที่ไม่ดีหรือด้อยคุณภาพนี้จะกลายเป็น Input ของกระบวนการต่อไปอีก ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลลัพธ์ด้อยคุณภาพ ดังนั้นการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่โดยใช้ Process Approach และ System Approach จะช่วยให้นวัตกร (Innovator) สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงของกระบวนการ และค้นหาจุดบกพร่อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ทำให้สามารถลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) โดยใช้กระบวนการ PDCA เป็นเครื่องมือดำเนินการ ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย สามารถตอบสนองความคาดหวัง และความต้องการของผู้บริโภค มีความทันสมัย โดดเด่นและแตกต่าง สร้างเป็นธุรกิจต่อเนื่องได้อย่างไม่สิ้นสุด