ชาญชัย คหาปนะ
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ
ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ

บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรืออุปกรณ์พลาสติกจัดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน การผลิตพลาสติกจากทั่วโลกมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2493 ที่อัตราการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็นมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี ทำให้ในปัจจุบันมีพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนถึง 9 พันล้านเมตริกตัน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นผลกระทบระยะยาวในระบบนิเวศน์ทั้งทางบกและทะเล

ในแต่ละปีขยะพลาสติกจากทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร มีเพียงร้อยละ 5 ที่เห็นเป็นชิ้นส่วนลอยในทะเล ส่วนที่เหลือนั้นจมอยู่ใต้มหาสมุทร ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในทะเล จากที่ทราบกันดีว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก มีความคงสภาพสูง จึงส่งผลให้ขยะพลาสติกที่ตกค้างในทะเลใช้เวลาในการย่อยสลายอยู่ในช่วง 10 – 600 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของพลาสติก

ไมโครพลาสติก หมายถึง พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกขนาดเล็กโดยตรง เช่น เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางที่เป็นเม็ดสครับ (microbeads) ใยเสื้อผ้า หรือในการผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้โดยการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลสู่ทะเล เช่น กรณีของสครับที่ใช้ในโฟมล้างหน้า หรือเส้นใยจากผ้าใยสังเคราะห์จากการทิ้งน้ำซักผ้า เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง มาจากพลาสติกที่ใช้อยู่ทั่วไป เกิดการฉีกขาดจากปัจจัยต่างๆ เช่น แสง ความชื้น พลังงานจากคลื่น หรือสิ่งมีชีวิตในทะเล จนเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็กและตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมาก ยากต่อการเก็บและการกำจัด ประกอบกับมีคุณสมบัติที่คงสภาพย่อยสลายได้ยาก จึงง่ายที่จะปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การทิ้งขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถเกิดการย่อยสลาย มีการแตกหักเป็นอนุพันธ์ของไมโครพลาสติก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน

ในปัจจุบัน โลกตื่นตัวกับปัญหาและภัยอันตรายจากการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในทะเล ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งในกรณีเป็นตัวนำสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานถึงผลการสำรวจขยะที่ถูกทิ้งลงในทะเลทั้งในมหาสมุทรลึกไปจนถึงแผ่นน้ำแข็งทวีปอาร์กติกที่ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก มีความเสี่ยงสูงมากที่สัตว์น้ำกว่า 700 สายพันธุ์ในทะเลจะกินขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกเหล่านั้นเข้าไป ยิ่งไปกว่านี้ มีรายงานการตรวจพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติก อาทิ สารกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) พอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ปิติพงษ์และคณะ (2559) ตรวจพบไมโครพลาสติกในหอยเสียบและหอยกระปุก ในลักษณะที่เป็นเส้นใยมากที่สุด คาดว่ามาจากอุปกรณ์การทำประมง เช่น อวน ตาข่าย เอ็น และเชือก ดังนั้น การที่เรารับประทานสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเข้าไปก็อาจมีโอกาสที่จะได้รับสารที่ปนเปื้อนเข้าไปได้ แม้ว่ายังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันถึงไมโครพลาสติกที่ตกค้างในสัตว์น้ำก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงจากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร แต่จากผลการศึกษาที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลและในสัตว์ทะเลของประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องกำหนดมาตรการหรือตระหนักในการลดปัญหาเหล่านี้ อาทิ ลดปริมาณขยะทะเลจากแหล่งต่างๆ เช่น ชุมชนชายฝั่ง การประมง การท่องเที่ยว และกลุ่มวิสาหกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น โดยมีการบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน

ไมโครพลาสติกที่อยู่ภายในตัวของปลา

ที่มา:

PlasticsEurope Market Research Group (PEMRG) / Consultic Marketing & Industrieberatung GmbH

IUCN (International Union for Conservation of Nature). Marine Plastics. 2018.

Laura Parker. 2015. ‘Eight Million Tons of Plastic Dumped in Ocean Every Year’ เข้าถึงได้จาก http://news.nationalgeographic. com/news/2015/02/150212-ocean-debris-plastic-garbage-patches-science/

Katsnelson, K. 2015. New feature: microplastics present pollution puzzle. Proc Natl Acad Sci 112 (18): 5547–5549. Published online 2015 May 5. doi: 10.1073/pnas.1504135112

Rochman CM, Hoh E, Hentschel BT, Kaye S. Long-term field measurement of sorption of organic contaminants to five types of plastic pellets: Implications for plastic marine debris. Environ Sci Technol. 2013;47(3):1646–1654.

Applications / Sectors

http://ecowatch.com/2016/06/03/microplastics-kill-baby-fish/

ปิติพงษ์ ธาระมนต์ และคณะ. (2559).การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในหอยสองฝาบริเวณชายหาดเจ้าหลาวและชายหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี.แก่นเกษตร 44 ฉบับพิเศษ 1.738-744.

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ภาพประกอบจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/

        ในปัจจุบันสภาพอากาศเสีย น้ำเสีย และดินปนเปื้อนด้วยมลพิษกำลังคุมคามผู้คนในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก แม้เทคโนโลยีในการบ่งชี้มลพิษที่คอยเตือนให้มนุษย์เราระวังอันตรายจากมลพิษต่างๆ จะก้าวหน้าขึ้น แต่เราก็ไม่ควรที่จะละเลยสิ่งเตือนภัยทางธรรมชาติจากมลพิษที่มีมาช้านานอย่างเจ้าสัตว์ตัวจ้อยต่างๆ เพราะเจ้าสัตว์จ้อยเหล่านี้ คือ ดรรชนีทางชีวภาพ (bio-indicators หรือ bio-monitors) ที่แท้จริง เพราะมันมีข้อ  ดีที่จะใช้เป็นตัวดรรชนีบ่งบอกระดับมลพิษในสิ่งแวดล้อมหลายประการ เนื่องจากพวก มันได้รับมลพิษเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลาและมันยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเคมีนั้น ต้องทำโดยการเก็บตัวอย่างที่ถูกเวลาและสถานที่เท่านั้น จึงจะสามารถวิเคราะห์มลพิษได้ แต่สำหรับพวกสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้รับมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย พวกมันจะแสดงพฤติกรรมหรืออาการที่เกิดจากมลพิษให้เห็นภายนอกลำตัวได้ง่าย อีกทั้งการประเมินการสะสมของมลพิษในสิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหารของพวกมันก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ปริมาณมลพิษที่สะสมอยู่เนื้อเยื่อของพวกมันจะมีปริมาณสูงเพียงพอที่จะตรวจได้นาน แม้ว่าบางครั้งมลพิษในสภาพแวดล้อมจะสูญหายไปแล้ว

         สำหรับตัวอย่างของสัตว์ที่เคยมีการทดลองใช้และพบว่าได้ผลดีในการตรวจหาปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ก็ได้แก่

  • แมลงน้ำ ปลา และลูกอ๊อด ถูกใช้วิเคราะห์หาจุดกำเนิดของมลพิษในลำน้ำและหาโลหะหนักบางชนิดที่ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำ เช่น ตะกั่ว โมลิบดีนัม
  • ไส้เดือน ใช้บ่งชี้มลพิษปนเปื้อนในดิน โดยมันจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น ชัดบนผิวหนัง
  • ผึ้ง จะถูกใช้ในการหามลพิษและสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ อาหาร และบนพืช เพราะมันมีขนละเอียดบนลำตัวที่มีคุณสมบัติเป็นไฟฟ้าสถิต ทำให้ดึงดูดฝุ่นละอองและมลพิษให้ติดอยู่บนลำตัวได้ดี ทั้งยังสะดวกในการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ได้ทีละเป็นจำนวนมาก
  • หอย ถูกใช้ในการวิเคราะห์หาธาตุรอง (trace element) เช่น แคดเมียม โครเมียม และทองแดง รวมทั้งยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ และปริมาณแบคทีเรียในน้ำ โดยเฉพาะหอยสองฝาที่อยู่กับที่บนพื้นน้ำและกินอาหารโดยการกรองผ่านเหงือก
  • ปลา ถูกใช้ในการวิเคราะห์ความเข้มข้นของมลพิษในแหล่งน้ำ โดยสังเกตจากการผิดปกติบนผิวลำตัว หรือจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือวิเคราะห์จากเนื้อเยื่อของมันโดยตรง
  • นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ถูกใช้ตรวจสอบปริมาณมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจเลือด มูลและอวัยวะภายใน เช่น ตับ หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกและสัตว์ที่กินแมลงเป็นอาหาร ซึ่งมีอัตราการเผาผลาญในร่างกายสูง จึงกินอาหารจุกว่าสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามาก

       นอกจากสัตว์แล้วพืชหลายก็ชนิดสามารถใช้เป็นดรรชนีบ่งชี้ปริมาณและชนิดของมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดีเช่นเดียวกัน เช่น ไลเคนส์ ใช้วัดปริมาณมลพิษในอากาศ และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาธรรมชาติเพื่อช่วยในการปกป้องธรรมชาติด้วยกัน

อ้างอิงจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ขอบคุณภาพประกอบจากhttps://intothegloss.com/2015/12/microbeads-in-beauty-products/

ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดต่างๆ เช่น ครีมอาบน้ำ เจลหรือโฟลล้างหน้า ยาสีฟัน โดยอ้างว่าใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดนั้น เป็นภัยเงียบต่อสิ่งแวดล้อมมาช้านาน เนื่องจากพวกมันมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลิเมตร หรือแทบจะเล็กกว่าเม็ดทรายเสียอีก ดังนั้นพวกมันจึงถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำและสามารถเล็ดลอดจากการระบบบำบัดน้ำเสียลงไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติเช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือแม้แต่ท้องทะเลได้อย่างไม่ยากนัก

เมื่อเจ้าไมโครบีดส์จำนวนมหาศาลหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร โดยพวกมันจะถูกกินเข้าไปโดยสัตว์น้ำต่างๆ เนื่องจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร  และสัตว์น้ำก็อาจถูกกินโดยสัตว์อื่นๆ เช่น นก ซึ่งนั่นก็ทำให้ไมโครบีดส์ต่างๆ เหล่านี้ถูกสะสมอยู่ในตัวสัตว์ต่างๆ และเมื่อเรารับประทานสัตว์น้ำที่กินไปไมโครบีดส์เข้าไป เจ้าไมโครบีดส์ก็จะย้อนกลับเข้ามาสะสมในร่างกลายของเราในที่สุด และสิ่ง  ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ระหว่างทางที่เจ้าไมโครบีดส์ เดินทางผ่านท่อระบายน้ำลงสู่แหล่ง น้ำ ตัวมันจะดูดซับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคหลากหลายชนิดเอาไว้ ซึ่งทำให้มันสกปรกและมีเชื้อโรคมากกว่าในแหล่งน้ำรอบตัวมันเสียอีก ซึ่งเมื่อร่างกายของเรามีปริมาณไมโครบีดส์ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคมากขึ้น ก็จะทำให้เราเจ็บป่วยในที่สุด

นอกจากนี้งานวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ไมโครบีดส์นั้น ไม่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดเลย และการหลุดรอดของเม็ดไมโครบีดส์สู่แหล่งน้ำในรัฐนิวยอร์กเพียงรัฐเดียว คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 19 ตันต่อปี และเมื่อไมโครบีดส์อยู่ในแหล่งน้ำ มันจะดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะพอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายโดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นสารก่อมะเร็ง  เห็นไหมว่า ไมโครบีดส์นี้นับได้ว่า เป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเทศได้มีการยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์เหล่านี้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ แล้ว  สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์อย่างจริงจัง แต่เราในฐานะผู้ซื้อก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

อ้างอิงจาก https://intothegloss.com/2015/12/microbeads-in-beauty-products/

มลพิษในดิน

>>> โดย  ปฐมสุดา อินทุประภา (กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร)

และ ชลธิชา นิวาสประกฤติ  (ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์) <<<

          มลพิษในดินเกิดจากการปนเปื้อนของสารเคมีและมลพิษต่างๆ ในปริมาณที่สูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งพืช สัตว์ มนุษย์  และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมลพิษในดินทำให้พื้นที่การเกษตรหลายแห่งในหลายประเทศประสบกับปัญหาหน้าดินแตกระแหง ซึ่งเกิดจากหลายหลากสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการเกษตร การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่ผิวดิน การรั่วซึมของสารเคมีจากการฝังกลบขยะ การรั่วไหลของน้ำมันจากยานพาหนะและเครื่องจักรกลการเกษตร การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี และสภาวะฝนกรด ภาวการณ์ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ดินมีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้ดินขาดธาตุอาหารและไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก

          มลพิษในดินที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะส่งผลต่อการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

toxic-waste-2089779_1920ผลกระทบต่อมนุษย์

          สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสารเคมีปนเปื้อนเหล่านี้หากสะสมในร่างกายในปริมาณหนึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างมะเร็งได้ การสัมผัสดินที่มีสารเคมีปนเปื้อนตกค้างอย่างเบนซินและพอลิคลอริเนตไบฟีนีลเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตับได้  ผลกระทบจากมลพิษในดินยังสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ทางอ้อมแม้ว่าเราจะไม่ได้สัมผัสกับดินโดยตรง ซึ่งเกิดจากการใช้ดินที่มีสารเคมีหรือโลหะหนักปนเปื้อนในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร พืชจะดูดซับสารเคมีและโลหะหนักเหล่านั้นมาเก็บไว้ เมื่อเรานำพืชผลทางการเกษตรเหล่านั้นมาบริโภคก็จะทำให้สารเคมีและโลหะหนักเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย สารโลหะหนักส่วนใหญ่ที่พบตกค้างอยู่ในดินและก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ได้แก่ สารตะกั่วและสารปรอท สารสองตัวนี้หากสะสมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตับและไตearthworm-686593_1280-2

ผลกระทบต่อสัตว์  

         สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวเป็นข้อปล้อง (arthropods)  และจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ทำให้วงจรห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย ผู้ผลิตไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ผู้บริโภคในแต่ละลำดับขั้นของห่วงโซ่อาหารขาดแหล่งอาหาร เป็นสาเหตุการตายและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในแต่ละลำดับชั้นของห่วงโซ่อาหารในที่สุด

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

farmland-801817_1920          สารเคมีที่ตกค้างและปนเปื้อนอยู่ในดินนั้น สามารถก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำได้ การเกิดมลพิษทางอากาศจากสารเคมีที่ตกค้างในดินเกิดจากการระเหยตัวของสารประกอบต่างๆ เช่น ก๊าซไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งสารสองชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก  นอกจากนี้การระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์ยังก่อให้เกิดภาวะฝนกรด ซึ่งเมื่อตกลงสู่พื้นดินจะทำให้พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ได้รับผลกระทบทางด้านเคมี มีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก  ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรด้อยคุณภาพลง การเกิดมลพิษทางน้ำจากสารเคมีจำพวกไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่ตกค้างในดิน หากสารสองชนิดนี้มีในปริมาณมากเกินและถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้พืชน้ำขาดออกซิเจนและตายในที่สุด เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศในน้ำ สารปนเปื้อนในดินยังส่งผลให้สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย

          ปัญหามลพิษในดินนั้น เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยดินในการเพาะปลูก มีการคาดการณ์ว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรมนุษย์จะเพิ่มมากขึ้นอีกราว 2 พันล้านคน จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรอย่างน้อยประมาณ 40% ให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น  แต่เนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมแก่การเพาะปลูกนั้นเหลืออยู่ประมาณ 11% บนพื้นผิวโลกเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ดินและหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการเกิดมลพิษทางดิน

แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง Soil Pollution http://www.everythingconnects.org/soil-pollution.html