ธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ
พงศกร นิตย์มี
สถานีวิจัยลำตะคอง ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร

 

     พืชมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยบนพื้นพิภพแห่งนี้ เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ได้โดยตรง โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาหารในรูปของเมล็ด ใบ ลำต้น ดอก รากและผล นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในทางอ้อมต่อมนุษย์ เช่น การใช้เป็นยารักษาโรค ใช้เป็นที่อยู่อาศัย  เป็นแหล่งพลังงาน เป็นต้น นอกจากนั้นพืชยังเป็นศูนย์กลางในระบบนิเวศต่างๆ ทั้งมวล เช่น การควบคุมสภาพภูมิอากาศ การดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ  ความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งความบริสุทธิ์ของน้ำและอากาศ

     พืชมีความหลากหลายโดยอยู่ในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น สาหร่าย ลิเวอร์เวิร์ต มอส เฟิร์น และพืชที่มีเมล็ด โดยพืชที่มีเมล็ดมีบทบาทมากที่สุดต่อชีวิตของมนุษย์  แต่กลับเป็นกลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุด ประเมินกันว่า มากกว่า 80,000 ชนิด (ประมาณร้อยละ 20 ของพืชทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก) กำลังถูกคุกคาม โดยสาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจากความสมดุลของระบบนิเวศลดลง การเข้ารุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการใช้ประโยชน์ที่มากเกินไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ภัยจากการคุกคามนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและสำคัญมากในศตวรรษนี้ เนื่องจากความหลากหลายของพืชส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์โดยตรง ทั้งในด้านพลังงาน อาหาร และยารักษาโรค โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 80 ของพืชที่มนุษย์บริโภคคิดเป็นชนิดของพืชเพียง 12 ชนิดเท่านั้น  คือ ธัญพืช 8 ชนิด และพืชหัว 4 ชนิด ที่เป็นแหล่งอาหารหลักของมนุษย์ ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของประชากรมนุษย์และความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ

     การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ จัดเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการอนุรักษ์ความหลากหลายของชนิดพืชในศตวรรษนี้  เพราะสามารถเก็บรวบรวมความหลากหลายได้ในปริมาณมาก ใช้ต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิผล ซึ่งการใช้เทคโนโลยีนี้ถูกเริ่มนำมาใช้เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายในการเก็บรักษาความแปรปรวนของพืชปลูกเพียงไม่กี่ชนิดสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ แต่ในช่วงสองทศวรรษให้หลัง องค์ความรู้เหล่านั้นถูกนำมาขยายผลเพื่อการอนุรักษ์พรรณพืชป่า  เพื่อใช้เป็นแหล่งปลูกป่าและสร้างระบบนิเวศใหม่ ทำให้พืชที่สูญหายไปได้มีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม  และการสร้างประชากรพืชในพื้นที่ใหม่ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้ในอนาคต    นอกจากนั้นการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชป่ายังมีประโยชน์มากในการพัฒนาพันธุ์พืชปลูกส่งผลต่อพืชปลูก โดยการถ่ายทอดลักษณะต่างๆ ไปยังพืชปลูกได้โดยง่าย

     ประเทศไทยเองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายของชนิดพืช และในปี พ.ศ. 2557 โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) ได้จัดการประชุมครั้งที่ 16  ณ สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) สหราชอาณาจักร ในการนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุม และทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ส่วนหนึ่งที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยมาก คือ ธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ (Millennium Seed Bank) เนื่องด้วยพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของพรรณพืชป่า รวมถึงชนิดพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับพันธุ์ปลูก ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ปลูกได้ จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยกับหน่วยงานธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ  เกิดเป็นโครงการความร่วมมือเก็บเมล็ดพันธุ์พืชป่า ชนิดใกล้เคียงพืชปลูกในประเทศไทย โดยจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชป่า ที่เป็นชนิดใกล้เคียงพืชปลูกจำนวน 70 ชนิด และจัดส่งไปเก็บรักษาที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ เพื่อเป็นแหล่งสำรองเชื้อพันธุกรรมของประเทศไทย ในกรณีที่พรรณพืชของประเทศไทยสูญพันธุ์หรือหายไปจากแหล่งเดิม ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งสำรองเชื้อพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช
b1

     ธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ (MSB) ได้จัดตั้งพันธมิตรธนาคารเมล็ดแห่งสหัสวรรษ (Millennium Seed Bank Partnership, MSBP) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการปกป้องความหลากหลายของพรรณพืชป่า ที่อาจเกิดจากภัยพิบัติต่างๆ ที่จะมีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือจากพันธมิตรทั่วโลก ประกอบด้วย  123 สถาบันจาก 54 ประเทศ ได้ดำเนินงานโดยการกำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานทั้งในระดับนานาชาติและจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ วิธีการและความร่วมมือที่ถูกพัฒนาขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยีและความรู้ที่ล้ำอนาคต ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของความร่วมมือเกี่ยวกับพันธมิตรธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ (MSBP) โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบัน นั่นคือ แนวปฏิบัติในการสร้างทุนทางปัญญา สร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
b2

     ในส่วนของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ได้พัฒนาการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชป่า ในช่วงปี พ.ศ. 2503 ถึงปี พ.ศ. 2517  และได้ย้ายกิจกรรมธนาคารเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดไปที่เวคเฮิร์ต เพลส (Wakehurst Place) โดยในช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึงปี พ.ศ. 2535 โดยงานทางด้านธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช  ในระยะแรกส่วนใหญ่จะเน้นในด้านการอนุรักษ์ชนิดพรรณพืชท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร และพืชจากระบบนิเวศที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งจากทั่วโลก (arid and semi-arid) โดยได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการวิจัยเมล็ดพันธุ์ จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2539 โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษถูกก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการแห่งสหัสวรรษ โดยมีภารกิจหลักเพื่อการอนุรักษ์พรรณไม้ของสหราชอาณาจักรเกือบทั้งหมด และอีก 24,200 ชนิด จากพื้นที่ในเขตแห้งแล้งจากทั่วโลก จัดเก็บในสถานที่แห่งใหม่ (ต่อมาเรียกว่าอาคารหลังนี้ว่า Welcome Trust Millennium Building) โดยใช้ค่าจ่ายไปจำนวน 73 ล้านปอนด์ เสร็จในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2553 โดยงบประมาณขยายผลไปถึงความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในหลายประเทศ   ปัจจุบันได้มีการรวบรวมชนิดพรรณพืชป่าประมาณ  13% ของชนิดพรรณพืชป่าที่มีอยู่ในโลก  และใน พ.ศ. 2565  คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น  20% มีจำนวนเมล็ดพันธุ์ประมาณ 75,000 ชนิด ซึ่งอยู่ภายใต้ภารกิจของโครงการนี้

ที่มา: ไม่ปรากฏผู้แต่ง.ม.ป.ป. Kew’s UK Native Seed Hub. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttp://www.kew.org/business-centre/welcome-uk-native-seed, [เข้าถึงเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2559].