สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวหลายชนิดมากขึ้น จากการนำเข้าสายพันธุ์เห็ดเขตหนาวจากต่างประเทศ เช่นเห็ดชิเมจิ เห็ดนางรมหลวง เห็ดนาเมโกะ เห็ดซึงิตาเกะ เห็ดนางรมดอย เห็ดปุยฝ้าย เห็ดนางรมทอง เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหูหนูเผือก และเห็ดไมตาเกะ มาศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงที่ ศูนย์วิจัยเห็ดเขตหนาวดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิโครงการหลวงมอบหมายให้ วว. ดำเนินการวิจัย พัฒนา ทดสอบการเพาะเห็ดในระบบควบคุม หรือระบบปิดโดยควบคุมอุณหภูมิด้วยเครื่องทำความเย็น เพื่อทดลองตลาดผ่ายฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง เห็ดเขตหนาว และกึ่งเขตหนาว เห็ดบางชนิดได้ขยายผลสู่เกษตรกรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (ระบบปิดแบบประยุกต์) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นต้น ซึ่งระบบการผลิตด้วยระบบปิดแบบประยุกต์นี้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการเปิดดอกได้ดีกว่าการเพาะเห็ดระบบเปิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอุณหภูมิในโรงเรือนเปิดดอกให้ต่างจากอุณหภูมิภายนอกได้ถึง 5-6 องศาในฤดูร้อน ทำให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง สามารถผลิตเห็ดกระดุมนอกฤดูกาลได้ จากการใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิด้วยน้ำ

     งานพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดของมูลนิธิโครงการหลวง เน้นการผลิตในระบบคุณภาพมาตรฐานสากล หรือระบบ GAP หรือ Global GAP การวิจัยและพัฒนาการเพาะเห็ดชนิดใหม่ๆ และการนำเห็ดจากป่าธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกป่าเพื่อใช้สอยและสร้างรายได้จากการเพาะเห็ดในป่าธรรมชาติ รวมทั้งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอินทรีย์ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศและตลาดในประเทศ