ลองกองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นพืชหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจและนิยมปลูกกันมากแหล่งปลูกที่สำคัญของไทยคือ ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ปัตตานี ระนอง สงขลา พังงา และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด ที่เหลือเป็นส่วนภาคอื่นๆ เช่น อุตรดิตถ์ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักนิยมปลูกเพื่อบริโภคภายในประเทศ จะมีการส่งออกต่างประเทศบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสภาพปัญหาผลผลิตคุณภาพต่ำและการหลุดร่วงของผลจากช่อ รวมทั้งการเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเร็ว โดยสีผิวจะเปลี่ยนจากสีเหลืองนวลเป็นสีน้ำตาลไหม้ ตลอดจนมีอาการผลเน่าเร็ว

      ลองกองเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของมนุษย์ การรับประทานลองกองเป็นประจำก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน ป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนในขึ้นภายในปากอีกด้วย ลองกองมีเมล็ดน้อยหรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ลองกองแห้ง ลองกองน้ำ ลองกองปาลาแม หรือลองกองแปร์แมร์

      แม้ว่าลองกองจะจัดเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี แต่เพราะประสบปัญหาราคาตกต่ำเนื่องจากล้นตลาด จึงมีแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปลองกอง โดยต้องการให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าให้กับลองกอง เนื่องจากการบริโภคสดหรือการแปรรูปโดยการทำแห้ง ทำให้ลองกองมีมูลค่าไม่สูงมากนักแต่ถ้านำมาแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

      ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลองกอง ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูกาล และช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตนอกฤดูกาลให้มีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อันจะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยแบ่งกิจกรรมได้ดังนี้

  1. วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง โดยควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้ตรงตามข้อกำหนด  GAP จนได้ออกมาเป็น น้ำลองกองเข้มข้น, น้ำลองกองพร้อมดื่มเสริมสุขภาพ , ลองกองในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง และลองกองแช่อิ่มอบแห้ง
  2. วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบแปรรูปการผลิตภัณฑ์และ/ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง จนได้ เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง และเครื่องสกัดน้ำลองกอง
  3. วิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ  บรรจุผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง ในลักษณะของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาคุณภาพด้าน  สี  กลิ่น รส และคุณค่าทางโภชนาการให้คงอยู่กับผลิตภัณฑ์
  4. ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์และ/หรือลองกองสำเร็จรูปเพื่อการศึกษาทดลองผลิตภัณฑ์  ทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์
  5. ศึกษาประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชน   เกษตรกรชาวสวนที่ปลูกลองกอง

     

     วานิลลาเป็นพืชวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) ฝักเมื่อนำไปบ่มมีกลิ่นหอมของวานิลลิน มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบตะวันออกของทวีปอเมริกากลาง มีรายงานว่า มีมากถึงกว่า 200 สายพันธุ์ การกระจายพันธุ์อยู่ในเขตเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือ-ใต้ของเส้นศูนย์สูตร สายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางการค้ามีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์คือ

  1. Vanilla planifolia (Andrews.)
  2. วานิลลอน Vanilla pompona
  3. วานิลลาตาฮิติ Vanilla tahaitensis

     ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุดคือ Vanilla planifolia (Andrews.) เรียกกันว่า วานิลลาพันธุ์การค้า

     ประเทศไทยมีวานิลลาพื้นเมืองขึ้นกระจายอยู่ 4 สายพันธุ์คือ

  1. พลูช้าง หรือตองผา Vanilla siamensis Rolfe ex Kownie
  2. เอาะลบ Vanilla albida Blume
  3. สามร้อยต่อใหญ่ หรือ งด Vanilla pilifera Holttum
  4. เถางูเขียว Vanilla aphylla Blume.

     ประเทศไทยรู้จักนำวานิลลาพันธุ์การค้าเข้ามาปลูกกว่า 30 ปีแล้ว โดยได้ปลูกทดลองในสถานีทดลองต่างๆของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร์และสหกรณ์

     สำหรับ มูลนิธิโครงการหลวงนั้น ได้ศึกษาทดลองการปลูกวานิลลาพันธุ์การค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ศึกษาทดลองครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ตำบลเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่า มีการเจริญเติบโตของวานิลลาพื้นเมือง (พลูช้าง) Vanilla simensis Blumes. ขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติ จึงได้นำวานิลลาพันธุ์การค้า (Vanilla planifolia Andrews.) มาทดลองปลูกเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต ภายใต้ร่มเงาต้นไม้ป่าธรรมชาติ และซาแรนพรางแสง 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีและสามารถให้ดอกในปีที่ 3 ของการปลูกด้วยต้นกล้าจากการปักชำต้น และจะออกดอกประมาณปลายเดือนมีนาคม ถึง เมษายน โดยจะเร็วกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 1 เดือน เนื่องจากวานิลลาเป็นพืชเลื้อยสามารถมีอายุข้ามปีได้หลายปี จึงมีการศึกษาถึงวัสดุที่ใช้ทำค้างเกาะ ทั้งค้างมีชีวิต คือ ต้นไม้ที่ใบสามารถพรางแสงได้ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ (ต้น Facultalia ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว) และค้างเกาะซีเมนต์ พบว่าการใช้ค้างซีเมนต์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทีสุดในการปลูกวานิลลาเชิงการค้า นอกจากนี้การเปรียบเทียบการใช้วัสดุคลุมดินด้วยกาบมะพร้าวสับ พืชตระกูลถั่ว และหญ้า นั้นไม่พบความแตกต่างในการเจริญเติบโตของวานิลลา

     สำหรับการศึกษาการบ่มฝักวานิลลาพบว่าการประยุกต์วิธีการบ่มฝักของประเทศมาดากาสก้าร์โดยผ่านกระบวนการบ่มหลักๆ 4 ขั้นตอน คือ

  1. Killing
  2. Sweating
  3. Slow drying
  4. Conditioning

     สามารถทำให้ฝักวานิลลามีกลิ่นหอม สีของฝักเป็นสีช็อคโกเล็ตเข้ม ฝักมีความนุ่ม ความชื้นประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ เมื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารวานิลลิน พบว่ามีประมาณ 2.21 เปอร์เซ็นต์ ทัดเทียมกับต่างประเทศ ที่ผิวฝักพบผลึกสีขาวใสของวานิลลิน หรือเรียกกันว่า frost เกาะอยู่ ซึ่งบางประเทศใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพฝักวานิลลาที่ดี

     ในปี 2549 ได้มีการศึกษาทดลองปลูกในโรงเรือนพลาสติกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ระดับความสูง 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พบวาสามารถให้ผลผลิตสูง และให้ผลผลิตต่อเนื่องทุกปี ฝักที่บ่มมีปริมาณสารวานิลลิน สูงถึงประมาณ 2.40 เปอร์เซ็นต์ แต่การสุกแก่ของฝักจะประมาณ 12 เดือน ซึ่งนานกว่าที่ศูนย์ป่าเมี่ยงประมาณ 2 เดือน ทำให้คาบเกี่ยวกับการออกดอกรุ่นใหม่ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถตัดแต่งทรงต้นหลังเก็บเกี่ยวได้

     จากการศึกษาดังกล่าว มูลนิธิโครงการหลวงได้ขยายผลการวิจัยสู่การผลิตเชิงการค้าโดยส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง 8 ราย ปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก ผ่านการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และเกษตรกร 4 รายปลูกในระบบโรงเรือนพรางแสงที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

    สำหรับผลผลิตจากการศึกษาทดลองวานิลลานั้นได้ส่งจำหน่ายในรูปฝักวานิลลาบ่มผ่านฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง และทดลองผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเมนูอาหาร เช่น น้ำเชื่อมวานิลลา น้ำเลมอนผสมวานิลลา และฟักทองวานิลลา ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ภายใต้แนวคิดว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ผลิตมากขึ้นจะทำให้มีผลผลิตฝักวานิลลาบ่มที่ผ่านกระบวนการบ่มที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นต่อไป โดยได้ขยายงานการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไปยังศูนย์ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (เป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาการผลิตวานิลลา) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ และพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง บ้านโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน เป็นต้น

    ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเพื่อลดระยะเวลาการบ่มฝัก หรือ การพัฒนาสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคเน่าจากเชื้อรา และพัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถให้ดอกผสมตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนช่วยผสมดอก นับว่ามีความจำเป็นในการปลูกวานิลลาเชิงการค้าของประเทศไทยและของโลก

     สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวหลายชนิดมากขึ้น จากการนำเข้าสายพันธุ์เห็ดเขตหนาวจากต่างประเทศ เช่นเห็ดชิเมจิ เห็ดนางรมหลวง เห็ดนาเมโกะ เห็ดซึงิตาเกะ เห็ดนางรมดอย เห็ดปุยฝ้าย เห็ดนางรมทอง เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหูหนูเผือก และเห็ดไมตาเกะ มาศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงที่ ศูนย์วิจัยเห็ดเขตหนาวดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิโครงการหลวงมอบหมายให้ วว. ดำเนินการวิจัย พัฒนา ทดสอบการเพาะเห็ดในระบบควบคุม หรือระบบปิดโดยควบคุมอุณหภูมิด้วยเครื่องทำความเย็น เพื่อทดลองตลาดผ่ายฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง เห็ดเขตหนาว และกึ่งเขตหนาว เห็ดบางชนิดได้ขยายผลสู่เกษตรกรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (ระบบปิดแบบประยุกต์) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นต้น ซึ่งระบบการผลิตด้วยระบบปิดแบบประยุกต์นี้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการเปิดดอกได้ดีกว่าการเพาะเห็ดระบบเปิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอุณหภูมิในโรงเรือนเปิดดอกให้ต่างจากอุณหภูมิภายนอกได้ถึง 5-6 องศาในฤดูร้อน ทำให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง สามารถผลิตเห็ดกระดุมนอกฤดูกาลได้ จากการใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิด้วยน้ำ

     งานพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดของมูลนิธิโครงการหลวง เน้นการผลิตในระบบคุณภาพมาตรฐานสากล หรือระบบ GAP หรือ Global GAP การวิจัยและพัฒนาการเพาะเห็ดชนิดใหม่ๆ และการนำเห็ดจากป่าธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกป่าเพื่อใช้สอยและสร้างรายได้จากการเพาะเห็ดในป่าธรรมชาติ รวมทั้งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอินทรีย์ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศและตลาดในประเทศ