เห็ดเมืองหนาว Mushroom Cultivation

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด

>> เรียบเรียง โดย นพวรรณ  หาแก้ว <<<

 

 

          ในทางการเกษตรเห็ดจัดเป็นอาหารประเภทผักชนิดหนึ่ง  แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น เห็ดจัดเป็นราชนิดหนึ่ง  เห็ดมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง  เนื่องจากมีโปรตีนกากใยอาหารสูง  ปราศจากไขมัน  ปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ  รวมทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิดรวมทั้งวิตามินบีรวม  และสารไนอาซิน ซึ่งช่วยควบคุมระบบย่อยอาหาร  นอกจากนี้อะมิโนหลายชนิดในเห็ดทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นประสาทการรับรู้รสอาหารของลิ้นให้ไวกว่าปกติ ดังนั้นเห็ดจึงจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของมนุษย์มีคุณสมบัติเป็นยาป้องกันและรักษาโรค  นอกจากนี้เห็ดบางชนิดยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อความงามด้วยตัวอย่างประโยชน์ของเห็ดทางการแพทย์  เช่น  เห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า  สามารถช่วยป้องกันโรคหวัดและช่วยการไหลเวียนเลือด  เห็ดเข็มทองช่วยบำรุงตับกระเพาะและลำไล้  เห็ดหอมช่วยลดไขมันในเสนเลือด  เพิ่มภูมิคุ้มกัน  บำรุงกระดูกและฟัน  เห็ดฟางมีวิตามินสูง  ช่วยลดความดัน  และช่วยเร่งสมานแผล  เห็ดหลินจือที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ  ช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  เห็ดเข็มทองช่วยบำรุงตับ กระเพาะและลำไส้  และเห็ดหูหนูที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน  รักษาโรคกระเพาะและริดสีดวง  เป็นต้น

          ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของเห็ด  จึงได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการดำเนินวิจัยและพัฒนาเห็ดของ วว. นั้นประกอบด้วยการวิจัยหลักๆ ทั้งสิ้น 4 สาขาคือ เทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยว (preharvest)  เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (postharvest)  การวิจัยและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเห็ด (R&D product)  และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transferring, consultancy and training services)  หนึ่งในงานที่ประสบผลสำเร็จของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรกับการวิจัยด้านเห็ดทางด้านเทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยวคือ การพัฒนาสายพันธุ์เห็ดยานางิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นเห็ดเมืองหนาว  ให้สามารถเพาะได้ในพื้นที่ราบหรือภาคกลางได้ โดยดั้งเดิมนั้นเห็ดสายพันธุ์นี้สามารถเปิดดอกในที่อุณหภูมิต่ำเท่านั้น  หรือเพาะได้เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย    ส่งผลให้ผลิตผลของเห็ดดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการตลอดทั้งปี    ซึ่ง ดร.ธนภักษ์ อินยอด และคณะ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดเมืองหนาว สำหรับกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้คือ การกระตุ้นให้เห็ดยานางิสายพันธุ์เดิมนั้นเกิดการกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา  โดยเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการคือ เห็ดยานางิที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนเดิมทุกประการ  แต่สามารถเพาะในพื้นที่ราบซึ่งมีอุณหภูมิสูงได้  จากการวิจัยและพัฒนานี้ทำให้สามารถได้เห็ดยานางิสายพันธุ์ที่สามารถเปิดดอกในที่อุณหภูมิสูงได้ทั้งหมด 5 สายพันธุ์  จึงนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ วว. อีกครั้งหนึ่ง

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การเปิดดอกเพื่อทดสอบสายพันธุ์เห็ดเทียบกับสายพันธุ์ควบคุม

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่น ด้วยรังสีแกมมาเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบ

          นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรได้จัดงานสัมมนาวิชาการภายในขึ้น โดยมีนักวิจัยในฝ่ายมาแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรกันอย่างหลากหลาย ดร.คนึงนิจ บุศราคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บรรยาย ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มดำเนินงานวิจัยทางด้านเห็ดขอวง วว. ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512   โดยแต่เดิมนั้น ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรมีศูนย์ประสานงานเกษตรที่สูงที่รับผิดชอบในการนำเข้าเห็ดเมืองหนาวเข้ามาเพาะในพื้นที่ภาคเหนือของไทย  ซึ่งเห็ดที่นำเข้ามาเพาะได้แก่ เห็ดหอม  เห็ดกระดุม  เห็ดภูฐาน  เห็ดเข็มทอง  เห็ดเป๋าฮื้อ  และเห็ดยานางิ  โดยระหว่าง พ.ศ. 2512-2540 ซึ่งเป็นระยะแรกของการดำเนินงานด้านเห็ดนั้น วว. มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการและการพัฒนาวัสดุปลูกให้เหมาะสมต่อเห็ดแต่ละชนิดเพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้บนพื้นที่ภาคเหนือของไทย การศึกษาและทดลองในระยะนั้น ทำให้ วว. มีพันธมิตรในการทำวิจัยหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือหน่วยงานราชการอย่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กรมอนามัย  กรมวิชาการเกษตร  กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท สหฟาร์มเห็ด  สวนเห็ดบ้านอรัญญิก  และบริษัทปิยะพรเทคโนโลยีจำกัด เป็นต้น

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
เห็ดเมืองหนาว ที่นำเข้ามาผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีต

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นระยะที่สองของการดำเนินงาน  แนวทางในการวิจัยของ วว. ได้ปรับเน้นไปทางด้านการศึกษาสารสำคัญของเห็ดชนิดต่างๆ ในการป้องกันรักษาโรค  ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเห็ดเศรษฐกิจอย่างครบวงจรและยั่งยืน  โดยในปี พ.ศ. 2548- 2550 วว. มีโครงการบูรณาการด้านวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าเห็ดเศรษฐกิจอย่างครบวงจรและยั่งยืน และในปีพ.ศ. 2557-2559 ได้ดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงโรคเกาต์  ต่อมา วว. ได้เริ่มทำการวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดเมืองหนาว อันได้แก่ เห็ดหอม  เห็ดยานางิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถเพาะปลูกในบริเวณภาคกลางหรือพื้นที่ราบได้ โดยในปี พ.ศ. 2556-2558 ได้เริ่มดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดและระบบการผลิตเห็ดเมืองหนาวในพื้นราบเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกเห็ดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร  ในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562  วว. ได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดพื้นบ้านแบบธรรมชาติในป่าชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน และในปีพ.ศ. 2561-2562 ยังริเริ่มโครงการเทคโนโลยีการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นแบบอินทรีย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศขึ้นอีก

วว. กับการวิจัยด้านเห็ด
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดพื้นบ้านแบบธรรมชาติในป่าชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน

          ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ดร.ตันติมา กำลัง และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเห็ดเพื่อลดความเสี่ยงโรคเกาต์  เนื่องจากองค์ประกอบหลักของเห็ดคือ สารเบต้ากลูแคน (b-glucan) ซึ่งเป็นสารพอลิแซคคาไรด์ (polysaccharide) ที่ลดการอักเสบ  โดยงานวิจัยนี้จะเป็นการพัฒนาเห็ดที่มีสารเบต้ากลูแคนให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการบริโภค  นอกจากนี้ ดร.ตันติมา และคณะ ยังการพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ถังหมัก (fermenter) เพื่อลดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้ผลิตสารดังกล่าวในระยะเวลาที่สั้นลง

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเพื่อลดความเสี่ยงโรคเกาต์

 

          สำหรับงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว  ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกับศูนย์บรรจุหีบห่อไทย วว. ได้ทำการศึกษาและพัฒนาการใช้กล่อง รวมทั้งศึกษาชนิดของพลาสติกต่างๆ ในตลาด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของเห็ดสดหลังจากการเก็บเกี่ยว  ซึ่งปกติแล้วการเสื่อมคุณภาพของเห็ดนั้น เกิดจากการทำงานของเอนไซม์กลุ่มพอลิฟีนอลออกซิเดส (polyphenol oxidase, PPOs) และเพอร์ออกซิเดส (peroxidase)  ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในสภาวะที่มีออกซิเจน (aerobic oxidation) ของสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) เกิดเป็นสารควิโนน (quinone)  ที่มีสีน้ำตาล  ซึ่งทำให้เห็ดกลายเป็นสีน้ำตาล (browning) นั่นเอง   ซึ่งการกลายเป็นสีน้ำตาลนั้น ทำให้เห็ดเสียราคา  และเก็บรักษาได้ไม่นาน

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
ศึกษาและพัฒนาการใช้กล่อง รวมทั้งศึกษาชนิดของพลาสติกต่างๆ ในตลาด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของเห็ดสดหลังจากการเก็บเกี่ยว

          ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริการที่ปรึกษา รวมถึงการฝึกอบรม  ทางฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรได้ทำการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร  กลุ่มแม่บ้าน และชุมชนต่างๆ มากมาย  เช่น การให้คำปรึกษากระบวนการผลิตเห็ดตามมาตรฐาน GMP โดยผู้รับการถ่ายทอด คือ พี.เจ. ฟาร์ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  การถ่ายทอดการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาเห็นล้นตลาด เช่น ข้าวเกรียบเห็ด  แหนมเห็ด เป็นต้น โดยผู้รับการถ่ายทอดคือ สวนเห็ดกรรณิการและผลิตภัณฑ์แสนสมัย  การอบรมการเพาะเห็ดตีนแรด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งมีผู้เข้าอบรมคือ เกษตรกร จ.ยโสธร  และการอบรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีเกษตรกรผู้สนใจผู้เข้ารับการอบรม ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

การให้คำปรึกษากระบวนการผลิตเห็ดตามมาตรฐาน GMP ผู้รับการถ่ายทอด คือ พี.เจ. ฟาร์ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

 

วว. กับงานวิจัยทางด้านเห็ด
การถ่ายทอดการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาเห็นล้นตลาด ผู้รับการถ่ายทอดคือ สวนเห็ดกรรณิการและผลิตภัณฑ์แสนสมัย

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การอบรมการเพาะเห็ดตีนแรด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ผู้เข้าอบรมคือ เกษตรกร จ.ยโสธร

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การอบรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีเกษตรกรผู้สนใจผู้เข้ารับการอบรม ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

          งานวิจัยและพัฒนาด้านเห็ดของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. นั้น นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

——————————————————