ศิโรรัตน์  ตั้งสถิตพร
นักทดลองวิทยาศาสตร์บริการ
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ
ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ

       ปัจจุบันมีปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อห่อหุ้มและรักษาคุณภาพของอาหารเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีการออกแบบรูปร่างที่หลากหลายและมีสีสันที่สวยงาม ซึ่งอาจส่งผลให้มีสารอันตรายปนเปื้อนในอาหารและส่งผลต่อร่างกายเมื่อได้รับการสะสมในปริมาณมาก ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านความปลอดภัย และกำหนดมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหารขึ้น เพื่อใช้เป็นระเบียบในการควบคุมคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยสำนักงานอาหารและยา (US Food and Drug Administration) หรือระเบียบสหภาพยุโรป (Commission Regulation) เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับอาหารที่ปลอดภัย ดังนั้นบรรจุภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหารที่ผ่านระเบียบข้อบังคับนี้ จึงได้รับการยอมรับในมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์

1

       ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของประชาชนภายในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการปนเปื้อนในอาหาร จึงออกระเบียบข้อบังคับ เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทําจากพลาสติก ฉบับที่ 295 ซึ่งกำหนดให้ภาชนะบรรจุที่ผลิตจากพลาสติกต้องมีคุณภาพ เช่น

  1. สะอาด ไม่มีสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร
  2. ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีสีสัมผัสอาหาร ยกเว้นพลาสติกชนิดลามิเนต (laminate) ที่พลาสติกชั้นในสุดต้องไม่มีสี หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  3. ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก
  4. ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกที่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นภาชนะบรรจุอาหาร
  5. ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกซึ่งใช้บรรจุนมหรือผลิตภัณฑ์นม ต้องเป็นพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน, เอทิลีน 1-แอลคีน โคพอลิเมอร์ไรซด์เรซิน, พอลิพรอพีลีน, พอลิสไตรีน หรือพอลิเอทิลีนเทเรฟ-ทาลเลต
  6. ปริมาณสารตะกั่ว สารแคดเมียม สารหนู สารฟอร์มัลดีไฮด์ และสารสไตรีน เป็นต้น ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

2

       นอกจากข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์พลาสติกทางการค้าทั่วไปแล้ว ยังมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ตามมาตรฐานสากล ISO17088-2012  ซึ่งประเทศไทยโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ เลขที่ มอก. 17088-2555 เพื่อให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทยได้คุณภาพตามกฎระเบียบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและเป็นการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค

เกณฑ์กำหนดตามมาตรฐานสากล ISO 17088-2012 (หน่วยมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)

table1

       ถึงแม้ว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ออกมา หากแต่ผู้บริโภคยังเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีสมบัติไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสได้รับสารอันตรายเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา:

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2558. การศึกษาข้อมูลกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก

International Organization for Standardization. ISO 17088: Specifications for compostable   plastics. 8 pp.