สามารถคลิกเพื่ออ่านรายละเอียดได้ที่นี่

เนื้อหาประกอบด้วย
1. การบำบัดน้ำเสียในอาคาร
2. ลักษณะน้ำเสีย
3. คุณลักษณะน้ำเสีย
4. แหล่งกำเนิดน้ำเสียชุมชน
5. หลักเกณฑ์ในการเลือกระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสม
6. ระบบบำบัดน้ำเสียในอาคาร
7. หลักการทำงานระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge; AS)
8. องค์ประกอบของระบบ AS
9. หลักการทำงานของระบบ AS
10. หลักการดูแลระบบ AS
11. ปัจจัยหรือพารามิเตอร์ที่จำเป็นสำหรับการควบคุมระบบ AS
12. เกณฑ์การออกแบบหรือค่าควบคุมในการดูแลระบบ AS
13. ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบแอคทิเวทเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge) ที่นิยมใช้
14. ข้อดี-ข้อเสียของระบบเอสบีอาร์

ชาญชัย คหาปนะ
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ
ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ

บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรืออุปกรณ์พลาสติกจัดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน การผลิตพลาสติกจากทั่วโลกมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2493 ที่อัตราการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็นมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี ทำให้ในปัจจุบันมีพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนถึง 9 พันล้านเมตริกตัน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นผลกระทบระยะยาวในระบบนิเวศน์ทั้งทางบกและทะเล

ในแต่ละปีขยะพลาสติกจากทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร มีเพียงร้อยละ 5 ที่เห็นเป็นชิ้นส่วนลอยในทะเล ส่วนที่เหลือนั้นจมอยู่ใต้มหาสมุทร ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในทะเล จากที่ทราบกันดีว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก มีความคงสภาพสูง จึงส่งผลให้ขยะพลาสติกที่ตกค้างในทะเลใช้เวลาในการย่อยสลายอยู่ในช่วง 10 – 600 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของพลาสติก

ไมโครพลาสติก หมายถึง พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกขนาดเล็กโดยตรง เช่น เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางที่เป็นเม็ดสครับ (microbeads) ใยเสื้อผ้า หรือในการผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้โดยการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลสู่ทะเล เช่น กรณีของสครับที่ใช้ในโฟมล้างหน้า หรือเส้นใยจากผ้าใยสังเคราะห์จากการทิ้งน้ำซักผ้า เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง มาจากพลาสติกที่ใช้อยู่ทั่วไป เกิดการฉีกขาดจากปัจจัยต่างๆ เช่น แสง ความชื้น พลังงานจากคลื่น หรือสิ่งมีชีวิตในทะเล จนเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็กและตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมาก ยากต่อการเก็บและการกำจัด ประกอบกับมีคุณสมบัติที่คงสภาพย่อยสลายได้ยาก จึงง่ายที่จะปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การทิ้งขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถเกิดการย่อยสลาย มีการแตกหักเป็นอนุพันธ์ของไมโครพลาสติก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน

ในปัจจุบัน โลกตื่นตัวกับปัญหาและภัยอันตรายจากการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในทะเล ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งในกรณีเป็นตัวนำสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานถึงผลการสำรวจขยะที่ถูกทิ้งลงในทะเลทั้งในมหาสมุทรลึกไปจนถึงแผ่นน้ำแข็งทวีปอาร์กติกที่ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก มีความเสี่ยงสูงมากที่สัตว์น้ำกว่า 700 สายพันธุ์ในทะเลจะกินขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกเหล่านั้นเข้าไป ยิ่งไปกว่านี้ มีรายงานการตรวจพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติก อาทิ สารกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) พอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ปิติพงษ์และคณะ (2559) ตรวจพบไมโครพลาสติกในหอยเสียบและหอยกระปุก ในลักษณะที่เป็นเส้นใยมากที่สุด คาดว่ามาจากอุปกรณ์การทำประมง เช่น อวน ตาข่าย เอ็น และเชือก ดังนั้น การที่เรารับประทานสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเข้าไปก็อาจมีโอกาสที่จะได้รับสารที่ปนเปื้อนเข้าไปได้ แม้ว่ายังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันถึงไมโครพลาสติกที่ตกค้างในสัตว์น้ำก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงจากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร แต่จากผลการศึกษาที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลและในสัตว์ทะเลของประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องกำหนดมาตรการหรือตระหนักในการลดปัญหาเหล่านี้ อาทิ ลดปริมาณขยะทะเลจากแหล่งต่างๆ เช่น ชุมชนชายฝั่ง การประมง การท่องเที่ยว และกลุ่มวิสาหกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น โดยมีการบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน

ไมโครพลาสติกที่อยู่ภายในตัวของปลา

ที่มา:

PlasticsEurope Market Research Group (PEMRG) / Consultic Marketing & Industrieberatung GmbH

IUCN (International Union for Conservation of Nature). Marine Plastics. 2018.

Laura Parker. 2015. ‘Eight Million Tons of Plastic Dumped in Ocean Every Year’ เข้าถึงได้จาก http://news.nationalgeographic. com/news/2015/02/150212-ocean-debris-plastic-garbage-patches-science/

Katsnelson, K. 2015. New feature: microplastics present pollution puzzle. Proc Natl Acad Sci 112 (18): 5547–5549. Published online 2015 May 5. doi: 10.1073/pnas.1504135112

Rochman CM, Hoh E, Hentschel BT, Kaye S. Long-term field measurement of sorption of organic contaminants to five types of plastic pellets: Implications for plastic marine debris. Environ Sci Technol. 2013;47(3):1646–1654.

Applications / Sectors

http://ecowatch.com/2016/06/03/microplastics-kill-baby-fish/

ปิติพงษ์ ธาระมนต์ และคณะ. (2559).การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในหอยสองฝาบริเวณชายหาดเจ้าหลาวและชายหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี.แก่นเกษตร 44 ฉบับพิเศษ 1.738-744.

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ภาพประกอบจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/

        ในปัจจุบันสภาพอากาศเสีย น้ำเสีย และดินปนเปื้อนด้วยมลพิษกำลังคุมคามผู้คนในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก แม้เทคโนโลยีในการบ่งชี้มลพิษที่คอยเตือนให้มนุษย์เราระวังอันตรายจากมลพิษต่างๆ จะก้าวหน้าขึ้น แต่เราก็ไม่ควรที่จะละเลยสิ่งเตือนภัยทางธรรมชาติจากมลพิษที่มีมาช้านานอย่างเจ้าสัตว์ตัวจ้อยต่างๆ เพราะเจ้าสัตว์จ้อยเหล่านี้ คือ ดรรชนีทางชีวภาพ (bio-indicators หรือ bio-monitors) ที่แท้จริง เพราะมันมีข้อ  ดีที่จะใช้เป็นตัวดรรชนีบ่งบอกระดับมลพิษในสิ่งแวดล้อมหลายประการ เนื่องจากพวก มันได้รับมลพิษเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลาและมันยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเคมีนั้น ต้องทำโดยการเก็บตัวอย่างที่ถูกเวลาและสถานที่เท่านั้น จึงจะสามารถวิเคราะห์มลพิษได้ แต่สำหรับพวกสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้รับมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย พวกมันจะแสดงพฤติกรรมหรืออาการที่เกิดจากมลพิษให้เห็นภายนอกลำตัวได้ง่าย อีกทั้งการประเมินการสะสมของมลพิษในสิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหารของพวกมันก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ปริมาณมลพิษที่สะสมอยู่เนื้อเยื่อของพวกมันจะมีปริมาณสูงเพียงพอที่จะตรวจได้นาน แม้ว่าบางครั้งมลพิษในสภาพแวดล้อมจะสูญหายไปแล้ว

         สำหรับตัวอย่างของสัตว์ที่เคยมีการทดลองใช้และพบว่าได้ผลดีในการตรวจหาปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ก็ได้แก่

  • แมลงน้ำ ปลา และลูกอ๊อด ถูกใช้วิเคราะห์หาจุดกำเนิดของมลพิษในลำน้ำและหาโลหะหนักบางชนิดที่ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำ เช่น ตะกั่ว โมลิบดีนัม
  • ไส้เดือน ใช้บ่งชี้มลพิษปนเปื้อนในดิน โดยมันจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น ชัดบนผิวหนัง
  • ผึ้ง จะถูกใช้ในการหามลพิษและสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ อาหาร และบนพืช เพราะมันมีขนละเอียดบนลำตัวที่มีคุณสมบัติเป็นไฟฟ้าสถิต ทำให้ดึงดูดฝุ่นละอองและมลพิษให้ติดอยู่บนลำตัวได้ดี ทั้งยังสะดวกในการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ได้ทีละเป็นจำนวนมาก
  • หอย ถูกใช้ในการวิเคราะห์หาธาตุรอง (trace element) เช่น แคดเมียม โครเมียม และทองแดง รวมทั้งยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ และปริมาณแบคทีเรียในน้ำ โดยเฉพาะหอยสองฝาที่อยู่กับที่บนพื้นน้ำและกินอาหารโดยการกรองผ่านเหงือก
  • ปลา ถูกใช้ในการวิเคราะห์ความเข้มข้นของมลพิษในแหล่งน้ำ โดยสังเกตจากการผิดปกติบนผิวลำตัว หรือจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือวิเคราะห์จากเนื้อเยื่อของมันโดยตรง
  • นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ถูกใช้ตรวจสอบปริมาณมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจเลือด มูลและอวัยวะภายใน เช่น ตับ หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกและสัตว์ที่กินแมลงเป็นอาหาร ซึ่งมีอัตราการเผาผลาญในร่างกายสูง จึงกินอาหารจุกว่าสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามาก

       นอกจากสัตว์แล้วพืชหลายก็ชนิดสามารถใช้เป็นดรรชนีบ่งชี้ปริมาณและชนิดของมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดีเช่นเดียวกัน เช่น ไลเคนส์ ใช้วัดปริมาณมลพิษในอากาศ และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาธรรมชาติเพื่อช่วยในการปกป้องธรรมชาติด้วยกัน

อ้างอิงจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/


นายฉาดเฉลียว บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านดับเพลิงและผจญเพลิง ได้ให้ความรู้ว่า การเผายางรถยนต์ส่งผลกระทบในเรื่องสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด เพราะการเผาไหม้ของยางรถยนต์จะใช้เวลาในการเผานานกว่าเชื้อเพลิงอย่างอื่นหลายเท่า อีกทั้งเขม่าควันจากยางรถยนต์จะเห็นได้ชัดว่าเป็นกลุ่มควันสีดำลอยไปตามอากาศ ซึ่งหากสูดดมเข้าไปย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผา (Carbon monoxide : CO) เมื่อหายใจเอาก๊าซดังกล่าวเข้าไปแล้ว ก๊าซจะรวมตัวกับฮีโมโกลบิน (Haemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงได้มากกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (Carboxyhaemoglobin : CoHb) ซึ่งลดความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย หรือทำให้ออกซิเจนในเลือดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ที่หายใจเข้าไปมีอาการหายใจขัดและอึดอัดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ดังนั้น ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดมเขม่าควันดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่ควรอยู่ใต้ลม

ทั้งนี้วิธีป้องกันของประชาชนคือ หากอยู่ในจุดที่ดับไฟจากการเผายางได้ แนะนำให้ใช้วิธีเขี่ยยางที่สุมกันอยู่หลายวงออกมาทีละเส้น ให้วางยางในลักษณะแนวราบ จากนั้นใช้น้ำดับโดยราดน้ำไปรอบๆ ยางเพียงไม่กี่ขันก็สามารถดับไฟได้ หรือใช้โฟมฉีดไปรอบๆ ยางรถยนต์ก็ดับไฟได้เช่นกัน

ด้าน รศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความรู้ถึงอันตรายจากการเผายางรถยนต์ว่า ยางรถยนต์ มีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบประเภทเดียวกับสารประกอบในน้ำมันนั้น เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 50-60% ซึ่งแฝงตัวอยู่ในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ จึงถือเป็นแหล่งพลังงานแหล่งใหญ่เลยทีเดียว

“การเผายางรถยนต์ 1 เส้น จะให้ความร้อนออกมามากกว่าการเผาน้ำมันทั่วไปที่มีน้ำหนักเท่ากันถึง 1.25 เท่า พูดง่ายๆ คือ น้ำมันติดไฟง่ายกว่า แต่ปลดปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่า แต่น้ำมันลุกลามได้ไวกว่า เนื่องจากน้ำมันมีความหนาแน่นน้อยกว่า จึงไหม้อย่างรวดเร็วกว่าแต่ดับได้ง่ายกว่า ในขณะที่ยางรถยนต์ มีเนื้อยางที่มีความหนาแน่นมากกว่า ติดไฟยากกว่า แต่เมื่อจุดติดแล้ว จะให้ความร้อนสูงมากกว่า และดับได้ยากกว่า มีอำนาจและเวลาในการทำลายล้างมากกว่า” รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ส่วนประกอบสำคัญหลักๆ ของยางรถยนต์ ไม่ได้มีแค่ยางสังเคราะห์ และ ยางธรรมชาติ แต่ยังมี ผงถ่านคาร์บอน(carbon black) น้ำมัน (Extender oil) ลวด และสารเคมี เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide: ZnO) และ ซัลเฟอร์ (Sulfur : S) เป็นองค์ประกอบ

ดังนั้น เมื่อยางรถยนต์เกิดการเผาไหม้จึงไม่ได้ปล่อยแค่เขม่าควัน ฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ยังปล่อยสารพิษอีกมากมาย เช่น ก๊าซที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง อีกทั้งก๊าซชนิดนี้ยังมีภาวะเป็นกรด เมื่อสูดหายใจเข้าร่างกายอาจก่อให้เกิดการกัดกร่อนเนื้อเยื่อที่บริเวณทางเดินหายใจได้

อีกทั้งยางสังเคราะห์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยางชนิด สไตรีน-บิวทาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber : SBR) เมื่อเผาไหม้จะเกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งนอกจากจะเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารอีกด้วยจึงนับว่าเป็นอันตรายมาก

————————————-
ตัดตอน เรียบเรียงจาก:
ผู้เชี่ยวชาญชี้เผายางรถยนต์สร้างก๊าซพิษ-เลือดรับออกซิเจนน้อยลง
ข่าววิทยาศาสตร์ – โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2553 17:40 น.
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000068779