Tag: ดิน
มลพิษในดิน
มลพิษในดิน
>>> โดย ปฐมสุดา อินทุประภา (กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร)
และ ชลธิชา นิวาสประกฤติ (ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์) <<<
มลพิษในดินเกิดจากการปนเปื้อนของสารเคมีและมลพิษต่างๆ ในปริมาณที่สูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งพืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมลพิษในดินทำให้พื้นที่การเกษตรหลายแห่งในหลายประเทศประสบกับปัญหาหน้าดินแตกระแหง ซึ่งเกิดจากหลายหลากสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการเกษตร การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่ผิวดิน การรั่วซึมของสารเคมีจากการฝังกลบขยะ การรั่วไหลของน้ำมันจากยานพาหนะและเครื่องจักรกลการเกษตร การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี และสภาวะฝนกรด ภาวการณ์ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ดินมีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้ดินขาดธาตุอาหารและไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
มลพิษในดินที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะส่งผลต่อการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ผลกระทบต่อมนุษย์
สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสารเคมีปนเปื้อนเหล่านี้หากสะสมในร่างกายในปริมาณหนึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างมะเร็งได้ การสัมผัสดินที่มีสารเคมีปนเปื้อนตกค้างอย่างเบนซินและพอลิคลอริเนตไบฟีนีลเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตับได้ ผลกระทบจากมลพิษในดินยังสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ทางอ้อมแม้ว่าเราจะไม่ได้สัมผัสกับดินโดยตรง ซึ่งเกิดจากการใช้ดินที่มีสารเคมีหรือโลหะหนักปนเปื้อนในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร พืชจะดูดซับสารเคมีและโลหะหนักเหล่านั้นมาเก็บไว้ เมื่อเรานำพืชผลทางการเกษตรเหล่านั้นมาบริโภคก็จะทำให้สารเคมีและโลหะหนักเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย สารโลหะหนักส่วนใหญ่ที่พบตกค้างอยู่ในดินและก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ได้แก่ สารตะกั่วและสารปรอท สารสองตัวนี้หากสะสมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตับและไต
ผลกระทบต่อสัตว์
สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวเป็นข้อปล้อง (arthropods) และจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ทำให้วงจรห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย ผู้ผลิตไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ผู้บริโภคในแต่ละลำดับขั้นของห่วงโซ่อาหารขาดแหล่งอาหาร เป็นสาเหตุการตายและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในแต่ละลำดับชั้นของห่วงโซ่อาหารในที่สุด
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สารเคมีที่ตกค้างและปนเปื้อนอยู่ในดินนั้น สามารถก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำได้ การเกิดมลพิษทางอากาศจากสารเคมีที่ตกค้างในดินเกิดจากการระเหยตัวของสารประกอบต่างๆ เช่น ก๊าซไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งสารสองชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก นอกจากนี้การระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์ยังก่อให้เกิดภาวะฝนกรด ซึ่งเมื่อตกลงสู่พื้นดินจะทำให้พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ได้รับผลกระทบทางด้านเคมี มีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรด้อยคุณภาพลง การเกิดมลพิษทางน้ำจากสารเคมีจำพวกไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่ตกค้างในดิน หากสารสองชนิดนี้มีในปริมาณมากเกินและถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้พืชน้ำขาดออกซิเจนและตายในที่สุด เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศในน้ำ สารปนเปื้อนในดินยังส่งผลให้สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย
ปัญหามลพิษในดินนั้น เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยดินในการเพาะปลูก มีการคาดการณ์ว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรมนุษย์จะเพิ่มมากขึ้นอีกราว 2 พันล้านคน จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรอย่างน้อยประมาณ 40% ให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมแก่การเพาะปลูกนั้นเหลืออยู่ประมาณ 11% บนพื้นผิวโลกเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ดินและหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการเกิดมลพิษทางดิน
แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง Soil Pollution http://www.everythingconnects.org/soil-pollution.html
ความเป็นกรด-ด่างของดิน
ดิน
หมายถึง วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการสลายตัวทางกายภาพ และทางเคมีของดิน และแร่ รวมกับสารอินทรีย์ ที่เกิดจากการสลายตัวของซากพืชซากสัตว์เป็นผิวชั้นบนที่ห่องหุ้มโลก ซึ่งดินจะมีลักษณะและคุณสมบัติต่างกันไปในที่ต่าง ๆ ตามสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตและระยะเวลาการสร้างตัวของดิน
ความสำคัญของดิน
- ดินทำหน้าที่เป็นที่ให้รากพืชได้เกาะยึดเหนี่ยวเพื่อให้ลำตันของพืชยืนต้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรง
- ดินทำหน้าที่เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
- ดินเป็นแหล่งที่เก็บกักน้ำหรือความชื้นในดินและเป็นแหล่งที่ให้อากาศในดินที่รากพืชใช้ในการหายใจ
กรด
หมายถึง สารประกอบที่มีไฮโดรเจนประกอบอยู่เมื่อละลายน้ำก็จะแตกตัวให้ไฮโดรเจนไออน (H+)
กรดในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำอัดลม
ด่าง
หมายถึง สารประกอบจำพวกไฮดรอกไซด์ของโลหะแอลคาไลด์ ซึ่งละลายน้ำจะแตกตัว ให้ไฮดรอกไซด์ไออน (OH-) เสมอ มีรสฝาด ถูกมือลื่นคล้ายสบู่
ด่างในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำขี้เถ้า น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู ผงฟู ผงซักฟอก
ความเป็นกรด – ด่างของดินมีความสำคัญอย่างไร
ความเป็นกรด-ด่างของดิน นิยมบอกเป็นค่า pH ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 1-14 โดยดินที่มี pH ต่ำกว่า 7 จัดว่าเป็นดินกรด ส่วนค่า pH สูงกว่า 7 จัดว่าเป็นดินด่าง และค่า pH เท่ากับ 7 จัดว่า ดินเป็นกลาง
ความเป็นกรด-ด่างเป็นตัวควบคุมการละลายธาตุ อาหารในดิน ให้ออกมาอยู่ในรูปสารละลายรวมกับน้ำในดิน ถ้าดินมีความเป็นกรด-ด่างไม่เหมาะสม ธาตุอาหารในดินอาจละลายออกมาได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช หรือในทางตรงกันข้ามธาตุอาหารบางชนิดอาจละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชได้
ดินกรดหรือดินเปรี้ยว
หมายถึง ดินที่มีระดับ pH ต่ำกว่า 7 มีวิธีการแก้ไขดินกรดโดยเติมปูนขาว หินปูนบด หรือ ใส่น้ำท่วมขังบริเวณที่เป็นกด
ดินด่าง
หมายถึง ดินที่มีระดับ pH สูงกว่า 7 มีวิธีการแก้ไขดินด่างโดยเติมอินทรีย์วัตถุหรือปลูกพืชบำรุงดิน
การวัดความเป็นกรด-ด่างของดิน
วิธีที่นิยมมี 2 วิธีคือ
- วัดด้วยเครื่องวัดทีเรียกว่า pH Meter หลักการ คือ เปรียบเทียบค่าความต่างศักย์ระหว่าง glass electrode กับ reference electrode ค่าความต่างศักย์ที่ได้จะถูกเปลี่ยนเป็นหน่วย pH
- การวัดด้วยน้ำยาเปลี่ยนสี (Indicator) น้ำยาเปลี่ยนสีจะเปลี่ยนสีไปตาม pH ของดินที่เปลี่ยนไป
ระดับความรุนแรงกรด-ด่างของดิน
ค่า pH |
สภาพความเป็นกรด-ด่าง |
น้อยกว่า 3.5 | กรดรุนแรงที่สุด (ultra acid) |
3.5-4.5 | กรดรุนแรงมาก (extremely acid) |
4.6-5.0 | กรดจัดมาก (very strongly acid) |
5.1-5.5 | กรดจัด (strongly acid) |
5.6-6.0 | กรดปานกลาง (moderately acid) |
6.1-6.5 | กรดเล็กน้อย (slightly acid) |
6.6-7.3 | กลาง (neutral) |
7.4-7.8 | ด่างเล็กน้อย (slightly alkaline) |
7.9-8.4 | ด่างปานกลาง (moderately alkaline) |
8.5-9.0 | ด่างจัด (strongly alkaline) |
มากกว่า 9.0 | ด่างจัดมาก (very strongly alkaline) |
งานบริการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ย
รายการ |
ราคา(บาท)/หน่วย |
ความเป็นกรด-ด่าง | 100 |
ค่าการนำไฟฟ้า | 100 |
อินทรียวัตถุ | 200 |
ไนโตรเจนทั้งหมด | 200 |
ฟอสฟอรัสทั้งหมด | 200 |
โพแทสเซียมทั้งหมด | 200 |
แคลเซียม | 200 |
แมกนีเซียม | 200 |
เหล็ก | 200 |
ทองแดง | 200 |
แมงกานีส | 200 |
สังกะสี | 200 |
สนใจติดต่อ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร (ฝทก.)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โทร 025779243, 025779280-1
โทรสาร 025779246