ลองกองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นพืชหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจและนิยมปลูกกันมากแหล่งปลูกที่สำคัญของไทยคือ ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ปัตตานี ระนอง สงขลา พังงา และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด ที่เหลือเป็นส่วนภาคอื่นๆ เช่น อุตรดิตถ์ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักนิยมปลูกเพื่อบริโภคภายในประเทศ จะมีการส่งออกต่างประเทศบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสภาพปัญหาผลผลิตคุณภาพต่ำและการหลุดร่วงของผลจากช่อ รวมทั้งการเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเร็ว โดยสีผิวจะเปลี่ยนจากสีเหลืองนวลเป็นสีน้ำตาลไหม้ ตลอดจนมีอาการผลเน่าเร็ว

      ลองกองเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของมนุษย์ การรับประทานลองกองเป็นประจำก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน ป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนในขึ้นภายในปากอีกด้วย ลองกองมีเมล็ดน้อยหรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ลองกองแห้ง ลองกองน้ำ ลองกองปาลาแม หรือลองกองแปร์แมร์

      แม้ว่าลองกองจะจัดเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี แต่เพราะประสบปัญหาราคาตกต่ำเนื่องจากล้นตลาด จึงมีแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปลองกอง โดยต้องการให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าให้กับลองกอง เนื่องจากการบริโภคสดหรือการแปรรูปโดยการทำแห้ง ทำให้ลองกองมีมูลค่าไม่สูงมากนักแต่ถ้านำมาแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

      ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลองกอง ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูกาล และช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตนอกฤดูกาลให้มีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อันจะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยแบ่งกิจกรรมได้ดังนี้

  1. วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง โดยควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้ตรงตามข้อกำหนด  GAP จนได้ออกมาเป็น น้ำลองกองเข้มข้น, น้ำลองกองพร้อมดื่มเสริมสุขภาพ , ลองกองในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง และลองกองแช่อิ่มอบแห้ง
  2. วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบแปรรูปการผลิตภัณฑ์และ/ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง จนได้ เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง และเครื่องสกัดน้ำลองกอง
  3. วิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ  บรรจุผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง ในลักษณะของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาคุณภาพด้าน  สี  กลิ่น รส และคุณค่าทางโภชนาการให้คงอยู่กับผลิตภัณฑ์
  4. ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์และ/หรือลองกองสำเร็จรูปเพื่อการศึกษาทดลองผลิตภัณฑ์  ทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์
  5. ศึกษาประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชน   เกษตรกรชาวสวนที่ปลูกลองกอง