กระบวนการสร้างนวัตกรรม
อรุณี ชัยสวัสดิ์
นักวิจัย
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.)
การพัฒนานวัตกรรม ให้เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาด มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ สามารถขายและสร้างเป็นธุรกิจได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความใหม่ (Newness) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) มีความแตกต่าง ไม่ซ้ำ หรือเลียนแบบ สามารถใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefit) หรือสามารถขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องได้
กระบวนการสร้างนวัตกรรม เกิดขึ้นหลากหลายวิธี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความต้องการแก้ปัญหา (Problem) การจัดการและต่อยอดองค์ความรู้ (Knowledge Management) และการปรับปรุงและพัฒนา (Improvement) ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ อีกทั้งมีโอกาสสำเร็จสูง สามารถนำไปใช้ได้ทั้ง นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) วิธีการโดยการระดมความคิด เพื่อค้นหาจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการเดิม ประกอบกับการประเมินความต้องการหรือความพึงพอใจของผู้ใช้ นำมาใช้เป็นข้อมูลป้อนเข้า (Input) เพื่อใช้วิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่แท้จริงของปัญหา ดังนั้น การวางแผนเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้วยวิธีนี้ จึงต้องมีการกำหนดแผนและวิธีการดำเนินงาน ในรูปแบบของกระบวนการ (Process Approach) โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน รูปแบบนี้สามารถใช้ได้กับ งาน กระบวนการ และ กิจกรรมทุกประเภท นั่นคือ พิจารณาจาก ส่วนปัจจัยนำเข้า (Input) คือ ทรัพยากร วัตถุดิบ ประกอบด้วย ชนิด ประเภท สัดส่วน ปริมาณ น้ำหนัก ความชื้น ฯลฯ ส่วนกระบวนการ (Process) คือ วิธีการ ขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนการผลิต ได้แก่ กระบวนการ เทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ ระยะเวลาการผลิต อุณหภูมิ ความดัน ระบบควบคุม ระบบ IT การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิต (Output) คือ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ ตามต้องการ
หลักการ Process Approach เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น เปลี่ยนวัตถุดิบ สัดส่วนหรือปริมาณฯลฯ ก็จะทำให้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับกระบวนการ (Process) สามารถจำแนกเป็น กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนหรือวิธีการ เช่น เปลี่ยนเทคโนโลยี/เปลี่ยนระบบ เปลี่ยนเครื่องมือ ระยะเวลา อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เช่นกัน สำหรับกระบวนการทำงานในภาคธุรกิจบริการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น การบริหารงานคุณภาพ การนำระบบ IT มาใช้ สามารถลดขั้นตอน การซ้ำซ้อน ใช้คนน้อยลง ลดความผิดพลาด รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น เกิดเป็นกระบวนการใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่นี้ หากสามารถสร้างรายได้ หรือมูลค่าเชิงพาณิชย์ ก็จะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดำเนินงานในภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ประกอบด้วย กิจกรรมหรือกระบวนการต่างๆมากมาย เมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน จะทำให้ Output ของ Process หนึ่งไปเป็น Input ของอีก Process หนึ่ง เกิดความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) จนเกิดเป็นระบบ (System Approach) ดังนั้น หาก Input เริ่มต้นดี จะส่งผลให้ได้ Output ดี เช่นกัน แต่หาก Input ไม่ดี ก็จะส่งผล Output ไม่ดีหรือด้อยคุณภาพ ซึ่ง Output ที่ไม่ดีหรือด้อยคุณภาพนี้จะกลายเป็น Input ของกระบวนการต่อไปอีก ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลลัพธ์ด้อยคุณภาพ ดังนั้นการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่โดยใช้ Process Approach และ System Approach จะช่วยให้นวัตกร (Innovator) สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงของกระบวนการ และค้นหาจุดบกพร่อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ทำให้สามารถลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) โดยใช้กระบวนการ PDCA เป็นเครื่องมือดำเนินการ ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย สามารถตอบสนองความคาดหวัง และความต้องการของผู้บริโภค มีความทันสมัย โดดเด่นและแตกต่าง สร้างเป็นธุรกิจต่อเนื่องได้อย่างไม่สิ้นสุด
Leave a Reply