สูงสุดประเทศไทย เส้นทางชมความงามกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

นายทศวรรษ แผนสมบูรณ์
สถานีวิจัยลำตะคอง
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์

     กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum) ได้ตั้งสกุลนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Paphia หมายถึง เทพธิดาแห่งความรักและความงาม และ pedilon หมายถึง รองเท้าของผู้หญิง ซึ่งหมายถึงลักษณะกลีบดอกที่เป็นถุงลึกคล้ายรองเท้า พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล้วยไม้รองเท้านารี มีชื่อสามัญคือ Lady’s Slipper จัดไว้ในวงศ์กล้วยไม้ (Family Orchidaceas) ชื่อสกุล (Genus) Paphiopedilum โดยลักษณะเด่นของกล้วยไม้ในสกุลนี้ คือ ส่วนกลีบปากลักษณะคล้ายถุง (saccate) หรือทั่วไปดูว่าคล้ายส่วนหัวของรองเท้าสุภาพสตรี จึงทำให้มีชื่อสามัญว่า“Slipper Orchid” ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในชื่อว่า “กล้วยไม้รองเท้านารี”

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีชนิดหนึ่ง คือ กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ Paphiopedilum villosum (Lindl.) Stein ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่มีความเสี่ยงใกล้ที่จะสูญหายไปจากประเทศไทย

โดยช่วงต้นปี ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจพรรณไม้และจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และได้มีโอกาสเดินสำรวจในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “กิ่วแม่ปาน” ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีวงรอบระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล หลังจากเดินสักพัก ก็ได้พบกับกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่สวยงามและกำลังออกดอก พอสังเกตดูพบว่า มีการทำตะกร้าและใส่วัสดุรองปลูกมาติดไว้ตามต้นไม้ ทำให้เข้าใจว่าได้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และนำมาปลูกคืนป่า ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้เบื้องต้นได้ว่า กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์เป็นกล้วยไม้ที่หายาก และ ใกล้ที่จะสูญพันธุ์ และอีกเหตุผลที่สำคัญคือมีลักษณะดอกที่สวยงาม โดยสาเหตุของการสูญพันธุ์อาจมาจากการที่ชาวบ้าน หรือนักลงทุนมีการบุกรุกเข้าพื้นที่ป่าเพื่อเก็บกล้วยไม้ป่าไม่ว่าจะเป็นรองเท้านารีหรือกล้วยไม้ป่าชนิดอื่นๆ เพื่อนำไปขาย ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์และกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ มีถิ่นการกระจายพันธุ์ตั้งแต่รัฐอัสสัม สาธารณรัฐอินเดีย จนถึงทางตอนใต้ของประเทศจีน มีลักษณะ พุ่มต้นกว้างประมาณ 25-30 ซม. ใบกว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 30-40 ซม. ใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ใต้ใบบริเวณโคนกาบใบ มีจุดประสีม่วง แตกหน่อได้ดี มักเจริญเติบโตเป็นกอใหญ่ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดประมาณ 10-12 ซม. ก้านดอกตั้งตรงยาว 10-12 ซม. กลีบดอกหนาเป็นมันเงา พื้นดอกสีเหลืองปนน้ำตาล กลีบบนบริเวณขอบมีสีเหลืองหรือขาว โคนกลีบบนสีน้ำตาลเข้ม กลีบในมีเส้นสีน้ำตาลเข้มแบ่งกึ่งกลางตามความยาวกลีบ กระเป๋าสีน้ำตาลเป็นมันเงา มีเส้นร่างแหสีน้ำตาล ออกดอกในช่วง มกราคม – มีนาคม ในธรรมชาติพบในทำเลที่เป็นป่าดิบภเขา ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่หนา โดยขึ้นอยู่สูงประมาณ 1200-1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล รองเท้านารีอินทนนท์เป็นกล้วยไม้แบบอิงอาศัย โดยพบขึ้นอยู่บนต้นไม้ใหญ่ ที่มีลักษณะเปลือกหนา มีการผุพังของเปลือกไม้ง่าย ปกคลุมด้วย มอส เฟิร์น ตะไคร่น้ำ อุ้มความชื้นได้ดี โดยหยั่งรากไปตามเปลือกไม้ ตามดอยสูงทางภาคเหนือ เช่น ดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ ดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณภูหลวงจังหวัดเลย รวมถึงในฝั่งประเทศพม่า อินเดีย และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

     และหลังจากที่ผู้เขียนลงมาจากการสำรวจพรรณไม้ ณ กิ่วแม่ปาน ก็ได้สำรวจและเดินศึกษาธรรมชาติตรงจุดอื่น ๆ จนพระอาทิตย์ใกล้ที่จะตกดิน และก่อนที่จะเข้าที่พักก็ได้มีโอกาสไปที่ “ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์” แต่น่าเสียดายเมื่อไปถึงศูนย์อนุรักษ์กำลังจะปิดและปิดในส่วนของโรงเรือนเพาะชำไปหมดแล้ว แต่ในส่วนของสวนสาธารณะยังไม่ปิดตัวลง จึงได้เข้าไปเดินชมกล้วยไม้รองเท้านารีนานาชนิดที่ได้ทำการจัดแสดงไว้ภายในสวน

     ในพื้นที่ศูนย์อนุรักษ์ฯ มีการรวบรวมและจัดแสดงกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี ในประเทศไทยซึ่งพบทั้งหมด 17 ชนิด ทำรูปปั้นเสมือนดอกกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี ชนิดต่างๆ ไว้โดยมีขนาดที่ขยายขึ้นมาให้เห็นดอกและจุดเด่นของแต่ละชนิดไว้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาได้ชมและแยกแต่ละชนิดออกได้

     โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้น “ เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี เพื่อการศึกษาวิจัยและการท่องเที่ยว ขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและจำหน่ายกล้วยไม้ที่ได้จากการขยายพันธุ์ สร้างจิตสานึกและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีหายาก ขจัดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของกล้วยไม้”

     โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ โดยสามารถขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่หายากเพื่อนำกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ เพื่อจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของกล้วยไม้รองเท้านารีและรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการปลูกจิตสานึกและกระตุ้นความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอย่างยั่งยืนต่อไป ช่วยลดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้จากป่าธรรมชาติออกมาจำหน่าย

     การขยายผลการดำเนินงานในอนาคต คือ ทำการศึกษาวิจัยถิ่นที่อยู่อาศัยของกล้วยไม้รองเท้านารีแต่ละชนิดว่าขึ้นอยู่ในระดับความสูงเท่าไหร่ อิงอาศัยกับพืชพรรณชนิดใด ในทิศทางใด เพื่อให้การดำเนินการปล่อยกล้วยไม้คืนสู่ป่า มีเปอร์เซ็นต์รอดตายสูงสุด

     ทั้งนี้ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้อ่านได้มีส่วนร่วมกันในการอนุรักษ์พันธุ์พืชของไทย โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของไทย ที่มีความหลากหลายและความงามอย่างโดดเด่น เพื่อให้คงอยู่สำหรับอนุชนรุ่นหลังที่จะได้เห็น ชื่นชมและได้รู้จักกันสืบต่อไป และให้เป็นมรดกทางธรรมชาติอันล้ำค่าของประเทศตราบนานเท่านาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*