สบู่ (Soap) เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ได้จากการนำเอาน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ผสมกับน้ำด่างที่ได้จากการนำเอาขี้เถ้ามาแช่น้ำ ทำขึ้นเพื่อใช้ทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้า

มีหลักฐานพบว่ามนุษย์รู้จักใช้สบู่มาตั้งแต่ 2800 ปี ก่อนคริสตกาล โดยคำว่า สบู่ (Soap) มาจากชื่อของภูเขา Sapo ในสมัยโรมัน ซึ่งเป็นที่ทำพิธีบูชายัญสัตว์ เมื่อเกิดฝนตก น้ำฝนได้ชะเอาไขสัตว์มารวมกับขี้เถ้าแล้วไหลลงสู่แม่น้ำ เมื่อมีผู้หญิงนำเสื้อผ้าไปซักในแม่น้ำก็พบว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นซักออกได้ง่าย สบู่ในยุคต้นจึงมีไว้ใช้ทำความสะอาด หลังจากนั้นจึงได้มีการคิดค้นสบู่ขึ้นเพื่อใช้ในการชำระล้างร่างกาย

การผลิตสบู่ขั้นอุตสาหกรรมมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1790 จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1829 มีการนำน้ำมันมะพร้าวมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่

ปัจจุบัน สบู่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก และได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการสังเคราะห์สารใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็น สารชำระล้าง ทดแทนมากมาย

สบู่ตามความหมายของคำที่ใช้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมายถึง เกลือโซเดียม (sodium salt) หรือ เกลือโพแทสเซียม (potassium salt) หรือ เกลือแอมโมเนียม (ammonium salt) หรือ เกลือเอมีน (amine salt) ของ กรดไขมัน (fatty acid) ของน้ำมัน หรือ ไขมันจากพืชหรือสัตว์ เป็นผลผลิตจากปฏิกิริยาระหว่างด่างกับไขมัน (Saponification) โดยได้กลีเซอรีน (glycerine) ผสมร่วมออกมาด้วย

ส่วนประกอบของการทำสบู่

เราสามารถทำสบู่อย่างง่าย ๆ ได้โดยการนำเอาน้ำมันหรือไขมัน มาผสมกับน้ำด่าง และให้ความร้อนเล็กน้อย (ประมาณ 40 องศาเซลเซียส) เพื่อช่วยในการทำปฏิกิริยา ลักษณะของสบู่ที่ได้จะขึ้นกับชนิดของน้ำมัน ไขมัน และด่างที่ใช้ ดังนี้

น้ำมัน/ไขมัน

  1. น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะแข็งและมีฟองมากเป็นครีม เหม็นหืนง่าย ทำให้ผิวแห้ง
  2. น้ำมันปาล์ม (Palm oil) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะสีขาวอมเหลือง ค่อนข้างแข็ง มีฟองน้อยแต่อยู่ทนนาน มีคุณสมบัติชำระล้างได้ดี แต่ทำให้ผิวแห้ง
  3. น้ำมันละหุ่ง (Castor oil) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะชุ่มชื้นและนุ่มผิว มีฟองขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้ผิวนุ่ม
  4. น้ำมันมะกอก (Olive oil) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะแข็งใช้ได้นาน ให้ฟองครีมที่นุ่มนวล ไม่ทำให้ผิวแห้ง
  5. น้ำมันจมูกข้าวสาลี (Wheat Germ oil) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะความชุ่มชื้น ให้ฟองมาก ไม่ทำให้ผิวแห้ง
  6. ไขมันวัว (Tallow) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะแข็งใช้ได้นาน สีขาว ให้ฟองขนาดเล็ก
  7. ไขมันแกะ (Tallow) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะแข็ง ฟองน้อย
  8. ไขมันหมู (Lard) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะเละ ต้องใช้ร่วมกับน้ำมันชนิดอื่น

ด่าง

  1. โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide, Lye, Caustic soda, NaOH) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะแข็ง ใช้สำหรับทำก้อนสบู่
  2. โปแตสเซีมไฮดรอกไซด์ (Potassium hydroxide, KOH) สบู่ที่ได้จะมีลักษณะเหลว ใช้สำหรับทำสบู่เหลว

สารอื่น ๆ

  1. น้ำสะอาด ใช้ประมาณ 30% ของน้ำมัน หรือ อาจใช้ 2 เท่าของน้ำหนักด่าง
  2. น้ำหอมหรือน้ำมันหอมระเหย ควรใช้ผสมกับเอทิลแอลกอฮอล์ โดยผสมในอัตราส่วน 1:2 ใช้ประมาณ 1-2%
  3. สมุนไพร ควรใช้เป็นสารสกัดที่เข้ากับน้ำได้ โดยอาจใช้การสกัดด้วยน้ำหรือสารพวกไกลคอล
  4. สารกันหืน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซเดชั่นของกรดไขมัน ควรใส่ประมาณ 0.5-1.0% เช่น วิตามินอี วิตามินซี

ตารางแสดงค่าน้ำหนักด่างต่อน้ำหนักของน้ำมันที่ใช้ในการทำสบู่

ชนิดของน้ำมัน

NaOH

KOH

น้ำมันมะพร้าว

0.190

0.245

น้ำมันปาล์ม

0.141

0.189

กรดสเตียริค

0.141

 

น้ำมันข้าวโพด

0.136

 

น้ำมันดอกคำฝอย

0.136

 

น้ำมันถั่วเหลือง

0.135

0.181

น้ำมันมะกอก

0.134

0.180

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

0.134

0.182

น้ำมันรำข้าว

0.128

0.193

น้ำมันละหุ่ง

0.128

0.171

ไขมันแพะ

0.127

 

น้ำมันงา

0.126

0.182

SAP (Saponification number) เป็นปริมาณของด่างที่ทำปฏิกิริยาพอดีกับไขมันหรือน้ำมัน 1 กรัม

สูตรสบู่ก้อนพื้นฐาน

สูตรที่ 1 เป็นสบู่แข็ง สีขาว มีฟองมาก

  • น้ำมันมะพร้าว 200 กรัม
  • น้ำมันปาล์ม 200 กรัม
  • โซเดียมไฮดรอกไซด์ 60 กรัม
  • น้ำ 150 กรัม

ขั้นตอนการทำสบู่ก้อนพื้นฐาน

  1. เตรียมพิมพ์ที่จะใช้ทำ
  2. นำเอาส่วนของน้ำมันมารวมกัน อุ่นให้ได้อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส
  3. นำเอาด่างมาละลายน้ำ โดยค่อย ๆ เทด่างลงในน้ำพร้ดมทั้งคนตลอดเวลา ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะจะเกิดความร้อนสูง
  4. รอจนน้ำด่างมีอุณหภูมิลดลงจนถึง 40 องศาเซลเซียส ค่อย ๆ เทลงในน้ำมัน
  5. ค่อย ๆ คนจนเข้ากันดี เทลงพิมพ์
  6. พักสบู่ไว้

สูตรที่ 2 เป็นสบู่ก้อนแบบใส (กลีเซอรีน)

  • กลีเซอรีน 500 กรัม
  • น้ำ 50 กรัม
  • ผงสมุนไพร 0.5-1.0 กรัม
  • น้ำหอม 2.5 มิลลิลิตร
  • แอลกอฮอล์ (ใช้ละลายน้ำหอม) 5 มิลลิลิตร
  • สี 5 มิลลิลิตร

ขั้นตอนการทำสบู่ใส

  1. เตรียมพิมพ์ที่จะใช้ทำ
  2. นำเอากลีเซอรีนมาหลอมด้วยความร้อน เติมน้ำ คนจนละลายเข้ากันหมด
  3. ยกลงจากเตา คนช้า ๆ แต่งสี และกลิ่นตามต้องการ
  4. ค่อย ๆ คนจนเข้ากันดี เทลงพิมพ์ รอจนสบู่แข็งตัว แกะออกจากพิมพ์

ที่มา : เอกสารประกอบกิจกรรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชน โดย ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (ฝภผ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)