แมงลัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : | Ocimum americanum Linn. O. canum Sims. |
วงศ์ : | Labiatae |
ชื่ออังกฤษ : | Hairy basil |
ชื่อท้องถิ่น : | ก้อมก้อขาว (ภาคเหนือ) มังลัก (ภาคกลาง) |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
แมงลักเป็นพืชล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี สูงประมาณ 30-50 ซม. กิ่งอ่อนมีทรงสี่เหลี่ยม ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน มีขนนิ่ม ดอก ออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ รูปรี ปลายและโคนใบแหลม ขอบเรียบหรือหยักมน ห่าง ๆ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือปลายกิ่ง ช่อดอกเรียงเป็นชั้น ๆ ชั้นละ 2 ช่อดอก แต่ละ 1 ช่อดอก ประกอบด้วย 3 ดอกย่อย ดอกตรงกลางจะบานก่อน แต่ละดอกย่อยจะมีใบประดับสีเขียว และจะคงอยู่จนเป็นผล ส่วนกลีบดอกสีขาว กลีบดอกร่วงง่าย ผล เป็นผลแห้งภายในมี 4 ผลย่อย มักเรียกผลว่าเมล็ด
ส่วนที่ใช้และสรรพคุณ :
ใบสด มีกลิ่นหอม นิยมใช้แต่งกลิ่นอาหาร และใช้ปรุงอาหารหลายอย่าง เช่น แกงเลียง ขนมจีนน้ำยา น้ำมันหอมระเหย ใช้ผสมในน้ำหอม แต่งกลิ่นสบู่และเครื่องสำอาง
สรรพคุณทางยา
น้ำมันหอมระเหยความเข้มข้น 1:50,000 มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ mycobacteria ซึ่งอยู่ภายนอกร่างกาย
ใบสด
สกัดด้วยอีเทอร์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดหนอง และเชื้อโรคที่ทำให้ท้องร่วง น้ำคั้นจากใบสด แก้หวัด หลอดลมอักเสบในเด็ก น้ำมันหอมระเหยจากใบแมงลักมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อตามผิวหนังชั้นนอก จึงใช้ใบตำพอก และทาแก้โรคผิวหนังได้ แพทย์แผนโบราณใช้ใบแมงลักรักษากลากน้ำนมบนใบหน้าเด็ก โดยใช้ใบสด 10 ใบ ล้างให้สะอาด ตำผสมน้ำเล็กน้อย คั้นน้ำทาบริเวณที่เป็นกลากน้ำนม ซึ่งมักเป็นผื่นแดง โดยทาวันละครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ก็หาย
ทั้งต้น
ใช้ชับลม ขับเหงื่อ ต้มกับน้ำดื่มแก้ไอ และแก้โรคทางเดินอาหาร
เมล็ด
- ใช้เป็นยาระบาย โดยไปเพิ่มปริมาณของกากอาหาร (bulk laxative) กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เพราะเปลือกเมล็ดหรือผลมีสารเมือก (mucilage) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เมือกจะไม่ถูกย่อย จึงช่วยเพิ่มกากอาหาร นอกจากนั้นเมือกยังช่วยหล่อลื่นและทำให้อุจจาระอ่อนตัว ช่วยให้ถ่ายสะดวก
- ลดความอ้วน เมื่อรับประทานแล้ว สารเมือกจากเปลือกผล (mucilage) จะไม่ถูกย่อย และไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย จึงใช้รับประทานก่อนอาหาร หรือรับประทานในมื้อที่ต้องการจะงดอาหาร เพื่อไม่ให้กระเพาะว่าง โดยใช้เมล็ดแมงลัก 1-2 ช้อนชา แช่น้ำแก้วใหญ่จนพองเต็มที่ รับประทานก่อนนอนเป็นยาระบาย หรือรับประทานแทนอาหารบางมื้อเป็นยาลดความอ้วน บรรเทาโรคเบาหวาน ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลผ่านผนังลำไส้หลังรับประทานอาหาร ช่วยให้ลำไส้ผู้ป่วยโรคเบาหวานดูดซึมน้ำตาลเข้ากระแสโลหิตช้าลง คือ ช่วยให้น้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยไม่สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
สารสำคัญ :
ใบ มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย camphor 65%, citronella 15.7%, linalool 10.2%, methyl cinnamate และ eugenol เมล็ดมี mucilage
ข้อควรระวัง :
ในการแช่เมล็ดแมงลักให้พองตัวเต็มที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมากพอ เพราะถ้าเมล็ดแมงลักพองตัวไม่เต็มที่ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วเมือกเมล็ดจะไปดูดน้ำในกระเพาะอาหาร และลำไส้เพื่อให้พองเต็มที่ จะทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และอุจจาระแข็งทำให้ท้องผูกมากยิ่งขึ้น