การจำหน่ายพัสดุด้วยการโอน
นางสาวนวพร ชูศักดิ์
นักบริหารการเงินและการคลัง

ด้วยปัจจุบัน วว. ได้ดำเนินโครงการโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่อยู่ในชุมชนและท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตตามนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยได้ปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น โรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 317 แห่ง โรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง โรงรมลำไย โรงสับปะรด เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อการดำเนินการโครงการเหล่านี้เป็นอันเสร็จสิ้นก็จะมีปัญหาอยู่บ่อยครั้งว่าหาก วว. จะโอนโรงเรือน สิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของโครงการให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นการสานต่อโครงการให้มีความยั่งยืนว่าจะสามารถกระทำได้หรือไม่เพียงใดนั้น ซึ่งสำหรับประเด็นนี้กองพัสดุและคลังพัสดุมักจะถูกสอบถามจากผู้ดำเนินโครงการอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเพื่อให้นักวิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัสดุโครงการที่หมดความจำเป็น ว่า หาก วว. จะทำการโอนพัสดุดังกล่าวให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นจะมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างไร และผู้ที่จะมีสิทธิรับโอนพัสดุจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านบทความฉบับนี้ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจำหน่ายพัสดุด้วยการโอนตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จึงขอสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายพัสดุด้วยการโอนดังนี้
1. พัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จะทำการโอนได้
พัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จะทำการโอนให้แก่หน่วยงานที่ได้แสดงความประสงค์เพื่อขอรับโอนได้นั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องแล้ว และต้องได้ข้อเท็จจริงว่าพัสดุหรือครุภัณฑ์ดังกล่าว วว.ได้หมดความจำเป็นที่จะใช้งานอีกต่อไปหรือ หาก วว. ยังต้องใช้งานต่อไปก็มีแต่ที่จะทำให้ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก (ระเบียบข้อ 215 วรรคหนึ่ง) และผู้ว่าการได้อนุมัติให้ทำการโอนแล้ว
ยกเว้นการโอน อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างถาวรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ถึงจะทำการโอนได้ (พรบ.วว. มาตรา 7 วรรคสอง)
อย่างไรก็ตามหากพัสดุดังกล่าวยังไม่หมดความจำเป็น หรือมิใช่พัสดุที่ วว. ใช้งานต่อไปแล้วจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แต่ วว. มีความประสงค์ที่จะโอนพัสดุดังกล่าว วว.จะต้องขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบเป็นรายกรณีต่อคณะกรรมการวินิจฉัย (หนังสือด่วนที่สุดที่ กค (กวจ) 0405.2/ว546)
2. หน่วยงานที่จะเป็นผู้รับโอนพัสดุ
การโอนพัสดุหรือครุภัณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐนั้น ผู้รับโอนจะต้องมีฐานะเป็นหน่วยงานตามที่ระเบียบกำหนด คือ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น (ระเบียบข้อ 215(3) เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงส่งผลให้หน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระเบียบกำหนด บุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคล ไม่อยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้รับโอนได้ ซึ่งสำหรับหน่วยงานที่ระเบียบกำหนดให้เป็นผู้รับโอนได้นั้นสามารถจำแนกออกได้ดังนี้
2.1 หน่วยงานของรัฐ หมายถึงหน่วยงานตามที่พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาตรา 4 บัญญัติให้เป็นหน่วยงานของรัฐอันประกอบด้วย ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญหน่วยธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
2.2 องค์การสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามประกาศกระทรวงการคลังได้จำแนกองค์การสาธารณกุศลออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
2.2.1 สถานสาธารณกุศลซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณกุศลตลอดไป ประกอบด้วย
(1) สถานพยาบาลของทางราชการหรือขององค์การของรัฐบาล
(2) สถานศึกษาของทางราชการหรือขององค์การของรัฐบาล
(3) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
(4) สถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดม ศีกษาเอกชน
(5) สภากาชาดไทย
(6) วัดวาอาราม
2.2.2 สถานสาธารณกุศล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์การ สาธารณกุศล แต่อาจเพิกถอนได้หากการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งสำหรับ องค์การสาธารณกุศลในกรณีนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นสมาคมหรือมูลนิธิ แต่จะต้องเป็นสมาคมหรือมูลนิธิตามที่กระทรวงการคลังประกาศเท่านั้น
3. การโอนพัสดุถือว่าเป็นการขายจึงทำให้มีภาระภาษี
ด้วยการโอนพัสดุหรือครุภัณฑ์ตามที่กล่าวมานี้แม้จะเป็นการโอนให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์การสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นลักษณะของการให้เปล่าโดย วว.ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่กรมสรรพากรถือว่าเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ วว.ต้องอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายด้วย (หนังสือที่ กค 0702/1098)
ดังนั้นเพื่อเป็นการตัดปัญหาภาระภาษีดังกล่าว เสียตั้งแต่ต้น ผู้ดำเนินโครงการต้องมีหน้าที่เจรจาให้หน่วยงานที่จะเป็นผู้รับโอนเป็นผู้รับผิดชอบในภาระภาษีด้วย ซึ่งหากมิได้มีข้อตกลงดังกล่าวกันไว้ วว. ในฐานะผู้โอนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในภาระภาษีดังกล่าว
4. หลักฐานที่ต้องมีต่อกันระหว่าง วว. กับหน่วยงานผู้รับโอน
เมื่อ วว. ได้ดำเนินการส่งมอบพัสดุหรือครุภัณฑ์ให้แก่หน่วยงานผู้รับโอนตามข้อ 2 แล้ว ให้จัดทำหลักฐานการส่งมอบไว้ต่อกันด้วย (ระเบียบข้อ 215(3) ซึ่งหลักฐานการส่งมอบดังกล่าวจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีรายละเอียดที่ระบุอย่างชัดแจ้งว่าหน่วยงานผู้รับโอนได้รับมอบพัสดุใดไว้บ้าง และผู้แทนของหน่วยงานต้องลงลายมือชื่อการรับมอบไว้เป็นหลักฐาน
ตามที่ได้กล่าวมาเห็นว่าผู้อ่านบทความโดยเฉพาะนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการต่างๆ น่าจะพอมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้ดำเนินโครงการบางส่วนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่าพัสดุโครงการที่หมดความจำเป็นภายหลังโครงการเสร็จสิ้นนั้นสามารถที่จะโอนให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือแม้แต่การโอนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้ใช้ร่วมกันต่อไป
Leave a Reply