รู้ไหม มะพร้าวใช้ฆ่าลูกน้ำยุงได้อย่างไร?

มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) มีชื่อสามัญว่า coconut มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera L. มะพร้าวนั้นนิยมปลูกอยู่แทบจะทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพราะมันถือได้ว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของมันสามารถนำมาทำประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการนำผลและน้ำมาทำอาหารคาวหวาน หรือนำลำต้น กะลา ก้าน และใบ มาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือของใช้ต่างๆ แต่ ความสารพัดประโยชน์ของมะพร้าวยังหมดแค่นั้น เพราะน้ำมะพร้าวจากผลมะพร้าวแก่ ยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอ (Bacillus thuringiensis subsp. israelensis: BTI) ซึ่งเป็นศัตรูทางธรรมชาติของลูกน้ำยุงโดยเฉพาะ แต่ไม่เป็นพิษภัยต่อคนและสัตว์อื่นๆ
การทดลองนำน้ำมะพร้าวมาเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอนี้ ถูกทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวเปรูชื่อ พาลมิลา เวนโตซิลลา (Palmira Ventosilla) เธอได้ทดลองนำวัตถุดิบพื้นเมืองต่างๆ ของเปรูมาทำการเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอแบบง่ายๆ โดยได้ทดลองกับกล้วย สับปะรด ธัญพืชต่างๆ รวมถึงมะพร้าว และในที่สุดก็พบว่า มะพร้าวแก่สามารถใช้เพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอได้ดีที่สุด โดยเธอได้ทดลองนำเชื้อแบคทีเรียบีทีไอ 100 ตัว ฉีดเข้าไปในผลมะพร้าว ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน ปริมาณเชื้อแบคทีเรียบีทีไอได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าที่อุณหภูมิห้องปกติ เธอค้น พบว่า ในน้ำมะพร้าวมีสารอาหารที่ดีต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบีทีไอ และผลมะพร้าวเองก็ทำหน้าที่เสมือนถังบ่มเพาะเชื้อชั้นเลิศ จากการผลทดลองนี้ พาลิมาจึงได้ นำแบคทีเรียที่เพาะในผลมะพร้าวไปทดลองฆ่าลูกน้ำยุงในบ่อ ซึ่งมันก็ผลที่ได้น่าพอใจ อย่างยิ่ง เพราะเชื้อที่เพาะในผลมะพร้าวสามารถฆ่าลูกน้ำยุงได้หมดภายในครั้งเดียว อีกทั้งยังสามารถควบคุมการเกิดใหม่ของลูกน้ำยุงได้นานถึง 45 วันอีกด้วย จากผลการทดลองที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว พาลมิลาจึงได้ทำการประดิษฐ์ชุดกำจัดลูกน้ำยุงพร้อมใช้จากผลมะพร้าวขึ้น ซึ่งวิธีใช้ก็ไม่ยาก เพียงแค่ผ่าผลมะพร้าวและโยนลงบ่อ 2-3 ลูก ก็สามารถควบคุมปริมาณยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่นๆ ในบ่อ
แม้นักวิทยาศาสตร์หญิงท่านนี้จะไม่ใช่คนไทย แต่การทดลองของเธอก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการประยุกต์ใช้วัสดุของใช้จากธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาแบบประหยัดไม่ยุ่งยาก และมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ตรงกับศาสตร์พระราชาในเรื่องของการทำให้ง่ายนั่นเอง
อ้างอิงจาก หนังสือเทคโนโลยีสำหรับชาวชนบท