กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินงานตาม นโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” มุ่งเน้นมิติสร้างความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ
โดยการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศโครงการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local enterprise) บนฐานทรัพยากรพื้นฐานเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ในพืชเศรษฐกิจใหม่ 2 ชนิด คือ สมุนไพรและมะม่วงหิมพานต์ของจังหวัดน่าน ซึ่ง วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหนึ่งในเครื่องมือวิจัยและพัฒนาพื้นที่หจังหวัดน่าน ตามนโยบายดังกล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การดำเนินงานของ วว. มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำรวมทั้งเชื่อมโยงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดธุรกิจชุมชนที่ยั่งยืนในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value chain) เพื่อยกระดับกลุ่มเกษตรกร ปรับบทบาทจากเกษตรกรรายย่อยเป็นผู้รวบรวมผลผลิตในพื้นที่ ในรูปแบบเพิ่มทักษะและศักยภาพการผลิต (Upskill and Upscale) การแก้ไขปัญหาการสูญเสียในกระบวนการผลิต การควบคุมวิธีการผลิตตั้งแต่ต้นทางและเข้าสู่กระบวนการผลิต การจัดทำมาตรฐาน กระบวนการผลิตที่ดี (Standard Operating Procedure : SOP) การยกระดับการแปรรูปทั้งการแปรรูปขั้นต้นและขั้นปลาย ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ ของมะม่วงหิมพานต์และสมุนไพร ทั้งปริมาณและคุณค่า (Volume และ value) เพื่อสร้างธุรกิจเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบหรือสินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพควบคู่กับมาตรฐานที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ได้แก่ ผลวิเคราะห์องค์ประกอบ หรือสารออกฤทธิ์ ทำให้เกิดความเชื่อมมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน สร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ซึ่งทรัพยากรทั้ง 2 ชนิด เป็นที่ต้องการทางตลาดสามารถสร้างรายได้เป็นธุรกิจชุมชนในพื้นที่ได้
มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชที่สามารถปลูกในสภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ใช้น้ำน้อย โดยจังหวัดน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง มะม่วงหิมพานต์ จึงเหมาะสมกับสภาพพื้นที่สามารถทนแล้งได้ อีกทั้งตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ทั้งนี้ จังหวัดน่านมีการปลูกมะม่วงหิมพานต์ที่ช่วยสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ จังหวัดน่านมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทต่อปี จากการสำรวจข้อมูลโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า จังหวัดน่านมีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 23,090 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 13,554 ไร่ มีผลผลิตรวม 6,573,690 กิโลกรัม/ปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอนาหมื่น แม่จริม เมืองน่าน และสันติสุข ราคาที่เกษตรกรขายผลผลิตได้ 36.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่นและอีกร้อยละ 10 จำหน่ายตรงให้โรงงานแปรรูปในจังหวัด เพื่อแปรรูปเป็นเมล็ดกะเทาะเปลือกดิบและอบพร้อมรับประทาน
จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลของทีม วว. พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการจัดการแปลงที่ดี ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ อีกทั้งเกษตรกรยังไม่ได้ตระหนักถึงการพัฒนาด้านคุณภาพมากนัก ทำให้ผลผลิตบางส่วนมีการปะปนของเมล็ดที่ไม่ดี เช่น เมล็ดลีบ แบน เน่า เสีย เป็นต้น เมื่อนำไปจำหน่ายต่อผู้รับซื้อจึงไม่นิยมรับซื้อและอาจทำให้ราคาผลผลิตมีการปรับลดลงตามคุณภาพของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
วว. จึงเข้าไปช่วยตอบโจทย์ด้วยการพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ใน 3 พื้นที่/ชุมชน ได้แก่ ตำบลฝายแก้ว ตำบลเมืองจัง และตำบลน้ำแก่น อำเภอภูเพียง สามารถรวมกลุ่มสมาชิกได้จำนวน 89 ราย (จากเดิมจำนวน 53 ราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 ปริมาณพื้นที่เก็บเกี่ยวก่อนการรวมกลุ่มมีจำนวน 236 ไร่ ภายหลังจากรวมกลุ่มทำให้มีปริมาณพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 443 ไร่ โดยสมาชิกเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม มีปริมาณการขายได้รวม 21.051 ตัน มีรายได้รวมจากการขายเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เท่ากับ 605,192 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 8,016 บาทต่อราย มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.76
สำหรับการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value chain) วว. ดำเนินการยกระดับกลุ่มเกษตรกรโดยปรับบทบาทจากเกษตรกรรายย่อยเป็นกลุ่มเกษตรกรรวบรวมผลผลิตในพื้นที่ได้จำนวน 15 กลุ่ม โดยมีจำนวนประชากรหรือผู้ประกอบการที่ร่วมดำเนินโครงการจำนวน 468 คน เกิดมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.79 รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 62.22 นอกจากนี้ยังแก้ไขปัญหาหลักของการสูญเสียในกระบวนการผลิต โดยควบคุมวิธีการผลิตตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะเมล็ดเสีย ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการกระเทาะเปลือกดิบ ทำให้สัดส่วนเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่กะเทาะได้เกิดความสูญเสียลดลงร้อยละ 10 รวมทั้งมีการแปรรูปและส่งผลผลิตเมล็ดดิบสู่ระบบการจำหน่าย
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าและเกิดการใช้ประโยชน์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ให้มากขึ้น วว. ดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ผู้แปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้แก่ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก่นมะม่วงหิมพานต์ ล้านนาภูเพียง อำเภอภูเพียง 2) วิสาหกิจเกษตรกรบ้านน้ำพาง อำเภอแม่จริม และ 3) ร้านบ้านถั่วลิสง อำเภอเมืองน่าน ให้มีความสามารถในการปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดและอบไล่น้ำมัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เยื่อแดงอบ ผลิตภัณฑ์น้ำพริก 4 รสชาติ (รสดั้งเดิม รสปลาร้า รสกากหมู รสปลาป่น) ขนมขบเคี้ยวจากเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (ขนมขบเคี้ยวรูปแท่ง และกราโนล่า) คุกกี้วีแกนจากเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เคลือบปรุงรส 4 รสชาติ (รสอบเชย รสพริก กระเทียม รสขมิ้นชัน และรสโกโก้) รวมทั้งได้เริ่มต้นเชื่อมโยงตลาดและผู้ขายในพื้นที่ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะม่วงหิมพานต์ที่ได้จากการดำเนินโครงการนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 133.39% และผู้ประกอบการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.36
นอกจากการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แล้ว วว. ยังนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดำเนิน โครงการสร้างโอกาสทางเลือกให้กับสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้แก่ ขิง อัญชัน เมล็ดมะไฟจีน สมุนไพรตำรับตรีผลา และสมุนไพรตำรับล้านนา ในพื้นที่ อำเภอเมืองน่าน สันติสุข ภูเพียงและเวียงสา โดยดำเนินการเชื่อมต่อระหว่างผู้ปลูก ผู้รวบรวม ผู้แปรรูปเบื้องต้นและขั้นสูง เพื่อให้เกิดเป็น value chain สมุนไพร ผ่านการพัฒนากระบวนการผลิต การปลูก การจัดการแปลง การพัฒนาระบบรวบรวมสมุนไพร การพัฒนาการแปรรูป การวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อการเชื่อมต่อตลาดและผู้ต้องการใช้ประโยชน์ การพัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์สมุนไพรอบแห้งและสารสกัดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต และการพัฒนามาตรฐานการผลิตโรงเรือน
โดยได้สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในโครงการ ได้แก่ สมุนไพรอบแห้ง สารสกัด ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และการสร้างข้อกำหนดมาตรฐานการผลิตสมุนไพร ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายสมุนไพรคิดเป็นมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น 106.72% รายได้ของเกษตรกรและกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 65
สมุนไพรขิง พัฒนากลุ่มเกษตรกรเครือข่ายเกษตรอินทรีย์น่าน เป็นผู้ผลิตและแปรรูปขิง ยกระดับวิสาหกิจชุมชนเกษตรพอเพียงร่วมใจรักสันติสุข เป็นผู้รวบรวมผลผลิตขิงแห้งและจำหน่าย ยกระดับวิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน เป็นผู้แปรรูปขั้นสูงและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว โดย วว. สกัดสารสำคัญจากขิงและนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของชุมชนชีววิถีฯ ช่วยลดต้นทุนการใช้วัตถุดิบขิงแห้งได้ลดลง 30%
อัญชัน พัฒนาเกษตรกรบ้านท่าลี่ เป็นผู้ปลูกอัญชันเพื่อเก็บดอก ยกระดับวิสาหกิจชุมชนท่าลี่ชีวศรม เป็นผู้รวบรวม แปรรูปและจำหน่ายดอกอัญชันแห้ง
เมล็ดมะไฟจีน ยกระดับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอก เป็นผู้รวบรวมและแปรรูปเมล็ดมะไฟจีน วว. นำเมล็ดมะไฟจีนมาสกัดสารสำคัญสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน เครื่องสำอางและอาหารเสริม โดยได้สารสกัดที่มีคุณสมบัติเป็นที่ต้องการของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
สมุนไพรตำรับตรีผลา (มะขามป้อม สมอพิเภก สมอไทย) ยกระดับเกษตรกรบ้านกิ่วม่วง เป็นผู้ผลิตสมุนไพรตรีผลาและอบแห้ง เพื่อการจำหน่าย
สมุนไพรตำรับล้านนา /สมุนไพรรวมคุระ (กะเม็ง พลู ตำลึง ใบย่านาง) พัฒนาเกษตรกรบ้านศรีบุญเรือง เป็นผู้ปลูกและผลิตสมุนไพรเพื่อการจำหน่าย ยกระดับบริษัทสมุนไพรหมอศุภ จำกัด เพื่อเป็นผู้แปรรูประดับสูงและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดย วว. พัฒนากระบวนการสกัดสารสกัดสมุนไพรตำรับล้านนาและสมุนไพรรวมคุระ ได้กระบวนการสกัดที่สามารถลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและลดต้นทุน จากการวิเคราะห์ทดสอบพบว่าสารสกัดคุระมีประสิทธิภาพในการลดการเกิดอักเสบต่อผิวหนัง โดยได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในชื่อของ KURA series
วว. ดำเนินงานโครงการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ฯ จังหวัดน่าน ในรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจท้องถิ่น (Business Management) โดยการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้ครบตามห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วย การพัฒนาสมรรถนะของคนในแต่ละบทบาท การพัฒนากระบวนการผลิต ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ได้สร้างเป็นข้อกำหนดให้กับผู้ประกอบการสำหรับใช้เป็นคู่มือในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งโครงการได้นำข้อมูลของทั้งฝั่ง supply และ demand มาดำเนินการออกแบบกระบวนการพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการต่อยอดธุรกิจแบบ circular คือ ใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งในการแปรรูป และการบริหารจัดการวัตถุดิบ การควบคุณภาพการผลิตวัตถุดิบ และขั้นตอนการดำเนินการเชิงพาณิชย์เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล tistr@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/
………………………………………….
📍นำเสนอข่าวโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว.
☎️ โทร. 0 2577 9048
📧 E-mail : pr@tistr.or.th
🟩 Line@tistr
🟧 IG : tistr_ig
🟥 YouTube : tistr2506
🟪 TIKTOK : @tistr2506