ที่มา : กรกช มีชำนาญ, สำนักรับรองระบบคุณภาพ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน และสาเหตุที่สำคัญอันดับหนึ่งก็คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ฯลฯ ซึ่งก๊าซมลพิษเหล่านี้จะถูกแปลง (Transfer) ให้อยู่บนพื้นฐานของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงได้ประชุมและตกลงร่วมกันใน พิธีสารเกียวโต ในการที่ประเทศพัฒนาแล้ว (Annex 1) เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น เป็นต้น จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ให้ต่ำกว่าระดับก๊าซที่เป็นมลพิษในปี 2533 โดยเฉลี่ย 5.2% ระหว่างปี 2551-2555 เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วจะประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซดังกล่าว พิธีสารจึงกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาดแก่ประเทศกำลังพัฒนา (Non-Annex 1) ได้ด้วยการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเหล่านั้น หรืออีกทางหนึ่ง ประเทศพัฒนาแล้ว อาจซื้อโควต้าคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาโดยตรง เพื่อนำปริมาณคาร์บอนที่ยังไม่ได้ใช้ไปหักลบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนเอง จึงมีการดำเนินการในเรื่องของการซื้อขายมลพิษ หรือ คาร์บอนเครดิต เกิดขึ้น

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับคำว่า “คาร์บอนเครดิต” ก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ ที่เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า CDM (Clean Development Mechanism) โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีสิทธิ์ขายคาร์บอนเครดิต ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการเผาทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น ผู้ดำเนินโครงการ จะต้องนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นและลดลงในทุกกิจกรรมมาคำนวณคาร์บอนเครดิต ผู้ที่ต้องการค้าคาร์บอนเครดิต ต้องดำเนินการตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ผู้ดำเนินโครงการต้องออกแบบโครงการและจัดทำเอกสารประกอบโครงการ โดยต้องกำหนดขอบเขตของโครงการ วิธีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการติดตามผลการลดก๊าซ และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  2. ตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ โดยส่วนใหญ่ จะทำการจ้างหน่วยงานกลาง (Designated Operational Entity) ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ แทนคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board) ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี นอกจากนั้น ผู้ดำเนินโครงการต้องได้รับหนังสือเห็นชอบจากองค์กรระดับชาติ ซึ่งในประเทศไทย คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 จะพิจารณาและออกใบรับรองแก่โครงการ
  3. การขึ้นทะเบียนโครงการต่อคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด ซึ่งจะมี 4 ขั้นตอนย่อย ก่อนการออกใบรับรองสิทธิ์การค้าก๊าซเรือนกระจก คือ การติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยืนยันการลดก๊าซ การรับรองการลดก๊าซ และการอนุมัติคาร์บอนเครดิต หรือการออกใบรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก (Certified Emission Reductions ; CER)  โดยคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด

สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  เป็นหน่วยรับรอง (Certification Body; CB) ให้บริการการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล เช่น ระบบบริหารจัดการคุณภาพ (ISO 9001), ระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001), ระบบบริหาร    จัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (มอก. 18001 หรือ OHSAS 18001), ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางด้านอาหาร (ISO 22000) และระบบ GMP & HACCP  สรร. เห็นความสำคัญในการเป็นองค์กรที่สนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐและเอกชน ในอนาคต สรร. อาจจะขยายขอบข่ายการให้บริการ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการพัฒนาโครงการให้กับภาคเอกชน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างหน่วยงานกลางที่ปัจจุบันเป็นบริษัทต่างชาติเกือบทั้งหมด  สรร. ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชน หันมาให้ความสนใจ ในการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด และพัฒนาไปสู่ผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตในอนาคต อย่างน้อยมีการเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาเทคโนโลยีทีสะอาดเพิ่มขึ้น และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย เท่านี้ก็เป็นการช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง :

  1. http://www.meawatch.org
  2. http:// www.tlcthai.com
  3. http:// www.oknation.net
  4. http:// www.tgo.or.th