ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2552
สถาบันไอเอ็มดี (IMD : International Institute for Management Development) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้สรุปผลความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ (World Competitiveness) ในปี 2552 โดย สำรวจจาก 52 ประเทศ
ซึ่งประเทศไทยในปี 2552 นั้น ภาพรวมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย (Overall Competitiveness) ถูกปรับอันดับดีขึ้น โดยปรับอันดับจากปี 2550 ซึ่งอยู่อันดับที่ 33 และปี 2551 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 27 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 26 ในปี 2552
อันดับความสามารถทางการแข่งขันนี้จะพิจารณาจาก 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ
- ประสิทธิภาพทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance)
ซึ่งในปี 2552 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 14 โดยในปีนี้ ไทยถูกปรับอันดับลดลงหลังจากที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 ที่ลงไปอยู่อันดับที่ 19 จนปี 2551 ขึ้นมาที่อันดับที่ 12
- ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
ซึ่งในปี 2552 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 17 โดยไทยถูกปรับอันดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับหลังจากที่ถูกปรับอันดับลดลงอยู่ที่ 27 เมื่อปี 2550
- ประสิทธิภาพทางธุรกิจ (Business Efficiency)
ซึ่งในปี 2552 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 25 โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่อันดับที่ 25 คงที่มาโดยตลอด เว้นแต่ในปี 2550 ที่ไทยถูกปรับอันดับลดลงไปอยู่ที่ 34
- ประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ซึ่งในปี 2552 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 42 โดยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มถูกปรับอันดับลดลง โดยลดลงต่ำสุดอยู่ที่อันดับ 48 ในปี 2550 แล้วปรับขึ้นมาอยู่ที่ 39 ในปี 2551 แล้วถูกปรับลดลงอีกครั้งในปีนี้
หากเรามาพิจารณาทั้ง 4 ด้าน จะเห็นได้ว่าอันดับความสามารถทางการแข่งขันในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าทุกด้าน และอยู่ในกลุ่มที่เป็นลบ อะไรคือตัวทำให้ความสามารถทางการแข่งขันในด้านนี้ของเราต่ำนั้น คงต้องมาพิจารณาถึงแนวทางการวัดความสามารถในด้านนี้ ว่าทาง IMD พิจารณาในด้านใดบ้าง
ความสามารถทางการแข่งขันในด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น IMD พิจารณาใน 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ
- ความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Infrastructure)
ซึ่งพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐานของไทย โดยปี 2552 ประเทศไทยถูกจัดไว้ที่อันดับที่ 29 ซึ่งคงที่เท่ากับปี 2551 และถูกปรับขึ้นจากปี 2550 จะเห็นได้ว่าความสามารถด้านนี้ยังเป็นบวก
- โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure)
ซึ่งพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เครือข่ายการสื่อสาร การโทรคมนาคม และโทรศัพท์ของไทย ปี 2552 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 36 โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา อันดับของไทยถูกปรับลดลงจากปี 2548 ไปอยู่อันดับต่ำสุดที่ 48 ในปี 2550 และขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
- โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure)
ซึ่งพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย งานพัฒนา งานสิทธิบัตร ด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ในด้านนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อันดับไทยมีการปรับขึ้นลงสลับกันในลักษณะฟันปลา โดยในปี 2552 ไทยถูกปรับอันดับลดลงมาอยู่ที่อันดับที่ 40 จาก 52 ประเทศ
- สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environment)
ซึ่งพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณสุข คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และมลภาวะของไทย สำหรับในด้านนี้ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ไทยถูกปรับอันดับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 โดยปี 2550 ไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 48 และกระตื้อขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 47 ในปี 2551 แล้วกลับลงต่ำไปอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 52 ประเทศ ในปี 2552
- การศึกษา (Education)
ซึ่งพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา การถ่ายทอดความรู้ คุณภาพและทักษะต่าง ๆ ของไทย ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อันดับมีการปรับขึ้นลงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับด้าน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม นั่นคือจากปี 2548 ไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 46 ในปี 2550 และขึ้นไปอันดับที่ 43 ในปี 2551 แล้วกลับลงต่ำไปอยู่อันดับที่ 47 จาก 52 ประเทศในปี 2552
มาถึงตรงนี้คงพอจะทราบข้อมูลแล้วว่า การที่เราจะพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนนั้น ควรเริ่มตรงที่จุดไหน และด้านใด
ที่มา : http://www.imd.ch/wcc (IMD : International Institute for Management Development)