เตาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานฟรี จากค่ายเยาวชนสะแกราช
เตาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานฟรี จากค่ายเยาวชนสะแกราช
>>>>> โดย วัชรีวรรณ ทรัพย์รุ่งเรือง <<<<<
“ไข่ต้มพลังงานแสงอาทิตย์ของเด็กๆ พร้อมทานแล้วค่ะ”
ไม่น่าเชื่อว่า เพียงระยะเวลาแค่ 3 – 4 ชั่วโมง กับแสงแดดจ้าในฤดูร้อนกลางป่าดิบแล้งสะแกราช จะทำให้เยาวชนสมาชิกค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์ ของ วว. ได้รับประทานไข่ไก่ที่สุกทั่วถึงกัน
เราได้ให้น้องๆ เยาวชนทำการทดลอง ประดิษฐ์เตาพลังงานแสงอาทิตย์ เลียบแบบตามหลักการทำเตาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล่อง (Solar Box Cooker) ของมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ด้วยหลักการง่ายๆ อันได้แก่ การใช้พื้นผิวโลหะที่รองรับและสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ และเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน ก่อนที่จะถ่ายเทไปสู่พื้นผิวภาชนะที่รองรับอาหารที่ต้องการปรุงให้สุก
ด้วยหลักการดังนี้ จะได้ เตาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล่อง (Solar Box Cooker) ที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ภายในกล่องสี่เหลี่ยมมีผนัง 4 ด้าน และพื้น 1 ด้านที่เป็นฉนวนกันความร้อนที่สามารถกักเก็บความร้อน ส่วนด้านบนของกล่องปิดด้วยกระจกใส เมื่อแสงแดดส่องผ่านกระจกเข้าไปในกล่อง จะถูกดูดซับไว้ด้วย แผ่นรองรับแสงสีดำและภาชนะใส่อาหารสีดำ พลังงานแสงที่ถูกดูดซับเอาไว้จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนสะสมอยู่ภายในกล่อง
น้องๆ เยาวชน แบ่งกลุ่มกันออกไปเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มช่วยกันสร้างเตาเลียนแบบเตาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล่อง (Solar Box Cooker) ด้วยหลักการเดียวกัน จากวัสดุ อุปกรณ์ที่พอหาได้ ได้แก่ ลังกระดาษ A4 กระดาษอะลูมิเนียมฟอยล์ ปกเอกสารแผ่นใส กระดาษโปสเตอร์สีดำ กรรไกร คัตเตอร์ แลกซิน ฯลฯ
จากการสังเกตการณ์ของทีมงาน และพี่เลี้ยง พบว่าเยาวชนทุกคนตื่นเต้นมาก และร่วมมือร่วมใจช่วยกันประดิษฐ์เตาพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอย่างดี หลายกลุ่มทำได้เหนือความคาดหมายว่าเยาวชนชั้นประถมศึกษาตอนปลายจะสามารถทำได้ น้องๆ ใช้หลักการสังเกต พยายามประดิษฐ์เลียนแบบเตาต้นแบบให้ใกล้เคียงได้มากที่สุด มีการใช้หลักการดูดซับแสง-โดยใช้กระดาษสีดำ หลักการสะท้อนของแสง-ใช้อะลูมิ
เนียมฟอยล์ หลักการกักเก็บความร้อน-ใช้แผ่นใสปิดหน้ากล่อง จนทำให้หลายกลุ่มประสบความสำเร็จในการทำไข่ให้สุก
กิจกรรมนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เยาวชนชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่น้องๆ ได้ลงมือทำเอง ประดิษฐ์สิ่งของ และทำการทดลองเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) ด้วยตัวเอง สร้างความรู้ (knowledge) ความภาคภูมิใจ (proudly) ให้กับเยาวชน และยังก่อให้เกิดความตระหนัก (awareness) ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้เยาวชนมีทัศนคติ (attitude) ที่ดีต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อโลกที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น