วุ้นมะพร้าว
วุ้นมะพร้าว หรือ วุ้นสวรรค์ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “NATA de coco” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกระบวนการหมักน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยกิจกรรมของแบคทีเรียกรดน้ำส้ม (Acetic acid bacteria) ที่พบได้ทั่วไปในการทำน้ำส้มสายชูหมักตามธรรมชาติ แบคทีเรียกรดน้ำส้มนี้มีชื่อเรียกว่า Acetobacter xylinum ผลผลิตจากกระบวนการหมักของแบคทีเรียกรดน้ำส้มนี้คือ โพลิแซคคาร์ไรด์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วุ้นน้ำมะพร้าว (วุ้นสวรรค์)” นั้นเอง แผ่นวุ้นนี้เป็นเซลลูโลส (Bacterial cellulose) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ของน้ำตาลกลูโคสเรียงต่อกันเป็นสายยาวด้วยพันธะเบต้า -1,4 ไกลโคซิดิค (B-1,4 glycosidic bond) และกรดน้ำส้ม (กรดอะซิติก) ซึ่งมีรสเปรี้ยว
จากคุณสมบัติ และลักษณะโครงสร้างทางเคมีของวุ้นน้ำมะพร้าวนี้ เมื่อมนุษย์รับประทานเข้าไป ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์จะไม่มีน้ำย่อยหรือเอนไซม์ใดๆ ที่สามารถย่อย สลายวุ้นน้ำมะพร้าวนี้ได้ ดังนั้น วุ้นน้ำมะพร้าวจึงถูกจัดเป็นสารอาหารประเภทเส้นใยอาหาร (Dietary fiber)
จากคุณสมบัติดีเด่นของวุ้นน้ำมะพร้าวจึงมีผู้นิยมบริโภค โดยใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก และเป็นประโยชน์ในด้านการส่งเสริมและ/หรือช่วยระบบขับถ่าย ตลอดจนสามารถนำมาแปรรูป/ประยุกต์ใช้เป็นอาหาร และ/หรือส่วนประกอบของอาหารคาวหวานได้มากมายหลายชนิด เช่น ยำ หรือใช้ แทนปลาหมึก หรือแมงกะพรุนในอาหารประเภทต่างๆ วุ้นลอยแก้ว รวมมิตร โยเกิรต์ ไอศกรีม และเยลลี่ เป็นต้น
ปริมาณและสารอาหารในวุ้นมะพร้าว ประกอบด้วย
- น้ำ 94.40 %
- ไขมัน 0.05 %
- ไฟเบอร์ 1.10 %
- เถ้า 0.77 %
- คาร์โบไฮเดรต 3.00 %
- แคลเซียม 34.50 มิลลิกรัม/100 กรัม
- เหล็ก 0.20 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ฟอสฟอรัส 22.00 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ไทอามีน 0.01 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ไรโบเฟลวิน 0.06 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ไนอาซีน 0.22 มิลลิกรัม/100 กรัม
(ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ,2518)
การผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว (วุ้นสวรรค์)
วัตถุดิบและอุปกรณ์
การเตรียมหัวเชื้อเริ่มต้น (starter)
- น้ำมะพร้าวสดใหม่ 100 มิลลิลิตร (ซีซี)
- น้ำตาลทราย (0.5-1.0%) 0.5-1.0 กรัม
- หัวเชื้อวุ้น Acetobacter xylinum
- ขวดแก้วสะอาด (เช่น ขวดโซดา)
- สำลีและกระดาษสมุดหน้าเหลือง/กระดาษปอนด์
การผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว
- น้ำมะพร้าวจากผลแก่ 1 ลิตร
- น้ำตาลทราย (0.5-1.0%) 50-100 กรัม
- หัวน้ำสมสายชู (5%) 1 ช้อนโต๊ะ
- สารแอมโมเนียมซัลเฟต 0.5-1.0 กรัม
- เหล้าขาว (เอทธานอล) 100-150 00มล.
- หัวเชื้อ A.xylinum 100-200 มล.
หมายเหตุ; * ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่
วิธีการเตรียมหัวเชื้อเริ่มต้น
- นำน้ำมะพร้าวและน้ำตาลทรายผสมกันตามอัตราส่วนข้างต้นผสมในหม้อ
- ปิดฝาหม้อ ต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที
- นำไปบรรจุลงในขวดแก้วสะอาด ปิดปากขวดด้วยจุกสำลี
- นำไปหล่อเย็นในอ่างน้ำ
- เมื่อขวดอาหานเย็นแล้ว เติมหัวเชื้อวุ้นบริสุทธิ์ลงไปปิดจุกสำลีแล้วหุ้มด้วยกระดาษสมุดหน้าเหลือง หรือกระดาษหนังสือพิมพ์
- นำไปบ่มไว้ที่อุณภูมิห้อง เป็นเวลาประมาณ 2-3 วัน เชื้อจะเจริญเติบโต โดยจะสังเกตเห็นแผ่นวุ้นขุ่นๆ เป็นชั้นบางๆ พร้อมใช้งานเพื่อเป็นหัวเชื่อเริ่มต้น
วิธีการผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว
- นำน้ำมะพร้าวมาผสมกับน้ำตาลทรายและแอมโมเนียมซัลเฟต ตามอัตราส่วนข้างต้น ลงในหม้อ
- ปิดฝาหม้อแล้วต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที
- จากนั้นนำหม้อมาหล่อเย็นในอ่างน้ำ
- ทิ้งไว้พออุ่นๆ จึงเติมกรดอะซิติกเหล้าขาว และหัวเชื้อวุ้นลงไป ผสมให้เข้ากัน ( ผสมทุกอย่างตามอัตราส่วนที่กำหนดและถ้าต้องการการผลิตแผ่นวุ้นหลายๆแผ่นจะต้องเพิ่มอัตราส่วนตามกำหนด)
- นำถาดสเตนเลสหรือถาดพลาสติกที่เตรียมไว้ (โดยผ่านการลวกฆ่าเชื้อถาดด้วยน้ำร้อนเรียบร้อยแล้ว ปิดถาดด้วยกระดาษปอนด์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยการใช้เตารีดร้อนๆ)
- เปิดกระดาษออกเล็กเล็กน้อย เพื่อเติมอาหารเลี้ยงเชื้อวุ้นข้างต้นลงไปในถาดโดยให้มีความสูงประมาณ 3-4 ซม. จากก้นถาด
- ปิดด้วยกระดาษเหมือนเดิมเพื่อป้องกันฝุ่นหรือเชื้ออื่นลงไป แต่อากาศยังสามารถผ่านเข้าออกได้
- นำไปวางไว้ในห้องบ่มเลี้ยงเชื้อเป็นระยะเวลา 7-14 วันโดยประมาณ หรือทำการเลี้ยงเชื้อจนกระทั่งอาหารเกือบแห้งจะได้แผ่นวุ้นที่มีความหนาประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของอาหารเลี้ยงเชื้อ
ข้อควรระวัง
ในระหว่างบ่มเลี้ยงเชื้อห้ามย้ายและกระทบกระเถือนถาด โดยแผ่นวุ้นที่ผลิตได้จะมีกลิ่นเปรี้ยวเนื่องจากเชื้อวุ้นจะผลิตกรดน้ำส้ม (กรดอะซิติก) ซึ่งมีรสเปรี้ยวออกมาด้วย
หมายเหตุ
น้ำหมักส่วนที่เหลือจากการเก็บผลผลิต (แผ่นวุ้น) ออกไปแล้ว สามารถนำไปเป็นหัวเชื้อเริ่มต้นสำหรับการหมักครั้งต่อไปได้ หรือนำมากรองแล้วนำไปต้มพอเดือดเพื่อแปรรูปเป็นน้ำส้มสายชูหมักสำหรับปรุงอาหารได้
การแปรรูป
ก่อนนำมาประกอบอาหารหรือแปรรูป ต้องล้าง กรดออกให้หมดก่อน โดยนำแผ่นวุ้นทั้งแผ่น หรือตัดแผ่นวุ้นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดพอคำหรือเป็นเส้นๆก่อน แล้วนำมาแช่ในน้ำสะอาดนานประมาณ 2-3 คืนโดยหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำที่แช่วันละ 2 ครั้ง (เช้าเย็น) กลิ่นกรดและรสเปรี้ยวก็จางหายไป นำวุ้นข้างต้นขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารคาว หวาน ต่อไป หรือนำบรรจุขวดแก้วปิดผาสนิท แล้วนำไปต้มฆ่าเชื้อในน้ำเดือดนาน 30 นาที ตั้งทิ้งไว้ให้เย้นสามารถเก็บไว้บริโภคไว้ได้