สร้างสื่อที่น่าสนใจกว่าด้วย Gifographic
อทิตยา วังสินธุ์
กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร
เมื่อกล่าวถึงสื่อ Infographic หลายคนคงจะรู้จักดีไม่มากก็น้อย ว่าเป็นสื่อที่มีการนำรูปภาพกราฟิกและข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถิติ ความรู้ แผนผัง ตัวเลข ฯลฯ นำมาสรุปย่อและออกแบบให้ดูเข้าใจง่ายในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากมนุษย์สามารถจดจำภาพได้ดีกว่าข้อมูล เหมาะสำหรับคนยุคใหม่ที่ต้องการรับสารที่สั้นกระชับในเวลาจำกัด และกำลังเป็นที่นิยมในโลก Social Network แต่ทราบหรือไม่ว่ายังมีสื่อที่สามารถนำเสนอได้น่าสนใจและดึงดูดกว่านั่นก็คือ Gifographic
Gifographic จะเรียกว่าเป็นสื่อที่พัฒนามาจาก Infographic ก็ว่าได้ ซึ่งมีการเพิ่มรูปแบบให้มีความน่าสนใจขึ้นด้วยภาพเคลื่อนไหว Gif (Graphics Interchange Format) Gifographic ประกอบด้วย ข้อมูล กราฟิก และภาพเคลื่อนไหว เราสามารถใช้โปรแกรมในการสร้างสื่อ Gifographic ได้หลากหลายโปรแกรม อาทิเช่น Adobe Photoshop, Adobe Illustrator หรือ Inkscape
Gifographic มีขั้นตอนในการผลิตดังนี้
- กำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย ต้องการจะสื่ออะไรกับคนกลุ่มไหน เพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบและเนื้อหาการนำเสนอได้ง่ายและเหมาะสมกับกลุ่มคนที่ต้องการสื่อสารด้วยมากที่สุด
- เลือกเนื้อหาในการนำเสนอ ในสื่อ Gifographic แต่ละชิ้นงานนั้น ควรเลือกเรื่องที่จะนำเสนอเพียงเรื่องเดียว หัวข้อเดียวเท่านั้น และกำหนดใจความสำคัญที่ต้องการจะสื่อสารให้ชัดเจน
- สำรวจและรวบรวมข้อมูล ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่สำรวจและรวบรวมมาอย่างดีทุกครั้ง สามารถตรวจสอบที่มาที่น่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ ได้ เพื่อให้มีความถูกต้องของข้อมูลที่ต้องการจะสื่อสาร
- สร้างหัวเรื่อง (Topic) ที่น่าสนใจ คิดประเด็น สร้างหัวเรื่องให้น่าดึงดูดชวนให้ติดตามเนื้อหาต่อไป
- ออกแบบและผลิต ออกแบบ Gifographic ให้โดดเด่น สวยงาม สร้างกราฟิกสะดุดตา สีสันชวนมอง นอกจากจะช่วยดึงดูดให้คนเข้ามาดูแล้ว การจัดวางที่ดี จะช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น และสื่อสารตรงประเด็น สั้น และกระชับใจความ จบภายในหน้าเดียว
ข้อดีของ Gifographic คือ
- สร้างความน่าสนใจได้มากกว่า Infographic ด้วยการแสดงผลเป็นภาพเคลื่อนไหว
- แสดงผลได้บน Twitter และ Google+ เพียงแค่อัพโหลดภาพไฟล์ .gif ก็สามารถแสดงผลเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ทันที
- มีคำอธิบายที่กระชับ เข้าใจได้โดยง่าย เพราะมนุษย์สามารถจดจำภาพได้ดีกว่าข้อมูลที่ซับซ้อน
- มีเอกลักษณ์ทำให้ง่ายต่อการจดจำ มีการใช้สีสันที่สะดุดตา พร้อมกับภาพกราฟิกที่สามารถเคลื่อนไหวได้
- รองรับการแสดงผลบนสมาร์ทโฟน
ข้อด้อยของ Gifographic คือ
- ไม่แสดงผลทันทีบน facebook ทั้งนี้เพราะฟีเจอร์ของเว็บไซต์ facebook นั้นยังไม่รองรับภาพ gif แบบเคลื่อนไหว จึงต้องใช้วิธีฝากไฟล์กับเว็บไซต์อื่นก่อน เช่น giphy.com, pinterest.com ฯลฯ และไม่แสดงผลโดยอัตโนมัติ จะต้องทำการคลิกที่ภาพก่อนภาพจึงจะเคลื่อนไหว
- ใช้เวลาดาวน์โหลดนานกว่า Infographic เนื่องจากเป็นภาพเคลื่อนไหว จึงทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ภาพปกติ
- ใช้เวลาในการผลิตนานกว่า Infographic ถึงแม้ว่าขั้นตอนการออกแบบจะเหมือนกัน แต่ในขั้นตอนการผลิตนั้นจะใช้เวลามากกว่า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการออกแบบชิ้นงานจำนวนมากขึ้น และมีขั้นตอนของการทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวเพิ่มมาอีกด้วย
ด้วยเหตุผลนี้ Gifographic จึงถือเป็นสื่อใหม่ที่อาจจะได้รับความนิยมมากขึ้นต่อจาก Infographic เป็นตัวเลือกในการนำเสนอข้อมูลที่กระชับ ฉับไว สามารถเข้าใจได้ง่ายอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความสวยงามและมีรูปแบบที่ไม่น่าเบื่ออีกด้วย
ยังไม่ได้เปิดสอนค่ะ ต้องขออภัยค่ะ
อันนี้คือเปิดคอร์สสอนการทำเลยหรือป่าวค่ะ
สนใจค่ะ ติดต่อกลับด้วยนะคะ