เล่าประสบการณ์การสนทนาระหว่างนักวิจัยรุ่นเยาว์กับผู้ทรงเกียรติที่ได้รับรางวัลโนเบล

โดย ดร. นารินทร์  จันทร์สว่าง ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.)

        ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ วว. ที่ได้ให้โอกาสนารินทร์ได้เข้าร่วมประชุม 13th Science and Technology in Society forum (STS forum) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทำให้นารินทร์ได้เปิดโลกทัศน์แลกเปลี่ยนความรู้  จากการได้สนทนาหรือฟังการบรรยายจากผู้ทรงเกียรติที่ได้รับรางวัลโนเบล นักวิจัยผู้มีประสบการณ์สูง นักธุรกิจ นักการเมือง และนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่มาจากทั่วโลก  วัตถุประสงค์ของงานประชุม STS forum คือ การจัดหากลไกใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการสร้างเครือข่ายเพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาจากการประยุกต์ใช้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้งานประชุมยังให้ความสำคัญกับจริยธรรม ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการจัดการอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมจะทำให้มนุษย์ในศตวรรษที่ 21  อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  ก่อนการเริ่มงานอย่างเป็นพิธีการในวันถัดไป ทางผู้จัดงานได้จัดกลุ่มนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกันประมาณ 7-8 ท่าน จากนั้นเชิญผู้มีชื่อเสียงและนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลเข้าร่วมสนทนากับนักวิจัยรุ่นเยาว์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเกิดความสำเร็จในอาชีพการทำงาน โดยกลุ่มของนารินทร์ ได้รับเกียติจากนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 ท่าน คือ คุณหมอ Peter Agre และ ดร. Tim Hunt มาร่วมสนทนา

Narin
Peter Agre

        เริ่มแรกขอกล่าวถึงประวัติของคุณหมอ Peter Agre   คุณหมอเป็นชาวอเมริกัน จบการศึกษาสาขาวิชาแพทยศาสตร์จาก Johns Hopkins School of Medicine และมีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและการสอนหนังสือจนกระทั่งคุณหมอได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถึง 19 ใบจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น นอร์เวย์ กรีซ เม็กซิโก ฮังการี และจากสหรัฐอเมริกา คุณหมอได้วิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรียมาเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นเขาได้ค้นพบ Aquaporins ซึ่งเป็นช่องทางเฉพาะที่โมเลกุลน้ำผ่านเข้าออกระหว่างเซลล์ และเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2546 (ค.ศ. 2003) ทางด้าน “discoveries concerning channels in cell membranes” คุณหมอเล่าว่าเขาชอบทำงานวิจัย ชอบการเรียนรู้ ชอบทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยเขาได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรียในประเทศกำลังพัฒนา  นอกเหนือจากความสำเร็จทางด้านหน้าที่การงาน เขายังมีครอบครัวที่อบอุ่น ลูกสามคนของเขา จบการศึกษาที่ดีและมีความเจริญก้าวหน้าในบริษัทที่มั่นคงและขนาดใหญ่ระดับโลก  คุณหมอยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การทุ่มเท ตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจะทำให้เกิดความสำเร็จและเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง”

Tim Hunt
 Tim Hunt

        ท่านผู้ทรงเกียรติลำดับถัดมา คือ ดร. Tim Hunt เป็นชาวอังกฤษ จบการศึกษาปริญญาเอกจาก University of Cambridge ท่านและทีมงานได้ทำงานวิจัยแล้วพบว่ากลูต้าไธโอน (glutathione) ปริมาณเพียงเล็กน้อยสามารถยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังไม่เจริญเต็มที่ และยังพบว่าสาย RNA ใช้เป็นตัวเริ่มต้นการสังเคราะห์ haemoglobin (สารสีแดงในเม็ดเลือดเป็นโปรตีนที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย)  ดร. Tim Hunt ได้รับรางวัลโนเบลสาขา Physiology or Medicine ปี 2544 (ค.ศ. 2001) ร่วมกับนักวิจัยอีกสองท่านทางด้าน “for their discoveries of key regulators of the cell cycle” ในการการค้นพบ Cyclins ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนสำคัญที่ควบคุมการแบ่งเซลล์   ดร. Tim Hunt กล่าวว่าเขาชอบทำงานวิจัย จะรู้สึกความตื่นเต้นที่ได้ทราบผลการทดลองจากลูกศิษย์ และท่านยังบอกถึงเคล็ดลับในการประสบผลสำเร็จว่า การที่เขามีลูกศิษย์มากมาย ทำให้งานวิจัยนั้นมีปริมาณมากและมีองค์ความรู้มาก ซึ่งจะทำให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

        จากการสนทนากับผู้ทรงเกียรติทั้งสองท่านนี้ ทำให้นารินทร์ได้ทราบว่าความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ สิ่งนั้นมาจากการทุ่มเท ตั้งใจทำงาน สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้ การทำงานเป็นทีมทำให้ได้งานที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น  รวมทั้งไม่ลืมที่จะใส่ใจครอบครัว จะทำชีวิตเรามีความสุขและความสมดุล….:)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*