วว. /มรภ.เพชรบูรณ์ ร่วมยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน-พึ่งพาตนเองได้

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  และ  ผศ.ดร.ปรีชา  ศรีเรืองฤทธิ์  รักษาราชการแทนอธิการบดี  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากฯ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามเป้าหมายการดำเนินงานในรูปแบบ Quadruple Helix ของ วว. ในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่  โดยมี  ผศ. ดร.กาญจน์  คุ้มภัย  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  ดร.รจนา  ตั้งกุลบริบูรณ์  ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ร่วมเป็นสักขีพยาน   โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ  2  ปี  โอกาสนี้  นายชัยสิทธิ์    สัมฤทธิ์ผล  นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์  ศ.ดร. เภสัชกรหญิงมาลิน   อังสุรังสี  กรรมการ บริษัท S & J International Enterprises Public Company Limited  ร่วมเป็นเกียรติ   เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกหลักในการทำงาน  ทั้งนี้ วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  จะร่วมบูรณาการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากร เกษตรและชีวภาพ ชีวภัณฑ์ อาหาร เครื่องสำอาง และเวชสำอางไทย รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรในรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล ให้ทรัพยากรของจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ลดของเสีย นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อสร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติของจังหวัดเพชรบูรณ์ไว้  รวมทั้งจะร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ ระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้ผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ จะร่วมทำงานในเครือข่ายพื้นที่ผ่านกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น พัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตโดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  2) การส่งเสริมการจัดทำสารสกัด เช่น พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูป เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยให้แก่กลุ่มเป้าหมายในจังหวัด โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ได้แก่ มะขาม ขิง และอะโวคาโด โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมชุดสกัดสารสมุนไพร ซึ่งถือเป็น Highlight ของชุดโครงการ ได้แก่  การพัฒนาเครื่องมือชุดสกัดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่สำคัญ  ประกอบด้วย ชุดสกัดและระเหยแห้งสารสกัดสมุนไพรแบบครบวงจร ที่สามารถรองรับการผลิตสารสกัดได้อย่างสมบูรณ์แบบ เทียบเท่าการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ให้การบริการกับผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ในการนำสินค้าเกษตรจากสิ่งเหลือทิ้งนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบสารสกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและอาหารเสริม นอกจากนี้ บริษัท S & J International Enterprises Public Company Limited ซึ่งเป็นพันธมิตรภาคเอกชนร่วมสนับสนุนโครงการ โดยได้บริจาคเครื่อง Screw Oil Pressing Machine เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ นำไปพัฒนาผู้ประกอบการในชุมชนและพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์

“…วว. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการยกระดับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์จะมีโครงสร้างพื้นฐานในลักษณะของชุดสกัดเพื่อสนับสนุนการแปรรูปให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเชี่ยวชาญของบุคลากรในมหาวิทยาลัยร่วมด้วย และยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรจากพืชสดไปเป็นสารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหย จากขิงสดกิโลกรัมละ 10 บาท สกัดเป็นน้ำมันขิงบริสุทธิ์มีมูลค่ากิโลกรัมละ 50,000 บาท เป็นต้น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการการลงทุนด้านนวัตกรรมและยกระดับผลิตภัณฑ์ในพื้นที่…” ผู้ว่าการการ วว. กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาด้าน  วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก  วว.   ติดต่อได้ที่  โทร.  0 2577  9000  โทรสาร  0 2577   9009  E-mail : tistr@tistr.or.th   Line@TISTR   IG : tistr_ig