วว. โชว์นิทรรศการจัดการขยะชุมชน ในงาน “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม”  

ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  พร้อมคณะวิจัยจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม  (ศนพ.) และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.) ร่วมจัดนิทรรศการด้านการจัดการขยะชุมชน ในงาน BKK Zero Waste เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางและการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) โอกาสนี้ ดร.ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของ วว. ด้วย   เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 เสาชิงช้า

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งในพิธีแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในเฟสที่ 2 ของโครงการไม่เทรวม หรือ BKK Zero Waste ซึ่งเป็นการดำเนินการเรื่องการกำจัดขยะในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนสำคัญจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเฉลี่ยแล้วขยะจากครัวเรือนของกรุงเทพมหานครเฉลี่ยวันละ 1.5 กิโลกรัมต่อคน ใน 1 ปีมีการผลิตขยะ 800 กิโลกรัมต่อคน หรือเกือบ 1 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก นอกจากนั้นแล้วการนำขยะเปียกไปปนกับขยะแห้ง สุดท้ายเมื่อนำไปรวมกันในหลุมฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็น 1 ในก๊าซที่สำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ฉะนั้นการจัดการขยะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการและร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่าย เพราะว่าขยะเป็นเรื่องของทุกคน หากเราไม่ร่วมมือกันสุดท้ายแล้วเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทางกรุงเทพมหานครต้องดูแลในเรื่องของการจัดเก็บ การสร้างนโยบาย และการกระตุ้นส่งเสริมในการแยกขยะแก่ประชาชน เพราะการแยกขยะเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ทั้งนี้ วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี หรือ “ตาลเดี่ยวโมเดล” เป็นรูปแบบของการบริหารจัดการขยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูปซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง โดยมีเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน ได้แก่

 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย 1.เครื่องคัดแยกขยะรองรับปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่กำลังการผลิต 20-40 ตันต่อวัน พร้อมด้วยระบบกำจัดกลิ่นขยะ ระบบคัดแยกชนิดและสีพลาสติกบรรจุภัณฑ์ เพื่อแปรรูปเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดมลพิษทางน้ำ และระบบการบำบัดน้ำชะขยะโดยใช้สารเร่งตกตะกอนจากผลงานวิจัยของ วว. ระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดิน

2. ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision สามารถแยกพลาสติก PVC ออกจากพลาสติกชนิดอื่นได้ และผลิตเกล็ดพลาสติกที่สะอาดมีคุณภาพ

3. นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ประกอบด้วยระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง ระบบผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ และระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF5) จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร

นอกจากนี้ วว. ยังได้ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) ที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน

…………………………………………………………………………………………………….          

นำเสนอข่าวโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว. โทร. 0 2577 9360  E-mail : pr@tistr.or.th  Line@tistr  IG : tistr_ig   YouTube / TIKTOK : @tistr2506