กระทรวงสาธารณสุขได้เตือนถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับคนไทยที่ใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ เนื่องจากปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น การที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์และทำงานที่นั่งอยู่กับที่เช่นนี้ ส่งผลให้คนไทยออกกำลังกายน้อยลง  จนเกิดปัญหาโรคอ้วน สำหรับในเด็กนั้น นอกจากขาดการออกกำลังกายจนเกิดปัญหาโรคอ้วนแล้ว การเล่นคอมพิวเตอร์นาน ๆ ยังส่งผลให้ขาดทักษะในการเข้าสังคมอีกด้วย
นอกจากนี้ปัญหาที่พบบ่อย ๆ เมื่อต้องนั่งปฏิบัติงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ก็คือ ปัญหาความล้าของสายตา ซึ่งเกิดจากการมองทั้งจอภาพ แป้นพิมพ์ และเอกสารสลับกันไปมา รวมทั้งระยะความห่างที่แตกต่างกันในการมองเห็น ทำให้สายตาต้องปรับโฟกัสตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความล้าของสายตา นอกจากนี้การใช้สายตาเพ่งนาน ๆ ยังอาจทำให้ตาแห้งและเกิดระคายเคืองตาได้ อีกทั้งยังจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต้อหิน
ปัจจุบันมีปัญหาทางสุขภาพใหม่ ๆ ที่สามารถเกิดกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ ได้อีก ดังนี้
  • อาการ Cumulative Trauma Disorders (ความผิดปกติจากอุบัติภัยสะสม) เป็นอาการสึกหรอสะสมของกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เส้นประสาทรับรู้ กระดูก และข้อต่อ อันเป็นผลที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ ปวด เหน็บชา รู้สึกร้อนวูบวาบ เคลื่อนไหวได้จำกัด หรือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  • โรค Hurry Sickness (โรคทนรอไม่ได้)  มักจะเกิดกับผู้ที่เล่นอินเทอร์เน็ต โดยจะมีอาการเป็นคนขี้เบื่อ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน เครียดง่าย ทนรอเครื่องดาวน์โหลดนาน ๆ ไม่ได้ กระวนกระวาย หากมีอาการมาก ๆ ก็จะเข้าข่ายโรคประสาทได้
  • โรคภูมิแพ้ เกิดจากการแพ้สารที่ชื่อว่า Triphenyl  Phosphate ซึ่งมีการใช้สารนี้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในจอวีดีโอ และจอคอมพิวเตอร์ โดยพบว่าเมื่อจอคอมพิวเตอร์ร้อนขึ้นจะเกิดการปล่อยสารเคมีดังกล่าวออกมา ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น คัน คัดจมูก และปวดศีรษะ นอกจากนี้หากสภาพภายในห้องทำงานมีเนื้อที่จำกัด อากาศไม่มีการไหลเวียนที่ดีเครื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

การป้องกัน

  • ติดแผ่นกรองแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ วิธีนี้สามารถลดระดับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากจอภาพลงได้บ้าง แต่ไม่สามารถลดลงได้ทั้งหมด วิธีนี้ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายใจ คลายความกังวลลงได้บ้าง นอกจากนี้ยังช่วยลดแสงจ้า แสงสะท้อนเข้าสู่ตา และไฟฟ้าสถิตย์ได้ระดับหนึ่ง ทำให้ดวงตามีอาการล้าลดลง
  • ควรพักสายตาประมาณ 10 นาทีต่อชั่วโมง หรือพักทุก 15 นาที ต่อ 2 ชั่วโมง เช่น หลับตา มองไปไกลๆ มองวิวธรรมชาติ พวกใบไม้ ดอกไม้ หรือเปลี่ยนอิริยาบทโดยการเดิน การแข่วงแขนไปมาประมาณ 5-10 นาที หรือดูสิ่งพิมพ์ตัวโตๆ โดยควรทำงานกับจอภาพไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง

ข้อมูลที่มา       

  • นิตยสาร Health Today
  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • การจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์.
  • กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข