รู้รอบธงชาติไทย จากกิจกรรม 100 ปี ธงไตรรงค์ ดำรงไทย
ดร. คนึงนิจ บุศราคำ
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์, วว.
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “100 ปี ธงไตรรงค์ ดำรงไทย” ที่จัดขึ้น ณ วว. เทคโนธานี คลอง 5 ซึ่ง วว. ได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย คุณพฤติพล ประชุมพล และทีมงาน นำของสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับธงชาติไทยมาจัดแสดง พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวอันน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติของธงชาติไทยของเราให้ชาว วว. ได้ฟังกัน ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับฟังการบรรยายของท่านผู้อำนวยการฯ ผู้เขียนรู้สึกประทับใจและอยากถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวประวัติของธงชาติไทยให้ผู้ที่พลาดโอกาสเข้าร่วมฟังในวันนั้นได้อ่านใน TISTR Blog นี้ค่ะ
กำเนิดธงไตรรงค์
อดีตที่ผ่านมาเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาทำการค้าในแดนสุวรรณภูมิเป็นประเทศแรกๆ ซึ่งเส้นทางการคมนาคมขนส่งคือทางน้ำ ครั้นเมื่อเรือรบฝรั่งเศสได้เดินทางเข้ามาในน่านน้ำ ณ ดินแดนสยาม และมีความประสงค์ในการให้เกียรติประเทศเรา จึงได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ป้อมปราการให้แสดงธงประจำชาติเพื่อการยิงปืนทำความเคารพตามอารยธรรมของชนชาติตะวันตก แต่ด้วยความที่ประเทศเราไม่มีวัฒนธรรมดังกล่าวจึงได้เชิญธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ขึ้นสู่ป้อมปราการดังกล่าว ยังความขุ่นเคืองให้กับทหารฝ่ายฝรั่งเศส จนทำให้ฝ่ายไทยต้องเชิญธงประเทศเนเธอร์แลนด์ลง แต่ด้วยความรีบระคนกับตกใจทหารประจำป้อมจึงได้เปลี่ยนไปใช้ธงเดินเรือแทนธงชาติเนเธอร์แลนด์ นี่จึงเป็นการใช้ธงชาติครั้งแรกของไทย ส่วนสาเหตุที่ธงเดินเรือในสมัยก่อนเป็นสีแดงเนืองจากสีแดงเป็นสีที่เห็นชัดที่สุด
ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีการอาศัยกันแบบบ้านพี่เมืองน้องไป ประชาชนของแต่ละประเทศสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันตามอัธยาศัย ต่อมาเมื่อถึงยุคล่าอาณานิคม การแบ่งแยกดินแดนโดยประเทศผู้ล่าฯ ทำให้วิถีชีวิตของคนในแถบนี้เปลี่ยนไป คือ มีการกำหนดเขตแดนกันชัดเจนระหว่างประเทศนักล่าอาณานิคม คือ อังกฤษ และฝรั่งเศส ย้อนกลับมาที่ความเชื่อของคนไทยในอดีตที่ว่าพระมหากษัตริย์นั้นคือ องค์อวตารของพระนารายณ์ ซึ่งพระนารายณ์มีหัตถ์ 4 กร ถือ จักร สังข์ คทา และดอกบัว ซึ่งจักรนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ดังนั้นจึงมีการนำสัญลักษณ์จักรใส่ไว้ตรงกลางธงสีแดง อย่างไรก็ตาม ธงพื้นแดงกับจักรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์และพระมหากษัตริย์ ซึ่งประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถนำไปใช้ได้
สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นยุคที่บ้านเมืองสงบสุข และมีการจับช้างเผือกได้ทั้งสิ้น 3 ตัว ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่หายาก นำไปสู่การใช้รูปช้างลงไปบนธง ทำให้สมัยนี้ธงชาติประกอบไปด้วย ธงพื้นแดง จักร และช้างเผือก กลางจักร กลางธง ซึ่งธงนี้ประชาชนทั่วไปนั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน ดังนั้นในหลวงรัชกาลที่ 3 จึงทรงให้มีการจัดทำธงที่ราษฎรสามารถนำไปใช้ได้ โดยการนำเอาสัญลักษณ์จักรออกจากธง ดังนั้นในรัชกาลที่ 3 นี้ ธงประจำชาติมี 3 แบบ คือ ธงสำหรับพระมหากษัตริย์ (ธงพื้นขาบ (น้ำเงินอมม่วง) ตรงกลางธงธงพื้นแดง ตรงกลางมีสัญลักษณ์จักรและช้างเผือก) ธงสำหรับราชวงศ์ (ธงพื้นแดง ตรงกลางมีสัญลักษณ์จักรและช้างเผือก) และธงสำหรับราษฎร (ธงพื้นแดงและตรงกลางมีรูปช้างเผือก)
สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นยุคที่สยามประเทศทำการค้ากับชาติตะวันตกหลายประเทศ โดยประเทศนั้นๆ ได้มีการตั้งสถานทูตขึ้นและมีการเชิญธงประจำประเทศตัวเองที่สถานทูตนั้นๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าสยามประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของชาติยุโรป ส่งผลให้เกิดความแตกตื่นของราษฎรที่เกรงกลัวการโดนชาวต่างชาติทำร้ายและจับกุมตัวไป ร้อนถึงในหลวงรัชกาลที่ 4 ต้องทรงแก้ปัญหาโดยการให้เอาธงเรือ (ธงพื้นสีแดง และช้างเผือกตรงกลางธง) ขึ้นมาปักตามบ้านเรือนเพื่อเป็นการยืนยันว่าเรายังคงมีอธิปไตย โดยที่ชาวต่างชาตินั้นไม่มีสิทธิในการทำร้ายคนไทย จึงนับเป็นการใช้ธงบนบกเป็นครั้งแรกในสยามประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำธงในสมัยก่อนนั้นต้องอาศัยการวาดรูปช้างบนผืนธง ทำให้รูปช้างนั้นมีหลายลักษณะและไม่สง่างาม
สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากปัญหาความไม่สง่างามของรูปช้างบนผืนธง ส่งผลให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 นั้นมีการออกพระราชบัญญัติธงในปี พ.ศ. 2434 ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายธงฉบับแรกของสยามประเทศ โดยมีข้อกำหนดให้สัญลักษณ์ช้างเผือกบนผืนธงนั้นมีลักษณะไปในทางเดียวกัน ต่อมาในรัชสมัยของในหลาวงรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ในการนำเอารูปช้างเผือกออกจากผืนธงเพื่อความเป็นสากล แต่โดนทัดทานจากเสนาบดีต่างๆ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2459 ทรงเสด็จพระราชดำเนินยังจังหวัดอุทัยธานี ราษฎรได้ประดับธงเพื่อรอรับเสด็จ แต่เกิดความผิดพลาดในการขึ้นธงคือเกิดโดยขาช้างนั้นชี้ขึ้นข้างบนซึ่งเป็นการมิบังควร ประกอบกับธงชาติดังกล่าวหาได้ยากชาวบ้านจึงมีการดัดแปลงใช้ผ้าริ้วแดงและขาว โดยสีขาวนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนช้างเผือก ใช้ประดับเพื่อรอรับเสด็จ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชบัญญัติลงในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์ในปี 2459 ว่าด้วยเรื่องธง คือ กำหนดให้ธงที่ใช้ในการรับเสด็จนั้นเป็นธงริ้วขาวแดง และธงที่ใช้ตามสถานที่ราชการคือ ธงพื้นแดงและมีรูปสัญลักษณ์ช้างเผือกตรงกลาง โดยประกาศให้มีการใช้ธงทั้งสองดังกล่าวในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2459
การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยามประเทศในรัชกาลที่ 6 นั้นก็นับเป็นอีกหนึ่งสามาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นของธงชาติ เนื่องจากฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งธงชาติของทั้ง 3 ประเทศประกอบไปด้วยสีแดง น้ำเงิน และขาว เพื่อเป็นการสอดคล้องกับประเทศดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงรับสั่งให้นำสีน้ำเงินมาใช้ในธงชาติ โดยสีน้ำเงินนี้เรียกว่าสีขาบ ซึ่งมีเฉดน้ำเงินอมม่วง) ซึ่งเป็นที่มาของธงไตรรงค์ โดยมีการประกาศให้ใช้ธงไตรรงค์ครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 2460
ดังนั้นที่มาของธงไตรรงค์แต่ละสี ได้แก่ สีแดง มาจากสีของธงเรือที่ใช้ในสมัยก่อน สีขาวมาจากสีของช้างเผือก และสีน้ำเงินมาจากสีของธงชาติพันธมิตร โดยความหมายของแต่ละสีนั้นในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นผู้พระราชทานความหมายดังนี้ คือ สีแดง หมายถึงสีของโลหิตของบรรพบุรุษที่ปกป้องผืนแผ่นดินสยามให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม สีขาว หมายถึงธรรมที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดี และสีน้ำเงิน หมายถึงสีของพระมหากษัตริย์ อันหมายถึงสีประจำวันพระชนมวาร ของในหลวงรัชกาลที่ 6
พระราชบัญญัติธงชาติฉบับที่ใช้ อยู่ปัจจุบันคือฉบับประกาศในปี 2522 โดยมีการกำหนดสัดส่วนชัดเจนคือ กว้าง คูณ ยาว เท่ากับ 6 คูณ 9 ส่วน แบ่งเป็น แดง/ขาว/น้ำเงิน/ขาว/แดง เท่ากับ 1/1/2/1/1 ตามลำดับ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการประกาศใช้ธงไตรรงค์คือ การนำไปใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติธงปี 2522 ธงชาติไทย มี 2 แบบ คือ
- ธงไตรรงค์
- ธงราชนาวี คือ ธงไตรรงค์ที่มีรูปช้างเผือกกลางธง
สาเหตุที่ต้องมีธงชาติชนิดที่ 2 คือ ในข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยเรื่องการเดินทะเล คือ เรือหนึ่งลำนั่นหมายถึง อธิปไตย ของเรือลำนั้นๆ ดังนั้นเท่ากับเป็นการประกาศเอกราชเหนือน่านน้ำ ดังนั้นเรือรบหลวงจึงต้องมีธงประกาศเอกราชเหนือน่านน้ำ
ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการประกาศให้วันที่ 28 กันยายน เป็นวันประดับธงชาติไทย และในปี 2560 นี้ ก็จะครบรอบ 100 ปี การประกาศใช้ไตรรงค์ธงชาติไทยค่ะ
และทั้งหมดนี้ก็คือ ประวัติคร่าวๆ เกี่ยวกับธงชาติไทย จากกิจกรรม “100 ปี ธงไตรรงค์ ดำรงไทย” ที่ผู้เขียนเก็บมาฝากค่ะ