Logo…(สัญลักษณ์ บอกตัวตน)
โดย ปุณณภพ โผผิน (กองประชาสัมพันธ์)
หลายคนคงคุ้นหู กับ คำว่า โลโก้ (logo) คุ้นตา กับ ภาพกราฟฟิกแปลกๆ รูปคนบ้าง รูปสัตว์บ้าง หรือลายเส้น ตัวอักษรไม่กี่ตัวหรือคำสั้นๆ ก็มี รูปแบบเหล่านี้เรียกว่า โลโก้ (logo) หรือตราสัญลักษณ์ ซึ่งบางคนนำตัวอักษรตัวหน้าของบริษัท หน่วยงานมาเป็นโลโก้ แล้วอ่านใหม่ให้กระชับ จำง่ายขึ้น จึงทำให้โลโก้ (logo) มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ
- 1. โลโก้แบบตัวอักษร (word mark) ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ไม่นาน หรือเป็นบริษัทที่ต้องการให้ลูกค้าจดจำชื่อ คุ้นหู ติดปาก ไปพร้อมๆกัน แต่การใช้โลโก้แบบนี้หากไปอักษรภาษาไทย จะต้องปรับเป็นภาษาอังกฤษด้วย ถ้าต้องการนำบริษัทเข้าสู่ระดับสากล
- 2. โลโก้แบบกราฟฟิก (symbol) ปัจจุบันบริษัทน้อยใหญ่นำมาใช้กันเป็นจำนวนมาก แต่ในบริษัทใหญ่ๆที่เปิดตัวมานานแล้วจะทำการพัฒนาจากโลโก้ตัวอักษรมาป็นโลโก้กราฟฟิกแทน ทำให้โลโก้ดูทันสมัย ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ลักษณะของโลโก้แบบกราฟฟิกนี้จะทำการตัดทอนรูปแบบ หรือสร้างเป็นรูปสัตว์ รูปอุปกรณ์ ที่ไม่ให้ยุ่งยาก ทำให้จดจำง่าย
โลโก้ดีๆ เค้าเป็นกันอย่างไร?
หลักการเบื้องต้นของการสร้างโลโก้ใน 1 ชิ้น ต้องสร้างรูปแบบที่ไม่ยุ่งยาก จดจำง่าย นำไปใช้ได้หลากหลายสถานะ สีที่ใช้ไม่ควรเกิน 3 สี (จำนวนสียิ่งน้อย ยิ่งเป็นการดี) เพื่อง่ายต่อการนำไปใช้กับเนื้องานหรือวัสดุรองรับอื่นๆ และไม่สิ้นเปลืองค่าทำเพลทสีในระบบการจัดพิมพ์ สังเกตได้ว่าบางบริษัทใช้แค่สีเดียว เพื่อให้มีจุดเด่น จดจำง่าย
แม้ปัจจุบัน การนำโลโก้ไปใช้ไม่ได้อยู่แค่บนสิ่งพิมพ์หรือบนผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังนำไปใช้บนสื่อมัลติมีเดียต่างๆ อาทิเช่น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ก ไลน์ หรือระบบสื่อสารต่างๆ แต่ก็ยังใช้แนวคิดหรือหลักการในการออกแบบโลโก้ที่เหมือนๆ กัน
จำเป็นหรือไม่…ที่ต้องยึดหลักในการออกแบบโลโก้
การออกแบบงานที่ดีควรอยู่บนหลักการที่ดี แต่ในบางครั้งการออกแบบโลโก้ ก็ไม่จำเป็นต้องยึดหลักการทั้งหมด เพราะหลักการไม่ใช่เหตุผล ในบางคราวผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงความต้องการของเจ้าของสินค้าเป็นเหตุผลหลัก คือ ความต้องการจากเจ้าของนั่นคือเหตุผลหลัก… ทั้งเรื่องรูปแบบ การจัดวางองค์ประกอบ เรื่องของสี รายละเอียดที่ต้องการใส่ และอีกหลายๆอย่าง ซึ่งในบางครั้งอาจมีอิทธิพลมาจากความเชื่อโชคลาง การถูกโฉลกของสี มีโชคลาภ เงินทอง เป็นต้น จึงทำให้โลโก้บางชิ้นถูกออกแบบมาตรงกับความต้องการของเจ้าของ แต่ไม่ตรงตามหลักการของผู้ออกแบบ เราจึงได้พบเห็นโลโก้ที่ตรงหลักการบ้าง ตรงใจเจ้าของบ้าง ใช้ปะปนกันไป ซึ่งผู้ออกแบบต้องปรับตัวมากขึ้น เช่น ออกแบบโลโก้โดยอยู่บนพื้นฐานของ โงวเฮ้ง ฮวงจุ๊ย หรือความเชื่อส่วนบุคคลเสริมเข้าไปในการทำงาน หรือการนำเสนอผลงาน จะเป็นการดีมากๆ
การออกแบบโลโก้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สักชิ้นหนึ่งกับผลิตภัณฑ์ของเรานั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า โลโก้นั้นตอบโจทย์กับผลิตภัณฑ์ของเราได้มากแค่ไหน ช่วยให้เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้มากแค่ไหน หรือทำให้ผู้คนรู้จักเราได้มากแค่ไหน
….แนวคิดดังกล่าว คือ ประโยชน์จากการใช้ “โลโก้”….
อ้างอิง
http://www.myhappyoffice.com/index.php/2012/06/logo-design-message/
http://www.neutron.rmutphysics.com