สร้างงานเขียน..จาก “ค่ายสารคดี”
ดุรงค์ฤทธิ์ สุดสงวน
นักประชาสัมพันธ์
กองสื่อสารภายใน
รูปแบบการจัดค่ายมีให้เห็นอยู่หลากหลาย เช่น ค่ายเยาวชน ค่ายอนุรักษ์พลังงาน ค่ายรักษ์ธรรมชาติ ค่ายวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานค่ายเยาวชน “ค่ายสารคดี” ซึ่งจัดโดย นิตยสารสารคดี ทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจมาถ่ายทอดให้ทุกท่าน
ค่ายสารคดีคืออะไร
ค่ายสารคดีคือค่ายสำหรับเยาวชนที่จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์คือ ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการเขียนบทความทั้งในแง่ของการเล่าเรื่องให้มีความน่าสนใจ รวมถึงภาพประกอบเรื่องที่มีความสอดคล้องกันกับเนื้อหา จัดโดย นิตยสารสารคดี เป็นการบ่มเพาะนักเขียน และช่างภาพมือใหม่ ถ่ายทอดความรู้โดยนักเขียนมืออาชีพ และ ช่างภาพของนิตยสารสารคดี พร้อมกับ การลงพื้นที่จริง สัมภาษณ์จริง ในการได้ไปมีส่วนร่วมในครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 13 นิตยสารสารคดีเลือกลงพื้นที่ในตลาดหัวตะเข้ ชุมชนหลวงพรตท่านเลี่ยม เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนที่ผมอยู่ มีความโดดเด่นในเรื่อศิลปะ เพราะอยู่ใกล้วิทยาลัยช่างศิลป และ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผมเป็นคนในชุมชน และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในส่วนของวิทยากรชุมชน พบว่าเป็นค่ายที่ได้ทั้งสาระความรู้และความสนุก ที่สำคัญได้ “นักเขียน” “นักถ่ายภาพ” รุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่นหลายคน
การบริหารจัดการค่าย
ในด้านการเตรียมงาน มีการลงพื้นที่ก่อนการจัดงานประมาณ 4 เดือน บุคลากรในนิตยสารสารคดีต้องสืบค้น กลั่นกรองข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ค้นคว้าลงสัมผัสพื้นที่และสัมภาษณ์ผู้รู้จากคนในชุมชน เพื่อเป็นแบบฝึกหัดในการปฏิบัติการเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้นแบบเสมือนจริง โดยมีครูคอยประกบ ท่ามกลางการปฏิบัติจริงพร้อมรับสมัครและคัดเลือกเยาวชนระดับอุดมศึกษา จำนวนประมาณ 50 คน เพื่อทำกิจกรรมค่ายสารคดี
การประชาสัมพันธ์เชิญชวน
ในด้านการประชาสัมพันธ์ นิตยสารสารคดีใช้ช่องทางการประกาศรับสมัครทั้งในนิตยสาร และสื่อทางโซเชียล เช่น Facebook, YouTube อย่างต่อเนื่อง มีหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรการเขียนบทความแบบมืออาชีพ สำหรับบุคคลทั่วไป วิธีการเข้าถึงง่ายมาก เมื่อค้นหาในกูเกิล พิมพ์ข้อความ ค่ายสารคดี ก็เจอกิจกรรมมากมาย
สาระที่ได้ในวันงาน
วันงานห้องเรียนค่ายสารคดีที่ตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณครึ่งวันกับอีกสัปดาห์ เพื่อกลั่นกรอง ร้อยเรียงเรื่องราวที่เก็บมา ให้กลายเป็นงานเขียน แต่ในระหว่างขั้นตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญในการทำหนังสือและภาพประกอบ คัดประโยคเด็ด ซึ่งเป็นวรรคทองและภาพประกอบที่มีการนำเสนอที่น่าสนใจ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน แนะนำ วิธีคิดต่างๆ เช่น
“ตลาดหัวตะเข้ ขายความเงียบอันเรียบง่าย” – ป้าอ้อย จิตอาสาหนึ่งในทีมฟื้นฟูตลาดหัวตะเข้
“ชีวิตนอกกรอบ เป็นสุขได้เพราะมีกรอบ” สรุปภาพชีวิตของคนทำกรอบรูปที่ตลาดหัวตะเข้
“แท้ ไม่แท้ เก่าใหม่ ได้หมด มันอยู่ที่ใจ พระอยู่ไหนก็ไม่เสื่อม”คำพูดของ จี๊ด (ณรงค์ศักดิ์) เซียนพระใต้สะพาน กล่าวถึงพระเครื่องบนแผง
คำพูดบางประโยคที่คัดมาของนักศึกษาในค่ายสารคดี มีท่วงทำนองที่น่าสนใจ สามารถพัฒนาไปเป็นนักเขียนในอนาคตได้เป็นอย่างดีเป็น”วรรคทอง” เหมือนดอกไม้สีแดงสด ท่ามกลางต้นไม้สีเขียว เป็นจุดเด่นที่ทำให้ตื่นตา ตื่นใจ อยากอ่านบทความต่อไป (รายละเอียดต่างๆ ได้จากบทความของนายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี)


สถานที่ที่น่าสนใจในตลาดหัวตะเข้มีมากมาย คัดมาในส่วนที่น่าสนใจ เช่น ร้านเอเฟรม รับทำกรอบรูป (มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9), หมอนวดตาบอด, กราฟฟิตี้กับชุมชนเก่า ความลงตัวกับวิถีที่แตกต่าง,การทำผักกาดดอง,การทำขนมใบไม้ ฯลฯ ผลลัพธ์ของการดูงานค่ายสารคดี ทำให้ได้เห็น นักเขียน นักสร้างจินตนาการ นักถ่ายภาพที่ร้อยเรียงเรื่องราวจากสิ่งที่เห็นและเผยแพร่ถ่ายทอดให้สาธารณชนรับรู้ นับว่าเป็นค่ายที่ “สร้างคน” สร้างผลงานด้านการเขียนที่คุ้มค่าและมีประโยขน์จริงๆ

Leave a Reply