วว.ร่วมประชุม STS Forum 2022  ณ ประเทศญี่ปุ่น

  
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร.บุณณนิดา โสดา ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ดร.จิราพัชร คำพิเดช นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) และ ดร.จิรเมธ อุฬารวิวัฒน์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) เข้าร่วมการประชุม STS Forum 2022 หรือ Science and Technology in Society Forum The 19th Annual Meeting 2022 ณ Kyoto International Conference Centre (ICC Kyoto) เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1-4 เดือนตุลาคม 2565 


สำหรับการประชุมในวันแรก (1 ต.ค.65) ผู้ว่าการ วว. และ ผอ.กองวิเทศสัมพันธ์ ได้เข้าร่วมประชุม Research Institute Leaders (RIL) ครั้งที่ 11 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ และร่วมอภิปรายในหัวข้อ Diversity of Funding โดยมีผู้นำของหน่วยงานวิจัยระดับนานาชาติหน่วยงานวิจัยจาก 14 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน แคนาดา สวีเดน สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ และประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ว่าการ วว. ได้ติดตาม ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้าร่วมการประชุม the 19th Science and Technology Ministers’ Roundtable ในหัวข้อ Mission-oriented research และ Post covid-19 Society and Science, Technology and Innovation อีกด้วย

ส่วน ดร.จิราพัชร คำพิเดช นักวิจัย ศนพ. และ ดร.จิรเมธ อุฬารวิวัฒน์ นักวิจัย ศนส. เป็นผู้แทน วว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Young Leaders Programme 2022 ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมภายใต้งาน STS Forum ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัล Nobel laureates นักวิจัย รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนกว่า 130 ท่าน


STS Forum เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการปละผลกระทบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสังคม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลัก และจัดประชุมประจำปีในเดือน ต.ค. ณ ประเทศญี่ปุ่น ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 19 แล้ว