นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบรางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565 (Human Rights Awards 2022) ให้แก่ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นรางวัลจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มอบให้องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม ที่ดำเนินการตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน มีผลการดำเนินงานโดดเด่น ในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆ ในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลจำนวน 75 รางวัล โอกาสนี้ ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริหาร วว. พร้อมผู้บริหาร บุคลากร ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีในโอกาสนี้ด้วย ในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างโอกาส สร้างรายได้ และสร้างความยั่งยืน ให้ชุมชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคตามแนวทาง BCG อันส่งผลให้ได้รับรางวัลดังกล่าว วว. มุ่งมั่นและตั้งใจนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วน นำไปต่อยอด ส่งเสริม เกิดการแบ่งปัน และใช้เทคโนโลยี ตามแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อความเท่าเทียมและสมดุลกันในการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างมีธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ วว. ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2565 ประกอบด้วย 3 มิติหลักๆ ดังนี้
1. มิติการป้องกันและรักษา ได้แก่
– โครงการการพัฒนาศักยภาพการทดสอบทางด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่เข้าถึงการดูแล/การรักษาอย่างทั่วถึง โดยการทดสอบห้องความดันลบและตรวจวัดคุณภาพอากาศห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช ตึกนวมินทรบพิตร พื้นที่ 2,514 ตารางเมตร จำนวน 40 ห้อง ( 88 เตียง) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,000 คน
– น้ำอิเล็กทรอไลต์เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ในการป้องกันและได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยการนำน้ำอิเล็กทรอไลต์ไปแจกจ่าย ดังนี้ กรุงเทพมหานคร 1,000 ลิตร กรมยุทธบริการทหารในการให้บริการขนส่งผู้ป่วยโควิดไปส่งตามโรงพยาบาลสนามต่างๆ 1,000 ลิตร องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อในศูนย์ดูแลโควิดชุมชน 1,000 ลิตร กรมราชทัณฑ์เพื่อฉีดพ่นให้ผู้ต้องขัง 1,000 ลิตร รวมทั้งฉีดพ่นทำความสะอาดพื้นที่ปฏิบัติงานให้กับพนักงานและลูกจ้าง วว. ที่มีความเสี่ยง จำนวน 50 ครั้ง
2. มิติด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. สร้างรายได้ ต่อยอดเทคโนโลยีส่งเสริมการตลาดอย่างทั่วถึง โดยจัดทำฐานข้อมูลไม้ดอกไม้ประดับเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ถ่ายทอดองค์ความรู้/เทคโนโลยีเกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับให้เกษตรกรจำนวน 200 ราย เกษตรกรภายใต้โครงการได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 12 ราย ยืดอายุการเก็บรักษาไม้ดอกจาก 7 วัน เป็น 15 วันและไม้ประดับจาก 15 วัน เป็น 20 วัน กลุ่มเกษตรกรมีรายได้ 50.6 ล้านบาท (ปี 2564) และในปี 2565 กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 60%
3. มิติผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน (ตาลเดี่ยวโมเดล) พื้นที่ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในพื้นที่ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ลดปัญหาการใช้งบประมาณเพื่อจัดการขยะโดยนำไปทำลายหรือเทกอง ได้ 1,000 ตันต่อปี เกิดการจ้างงานในชุมชน ยกระดับคุณภาพเชื้อเพลิงขยะ (RDF2) จากราคา 150-500 บาทต่อตัน เป็นเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF5) ราคา 2,800 บาทต่อตัน
พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ถ่านหอม 3 in 1 จากขยะเปลือกผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ชอล์กไล่มดจากเปลือกไข่ สร้างรายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ลดปัญหาการแพร่กระจายของพาหะนำโรค