วว. เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เนื่องในพิธีเปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 โอกาสนี้ นายสายันต์  ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ดร.รจนา  ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวขาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.)  ดร.นฤมล  รื่นไวย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร  นางสาวปัทมา  ลิ่วเลิศมงคล ผอ.กองประชาสัมพันธ์   ดร.ตันติมา  กำลัง  นักวิจัยอาวุโส  ศนก.  ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ และถวาย “ถังหมักระดับชุมชน” ที่มีประสิทธิภาพในการขยายชีวภัณฑ์ เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ลดสารพิษตกค้าง เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ใช้  ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าสารเคมี และนำผลงานบริการชีวภัณฑ์แบบครบวงจรร่วมแสดงนิทรรศการภายใต้ Theme “สารชีวภัณฑ์ วว. ยกระดับผลผลิตการเกษตร พัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย วทน.”

นอกจากนี้ วว. ยังนำผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ได้แก่ ศูนย์ BCG Framing  ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน   นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างจากวัสดุเหลิอทิ้งอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG  และงานวิจัยขายได้ด้านการแปรรูปผลผลิตการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ  (ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ )

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ ผ่านการดำเนินงานโดย  ICPIM 2  หรือ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 2  หน่วยงานภายใต้  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  วว.  มีสายการผลิต “สารชีวภัณฑ์” ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย ที่เป็นประโยชน์ทั้งระบบการผลิตพืช มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช   ปศุสัตว์ และประมง  มีกำลังการผลิตรวมต่อปี 115,000 ลิตร  เพื่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน

ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของการใช้สารชีวภัณฑ์ต่อภาคเกษตรกรรม คือ เป็นการยกระดับผลิตผลทางการเกษตรในการรองรับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ระบบการผลิตพืชปลอดภัย และระบบการผลิตพืชอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ลดการตกค้างของสารเคมีในพืชผลการเกษตร ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไทย

โรงงาน  ICPIM 2   มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม  สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน  3  รูปแบบ คือ  หัวเชื้อเหลว  หัวเชื้อน้ำ และหัวเชื้อผง  ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี  3 ขนาด คือ  เล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่

วว. ดำเนินงานด้านสารชีวภัณฑ์  โดยมีการบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดดำเนินงานครอบคลุมและรองรับงานด้านชีวภัณฑ์ครบวงจร พร้อมให้บริการรองรับงานวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตจุลินทรีย์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม   ได้แก่

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ   ผ่านการดำเนินงาน โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม : ICPIM 1  ให้บริการประเมินความปลอดภัยของสารชีวภัณฑ์ ตาม Guidelines for the registration of pesticides (FAO/WHO, 2010)  ครบทุกการทดสอบแห่งเดียวในประเทศไทย  ศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันทางปาก/ผิวหนังในหนู ศึกษาการก่อระคายเคือง การกัดกร่อนแบบเฉียบพลันต่อผิวหนังในกระต่าย  ศึกษาการก่อระคายเคือง การกัดกร่อนแบบเฉียบพลันต่อดวงตาในกระต่าย  ศึกษาภาวะภูมิไวเกินทางผิวหนังในหนูตะเภา  ศึกษาพิษเฉียบพลันทางการสูดดม      

ศูนย์จุลินทรีย์    (Biobank)   เก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ 10,000 สายพันธุ์   ให้บริการการจำแนกสายพันธุ์จุลินทรีย์ และตรวจสอบ/ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  ผ่านการดำเนินงาน โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม : ICPIM 2   มีภารกิจให้บริการโรงงานต้นแบบผลิตสารชีวภัณฑ์และห้องปฏิบัติการด้านสารชีวภัณฑ์บริการผลิตชีวภัณฑ์  มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์สายพันธุ์ใหม่  วิจัยและพัฒนารูปแบบชีวภัณฑ์  สนับสนุนงานวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่   พัฒนาบุคลากรรองรับงานวิจัยและอุตสาหกรรมชีวภาพ

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร   มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานตาม OECD  GLP  GUIDLINE  ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความเป็นพิษของจุลินทรีย์

จุดเด่นของสารชีวภัณฑ์ที่ วว. ผลิต  1.ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช 2.มีการทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC  17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE  และ 3.ผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานด้านชีวภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รับน้องๆในระดับอุดมศึกษามาเรียนรู้  ฝึกงาน  รวมถึงทำวิจัยในด้านต่างๆ ของการพัฒนางานด้านชีวภัณฑ์ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ  โรงงาน และภาคสนาม เพื่อเป็นแรงงานรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพต่อไปในอนาคต

การนำสารชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์  ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินงานจำนวน  33.3418   ล้านบาท

โดย  วว.  นำสารชีวภัณฑ์ที่วิจัย พัฒนาและผลิต ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด”  รวมจำนวน  1.3  ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ลดสารพิษตกค้าง เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ใช้  ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม  และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ  โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ครอบคลุม   4  กลุ่มพืชเศรษฐกิจ ได้แก่  ไม้ผล พืชไร่ (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง)  พืชสมุนไพรและพืชผัก  รวมทั้งได้พัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน

นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมดำเนิน โครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตก ด้วย BCG โมเดล” ของปีงบประมาณ 2564   จากการดำเนินงานส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม  ดังนี้ 

 1. มีเกษตรกรกว่า  200  ราย  นำเทคโนโลยีไปใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยการผลิตหมุนเวียนสำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นได้  5  ปัจจัยการผลิต  จำนวน   6   เทคโนโลยี   ดังนี้  เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก   เทคโนโลยีการผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม  เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ด (ฟางข้าวเสริมซีลีเนียม กากมันสำปะหลัง)  เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต   เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืซด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต  (มันสำปะหลัง กล้วย)  และเทคโนโลยีขยายชีวภัณฑ์ในถังชุมชนโมเดล วว.

 2. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร  โดยมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และบริษัท รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต functional food และบรรจุภัณฑ์

 3. มีผู้ประกอบการร่วมลงทุนด้าน  R&D  ภายใต้ BCG  Model

 4. เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ functional   food และเวชสำอาง จำนวน  10  ผลิตภัณฑ์ และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน  2  ต้นแบบ 

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับ “สารชีวภัณฑ์” หรือขอรับบริการจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. (ติดต่อ ICPIM 2) ได้ที่  โทร. 0 2577  9016, 02-577 9021   โทรสาร 0 2577  9009  E-mail : tistr@tistr.or.th

………………………………………………………………………………………………

เสียงตอบรับจากเกษตรกร  ผู้ประกอบการ  จากการใช้งานบริการชีวภัณฑ์ วว.

นายเดชพนต์  เลิศสุวรรณโรจน์ 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน)

“…บริษัทดำเนินธุรกิจด้านเอทานอลเป็นหลัก  ขยายธุรกิจมาทำเกษตรอินทรีย์เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอนาคต  เราต้องพัฒนาจุดแข็ง ผ่านการทำเกษตรแบบประณีต พัฒนาไปสู่ความเป็นออร์แกนิก  โดยมีสารชีวภัณฑ์เป็นอาวุธสำหรับเกษตรกร  การที่ วว. สามารถพัฒนาสารชีวภัณฑ์สู่อุตสาหกรรม เป็นการตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง เชื่อมั่นในอนาคตจะมีธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากจังหวัดอุบลราชธานี จะทำให้เกษตรกรมีสุขภาพดี มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น  ได้ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรวม…”

นายกรกฤต  จำเริญ  

เกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง

“…ตั้งแต่หันมาใช้สารชีวภัณฑ์ของ วว. พบว่าโรคในหน่อไม้ฝรั่งลดน้อยลง  ทำให้ต้นทุนต่ำ  พืชงอกงามดีกว่าการใช้สารเคมีมาก  ผลผลิตก็ดีขึ้น…”

นายปัญญา   ใคร่ครวญ  

ปราชญ์เกษตรอินทรีย์และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน  จ.สุพรรณบุรี 

“…จากการทดลองใช้ชีวภัณฑ์ของ วว. เมื่อปี 2563 ถึงปัจจุบันพบว่าสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ดี ใบผักงาม ผลผลิตเติบโตดีขึ้น  กลุ่มได้ร่วมวางแผนการผลิตชีวภัณฑ์กับ วว. เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการและการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพของ วว .และความเชี่ยวชาญ เอาใจใส่ของนักวิจัย ทำให้การดำเนินงานร่วมกันมีความยั่งยืน…”

จากการดำเนินงานของ วว. พบว่าประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของการใช้สารชีวภัณฑ์ซึ่งมีต่อภาคเกษตรกรรม คือ เป็นการยกระดับผลิตผลทางการเกษตรในการรองรับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ระบบการผลิตพืชปลอดภัย และระบบการผลิตพืชอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ลดการตกค้างของสารเคมีในพืชผลการเกษตร ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไทย