นวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่

ลิ้นจี่ (Lychee) เป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่คนชอบรับประทาน เนื่องจากมีรสชาติดี หวาน หอม สีสวย  จึงทำให้เป็นที่ต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากจะรับประทานสดแล้ว ยังแปรรูปเป็นลิ้นจี่บรรจุกระป๋องได้ด้วย ซึ่งสามารถส่งไปขายทั้งในและนอกประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เป็นพืชที่ชอบดินร่วน ร่วนปนทราย ร่วนปนดินเหนียว หรือเป็นดินเหนียวก็ได้ ถ้าหากมีการจัดระบบน้ำดี ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ระหว่าง 5.0-7.0 ปริมาณน้ำฝน 1,200-1,400 มิลลิลิตรต่อปี ช่วงการเจริญเติบโต อุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ชอบความชื้นสูงในช่วงระยะติดผล

ลักษณะพันธุ์

ลิ้นจี่พบในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์โดยแบ่งตามพื้นที่การปลูก ดังนี้

1.กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นมากและยาวนานก่อนการออกดอกมากกว่าพันธุ์ที่ปลูกทางภาคกลาง ได้แก่ ฮงฮวย จักรพรรดิ กิมเจง โอวเฮียะ เป็นต้น

2.กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ส่วนใหญ่ต้องการความหนาวเย็นไม่มากและหนาวเย็นไม่นานก็สามารถออกดอกได้ ปลูกในที่ราบต่ำแถวอำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ พันธุ์ค่อม (ค่อมลำเจียก) กะโหลกใบยาว สำเภาแก้ว กระโถนท้องพระโรง เขียวหวาน สาแหรกทอง จีน ไทยธรรมดา ไทยใหญ่ กะโหลกใบไม้ กะโหลกใน เตา ช่อระกำ และพันธุ์ทิพย์ เป็นต้น

เนื้อลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซีน วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 6 วิตามินอี โพแทสเซียม ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม โฟเลต และมีเส้นใยอาหารสูง

คุณค่าทางอาหาร

ลิ้นจี่มีกรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างของโปรตีนได้แก่ ไทโรซีน, แอสปาราจีน, อะลานีน, ทรีโอนีน, วาลีน และสารประกอบไกลซีน น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่มีสารประกอบ เป็นกรดไขมันที่สำคัญเช่น ปาล์มมิติก 12%, โอลิอิก 27% และไลโนเลอิค 11%

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ลิ้นจี่จัดเป็นไม้ผลประเภท non-climacteric หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลผลิต ในทางที่ดีขึ้น และ เอธิลีนไม่มีผลต่อการสุกหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นผลไม้ที่ไม่สามารถบ่มให้สุกได้ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่จึงควรเก็บเกี่ยวในระยะผลแก่พอดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพโดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้การเปลี่ยนสีของเปลือกเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจว่าจะเก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ ได้หรือไม่ โดยจะสังเกตจากเปลือกของลิ้นจี่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมชมพู สีชมพูหรือสีแดง เกณฑ์การเปลี่ยนสีดังกล่าวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา อีกลักษณะที่ใช้ประกอบในการตัดสินใจ คือ การดูหนามของผล โดยมีเกณฑ์ว่าลิ้นจี่ที่มีผลแก่ หนามบนผิวเปลือกจะห่างออกจากกัน ลักษณะที่เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสุกแก่ของลิ้นจี่เหล่านี้ เกษตรกรที่ใช้จะต้องเป็นผู้ชำนาญการพอสมควรไม่อย่างนั้นอาจจะตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปได้

วิธีการเก็บเกี่ยว

วิธีการเก็บเกี่ยวทำโดยใช้พะองพาดบนต้น แล้วหักกิ่งเพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งพวงและมีใบติดมาบ้างเล็กน้อย ลิ้นจี่ที่เก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตกแต่งช่อคัดเกรดและบรรจุ ซึ่งอาจจะทำอยู่ภายใต้ร่มไม้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ของสวนก็ได้

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ผลลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยวแล้วต้องระมัดระวังตามกระบวนการเก็บเกี่ยว การดูแลภายหลังการเก็บเกี่ยว และการขนส่งอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้คุณภาพที่เหมาะสมกับพันธุ์และแหล่งผลิต ผลลิ้นจี่ต้องแก่พอเหมาะ ในกรณีที่ไม่มีการรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผิวผลที่มีสีชมพู แดง หรือแดงเข้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เมื่อรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผิวผลอาจเป็นสีเหลืองจางถึงชมพู

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว

1.การลดอุณหภูมิผล

การลดอุณหภูมิผลจะช่วยลดการคายน้ำของผล ทำให้ผลลิ้นจี่มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น มีการรายงานว่าถ้าลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วให้อยู่ที่ 3 องศาเซลเซียสแล้วเก็บรักษาไว้ที่ 5 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลลิ้นจี่มีการสูญเสียน้ำน้อยและถูกโรคเข้าทำลายได้ยากขึ้น  วิธีการลดอุณหภูมิของผลอย่างรวดเร็ว อาจจะทำได้โดยการใช้ลมเย็นผ่านผลอย่างรวดเร็ว (Force-air Cooling) แต่วิธีนี้มักทำให้ผลสูญเสียน้ำหนักไปบ้าง เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะค่อนข้างต่ำ ทำให้มีการคายน้ำจากผลเข้าสู่บรรยากาศ  อีกวิธีที่แนะนำคือ การจุ่มผลลิ้นจี่ในน้ำเย็นหรือน้ำที่ผสมน้ำแข็ง(Hydro Cooling) จะช่วยลดอุณหภูมิผลได้อย่างรวดเร็วและผลไม่สูญเสียน้ำหนักในระหว่างการลดอุณหภูมิผล แต่ต้องระวังรอให้ผลแห้งก่อนการบรรจุ มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย

2.การสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว

การสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลิ้นจี่เกิดขึ้นเร็วมาก โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสีผิวของเปลือก ซึ่งจะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียน้ำของเปลือก และการเปลี่ยนแปลงของ สารประกอบพวกฟีนอลภายในเปลือก มีรายงานว่าเปลือกของลิ้นจี่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งภายใน 2-3 วัน หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ที่แนะนำให้เก็บรักษาลิ้นจี่อยู่ระหว่าง 0-5 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเก็บรักษา ถ้าต้องการเก็บรักษาเป็นระยะเวลานาน เช่น 3 สัปดาห์ ควรเก็บไว้อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้โดยที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 มีรายงานว่าการรมควันด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ นาน 25 นาที แล้วนำไปแช่ในสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ความเข้มข้น 1.0 นอมอล นาน 15 นาที ก่อนที่จะนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส จะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ไว้ได้นานถึง 7 สัปดาห์ โดยไม่มีการเปลี่ยนสีผิวของเปลือกลิ้นจี่

3.การป้องกันการเกิดสีน้ำตาลบนเปลือกลิ้นจี่

โดยการเคลือบไขไม่สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ได้ เนื่องจากผิวเปลือกลิ้นจี่ขรุขระ ไม่ราบเรียบทำให้ไม่สามารถเคลือบผลได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงไม่สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำของผล ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวเปลือกลิ้นจี่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและหมดอายุการใช้งาน (ที่มา : กรมวิชาการเกษตร,ศูนย์เภสัชสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้จัดการออนไลน์, โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช)

นวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ “ชุดรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลิ้นจี่แบบเคลื่อนที่

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งระเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ได้นาน 3 สัปดาห์ เนื่องจากแก๊สกำมะถัน (สารซัลเฟอร์) สามารถกำจัดโรคพืชที่ติดมากับผล มีกำลังผลิต 200 กิโลกรัม/ครั้ง ใช้เวลาการรมประมาณ 2 ชั่วโมง ประกอบด้วยตู้ทนกรดขนาด 120×120 เซนติเมตร  สำหรับใช้บรรจุลิ้นจี่  และต่อท่อเข้ากับชุดเผากำมะถัน ซึ่งจะใช้กำมะถัน 300 กรัมต่อลิ้นจี่ 200 กิโลกรัม หลังจากการรม 2 ชั่วโมง แล้วดูดแก๊สกำมะถันออกไปบำบัด ในส่วนของระบบจะบำบัดด้วยด่างต่อไป

   

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulfur dioxide)

 เป็นก๊าซมีสูตรโมเลกุลคือ SO2 เป็นออกไซด์ของกำมะถัน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่ไวไฟ เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศจะเกิดเป็นซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ และ จะรวมตัวกับน้ำเป็นกรดซัลฟุริก (H2SO4) หรือกรดกำมะถันหรือการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหาร

 หน้าที่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

• Preservative ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ทั้ง แบคทีเรีย (bacteria) ยีสต์ (yeast) และรา (mold)

• เป็นสารฟอกสี

• ผลไม้สด เช่น ลำไย ลิ้นจี่

• ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม

• ผลิตภัณฑ์แป้ง เช่น เส้นหมี่และก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น แป้ง

• อาหารแช่เยือกแข็ง (frozen food)

• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ (beer) ไวน์ (wine)

ปริมาณการใช้ในอาหาร

การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท (hermectically sealed container) ได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร เป็นต้น

องค์การอนามัยโลก ( WHO ) กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน ( ADI : Acceptable Daily Intake )   

สอบถามรายละเอียด รับบริการหรือรับคำแนะนำปรึกษาจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์   วว.  ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577  9004   โทรสาร 0 2577  9004   E-mail : tistr@tistr.or.th

…………………………………………………………………………………………………….          

นำเสนอข่าวโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว.

โทร. 0 2577 9360  

E-mail : pr@tistr.or.th 

Line@tistr 

IG : tistr_ig   

YouTube / TIKTOK : @tistr2506