“ดอกบัวแดง” ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea pubescens Willd. ชื่ออื่นๆ ได้แก่ บัวแดง สัตตบรรณ รัตตอุบล มีการกระจายตัวทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการร้อนใน สายบัวมีเบต้าแคโรทีน ช่วยป้องกันและต้านโรคมะเร็งในลำไส้ ในส่วนเกสรช่วยบำรุงผิวพรรณ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี สร้างพลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันด้านการพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอาง แบบ Co research มีการแบ่งงานตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยทั้งสองหน่วยงาน โดยประสบผลสำเร็จพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอางจากดอกบัวแดง คือ “เซรั่มจากสารสกัดดอกบัวแดง” มีประสิทธิภาพเด่นด้านบำรุงผิวหน้า ยับยั้งการสร้างเม็ดสี ลดการอักเสบและเกิดสิว
วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ดำเนินงานบูรณาวิจัยและพัฒนาร่วมกันครบ value chain เพื่อนำงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ดังนี้
มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี : ดำเนินการพัฒนาต้นน้ำ โดยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่าเรือแชแล ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปลูกดอกบัวแดงในพื้นที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ปลูกดอกบัวแดงกว่า 22,500 ไร่ และพัฒนากระบวนการสกัด การวิเคราะห์สารสำคัญ พบว่า สารสกัดจากดอกบัวแดงมีสาร flavonoid proanthocyanidin และ tannin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว เป็นต้น
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย : โดย ศูนย์บริการนวัตกรรมเครื่องสำอางแบบครบวงจร (Innovative Cosmetic Services Center : ICOS) หน่วยงานในสังกัด ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. นำสารสกัดที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากการพัฒนากระบวนการสกัดของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มาดำเนินการทดสอบความเป็นพิษ และฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัด จากนั้นได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “เซรั่มจากสารสกัดดอกบัวแดง” โดยผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบความพึงพอใจจากผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป นับเป็นการนำพืชอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างงาน สร้างอาชีพ ที่มั่นคงแก่พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์บริการนวัตกรรมเครื่องสำอางแบบครบวงจร (ICOS) วว. โทร. 0 2577 9000อีเมล nuttapan@tistr.or.th