วว. ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดงาน “CPHI South East Asia 2023” เร่งเครื่องอุตสาหกรรมยา กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นายสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมงานแถลงข่าว เตรียมจัดงาน “CPHI South East Asia 2023” ภายใต้แนวคิด “CPHI At the heart of Pharma ใจกลางยา ใจกลางเมือง กลางใจคุณ” จัดโดย บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมกับ วว. และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน อาทิ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมเภสัชอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย FDA จากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมทั้งสมาคมการค้าผู้ผลิตยาจากฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเชีย กัมพูชา เกาหลี และจีน เพื่อขยายตลาดยาไทย สู่เป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในภูมิภาคฯ และเสริมแกร่งผู้ผลิตยาไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมก้าวสู่ผู้ผลิตยารายสำคัญของโลก และผลักดันแนวทางความมั่นคงทางการยา ให้เป็นหนึ่งในเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โอกาสนี้ นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การวางกรอบยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมยาไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดสู่การก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ” ในวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุม 106 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร


ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมพัฒนาการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรภายในประเทศมากขึ้น วว. จึงมุ่งส่งเสริมและผลักดันด้านงานวิจัย โดยการศึกษาสมุนไพรทั้งการสกัดและการควบคุมคุณภาพ ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ด้วยวิธีทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ วว. ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปัญหาของผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และวัสดุทางการแพทย์ จึงได้ยกระดับห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ (non-clinical study) เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Good Laboratory Practice : GLP ตามมาตรฐาน The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD นับเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานการทดสอบที่ถูกต้องตามหลักสากล สร้างความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปประกอบการขึ้นทะเบียนได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับการยอมรับด้านข้อมูลการทดสอบ เมื่อต้องการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายต่างประเทศทำให้ไม่ต้องทดสอบช้ำ อีกทั้งยังมีการพัฒนายาใหม่จากพืชสมุนไพร นำมาผลิตเป็นวัตถุดิบสำคัญทางยาและระบบควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองด้านสุขภาพของคนไทย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการส่งออก และยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

สำหรับความยิ่งใหญ่ของงานในปีนี้อยู่ที่การแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งการสร้าง community ของกลุ่มผู้ผลิตยา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุน การร่วมจัดกิจกรรม และการเข้าร่วมงานจากหน่วยงานชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในงานอัดแน่นไปด้วยข้อมูลและความรู้ที่สำคัญในอุตสาหกรรมยา Pharma Market Hub ศูนย์รวมความรู้ด้านตลาดยาเพื่อเศรษฐกิจโดยผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ที่จะมาให้คำแนะนำเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ ตั้งแต่แนวโน้มความต้องการสินค้า กฎระเบียบ รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอพื้นที่กิจกรรม ได้แก่ Innovation Stage เวทีนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ยารูปแบบใหม่ ที่กำลังจะออกสู่ตลาด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและ Pharma Quest กิจกรรมใหม่ เพื่อส่งเสริมนิสิต-นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม และเพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม และมีการจัดแสดง Animal Health เพื่อให้งานดังกล่าวตอบโจทย์แบบครบวงจร รวมถึงการพัฒนายาชีววัตถุและวัคชีนในประเทศไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนหรือผู้ที่สนใจร่วมชมศักยภาพธุรกิจยาจากทั่วโลกกว่า 390 บริษัท พร้อมทั้งการนำเสนอผลงานนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการเจรจาทางธุรกิจ ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2566 ณ ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.cph.com/sea


📍นำเสนอข่าวโดย
กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว.
☎️โทร. 0 2577 9360
📧E-mail : pr@tistr.or.th
🟩 Line@tistr
🟧 IG : tistr_ig
🟥YouTube
🟪 TIKTOK : @tistr2506