วว. ร่วมวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5  เนื่องในวันปิยมหาราช 2567

ดร.อาภากร  สุปัญญา  รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ในฐานะผู้แทน กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์   วิจัยและนวัตกรรม   (อว.)  พร้อมด้วย บุคลากร วว. ได้แก่ นายสมนึก  ธนานันท์  ช่างเทคนิค  กองซ่อมบำรุง  และนายอิสริยะ  สุวรรณจักร  เจ้าหน้าที่การเงินการคลัง  กองพัสดุและคลังพัสดุ  ร่วมวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  เนื่องในวันปิยมหาราช  เพื่อน้อมรำลึกซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ทั้งการเลิกทาสและทรงนำพาประเทศชาติให้ก้าวสู่ความทันสมัย ในด้านสังคม  การศึกษา  และการคมนาคม  ในวันพุธที่  23  ตุลาคม  2567  ณ  ลานพระราชวังดุสิต

อนึ่งวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี รัฐบาลประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติ และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 สิริรวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา

พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ “พระปิยมหาราช” อันมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่ สมเด็จพระเทพศิรินทราพระบรมราชินี

พระราชกรณียกิจสำคัญ

พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ เช่น

การทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป

การปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ จากเดิมมี 6 กระทรวง และได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก และให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

เศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล

การศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา

การต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ

…………………………………………………

📍นำเสนอข่าวโดย   กองประชาสัมพันธ์  สำนักสื่อสารองค์กร วว.

☎️ โทร. 0 2577 9048

📧 E-mail : pr@tistr.or.th

🟩 Line@tistr

🟧 IG : tistr_ig

🟥 YouTube : tistr2506

🟪 TIKTOK : @tistr2506