กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ การแปลงแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ไปสู่การปฏิบัติ ขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2553 ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งความคิดเห็น อันจะนำมาซึ่งการแปลงแผนแม่บทฯ ประเทศ 52-56 ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ การนำไปสู่แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทฯ  รวมทั้งเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  โดยวิทยากรได้แนะนำวิธีการ และเครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานสามารถนำไปใช้ในการแปลงแผน ซึ่งหน่วยงานสามารถไป download ไฟล์เอกสารตามกรอบการทำงาน  (Template) จาก Website ของโครงการได้

ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า กลไกการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องประกอบด้วย

  • หน่วยงานหรือเจ้าภาพ ดำเนินการจัดทำหรือปรับแผนแม่บทฯและแผนปฏิบัติการหน่วยงาน
  • สำนักงบประมาณหรือสำนักงาน ก.พ. หรือกระทรวง หรือกรม หรือหน่วยงาน ดำเนินการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน
  • กระทรวงหรือกรม ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามแผนแม่บทฯ และแผนปฏิบัติการหน่วยงาน
  • กระทรวง ICT ดำเนินการและประสาน กระทรวงหรือกรม เพื่อติดตามและประเมินผล

โดยมีหลักการสำคัญสำหรับแนวทางการแปลงแผนดังนี้

  • ทุกภาคส่วนต้องมีความเข้าใจในแผนแม่บทฯ ของประเทศ มีส่วนร่วมในกระบวนการแปลงแผนทุกขั้นตอน และคอยติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับ
  • มีกลไกและกระบวนการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของหน่วยงานปฏิบัติในทุกระดับ ทั้งระดับกระทรวง ระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชน
  • สร้างเครื่องชี้วัดผลสำเร็จการพัฒนาตามแผนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่องเป็นระบบ
  • มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน เน้นการบูรณาการ มุ่งภารกิจร่วมกัน และระดมพลังร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน

และมีกระบวนการแปลงแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติ ดังนี้

  1. หน่วยงานสร้างนิยาม เป้าหมายเชิงปฏิบัติการ งานที่ต้องทำ และรายละเอียดของงาน
  2. หน่วยงานกำหนดเจ้าภาพ เจ้าภาพร่วม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  3. หน่วยงานทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยเอกสารตามกรอบการทำงาน (Template) ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำหนด
  4. หน่วยงานมีการสอบทานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนทุกไตรมาส
  5. ชมเชยและให้รางวัล เมื่อประสบผลตามเป้าหมาย ภายใต้เวลาและงบประมาณที่กำหนด

สำหรับหน่วยงานซึ่งได้มีการจัดทำแผนแม่บทฯ และแผนปฏิบัติการของหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว กระบวนการแปลงแผนแม่บทฯ ของหน่วยงาน ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนแม่บทฯ ของประเทศนั้น สามารถดำเนินการได้โดยเริ่มจาก

  • พิจารณาแผนแม่บทฯ ประเทศ ทั้งในส่วนของเงื่อนไขที่จำเป็น ( อันประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนากำลังคน ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารจัดการ ICT ของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ที่ 4 ใช้ ICT เพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของรัฐ ) และจุดมุ่งหมายหลัก ( อันประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ICT ยุทธศาสตร์ที่ 6 ใช้ ICT เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ) เพื่อให้เข้าใจและทราบถึงจุดมุ่งหมายในการดำเนินงาน
  • พิจารณาสถานภาพของปัจจัยที่มีส่วนในการดำเนินงาน อาทิ คน โครงข่ายสื่อสาร ระบบ เครื่องมือ วัฒนธรรมและลักษณะในการใช้งาน เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์หากลยุทธ์ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน รวมทั้งหาแนวทางหรือวิธีการในการดำเนินงาน อันจะนำมาซึ่งการได้มาของโครงการในการดำเนินงาน และแผนปฏิบัติการ
  • พิจารณาแผนปฏิบัติการ ว่า มีแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละยุทธศาสตร์ ใครเป็นหน่วยงานหลักหรือเจ้าภาพ องค์ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารใดบ้างที่จำเป็น สิ่งอำนวยความสะดวกหรือเครื่องมือใดบ้างที่ต้องการ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานเท่าไหร่ หน่วยงานเราสามารถสนับสนุนในฐานะหน่วยงานหลักหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือหน่วยงานสนับสนุนได้หรือไม่
  • หากมีโครงการที่สอดคล้องกับโครงการที่หน่วยงานต้องการดำเนินงานอยู่แล้ว ให้พิจารณาว่าสามารถดำเนินการร่วมกันได้หรือไม่อย่างไร เพื่อกำหนดเป็นโครงการที่หน่วยงานมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว ในฐานะหน่วยงานสนับสนุน
  • ในกรณีที่ยังไม่มีโครงการที่สอดคล้อง ให้ระบุโครงการไว้ในแผน โดยกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการดำเนินงานของแต่ละโครงการ เพื่อใช้สำหรับการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายหลัง

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ควรตระหนัก คือ เมื่อหน่วยงานได้นำเสนอโครงการในแผนแม่บทฯ ของหน่วยงาน โดยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอันเป็นผลมาจากการแปลงแผนแม่บทฯ ประเทศไปสู่การปฏิบัติ ต่อ ครม. และ กทสช. แล้ว   โครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาว่ามีความสอดคล้อง และสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่กำหนด จนผ่านการอนุมัติของ ครม. ให้นำไปบรรจุไว้ในแผนของประเทศ  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าหน่วยงานจะได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนทุกโครงการที่นำเสนอ  หน่วยงานยังคงต้องไปดำเนินการต่อเพื่อให้ได้งบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินการตามโครงการที่ได้เสนอไว้

ที่มา : เอกสาร แนวทางการแปลงแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ไปสู่การปฏิบัติ โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย