กล้วยหอม เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ปลูกมากในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี ฯลฯ

กล้วยหอมสามารถเป็นสินค้าส่งออกระดับประเทศ เพราะกล้วยหอมเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น

สรรพคุณของกล้วยหอม : แก้โรคท้องผูก โรคลำไส้ โรคซึมเศร้า โรคโลหิตจาง เป็นต้น

จากสรรพคุณที่ได้กล่าวในข้างต้นนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้พัฒนาสูตรน้ำกล้วยหอมพร้อมดื่ม เพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอม ในช่วงฤดูที่กล้วยหอมออกผลผลิตมามากเกินความต้องการของตลาด

ซึ่งหากสนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวหลักสูตรการผลิตน้ำกล้วยหอมพร้อมดื่ม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณปุณณภา บุญยะศักดิ์ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร 0 2577 9131 โทรสาร 02 577 9130

ขั้นตอนการผลิตน้ำกล้วยหอมพร้อมดื่ม

  1. ตัดกล้วยหอมออกเป็นลูก ๆ
  2. ล้างน้ำสะอาด จากนั้นนำไปนึ่งเป็นเวลา 8 นาที
  3. ปอกเปลือกเอาแต่เนื้อกล้วย โดยใช้กล้วย 3 กิโลกรัม และซิตริก 1%
  4. นำไปใส่เครื่องปั่น นาน 2-3 นาที โดยใช้อัตราส่วนสำหรับ กล้วยบดละเอียด : น้ำสะอาด เป็น 1:4
  5. จากนั้นทำการกรอง
  6. นำน้ำกล้วยที่ได้จากการกรอง 11 กิโลกรัม ไปตั้งไฟที่อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส
  7. ผสมน้ำตาลทรายขาว 650 กรัม + แซนแทนกัม 0.1%
  8. ทำการกรอง
  9. แล้วจึงนำกลับไปตั้งไฟที่อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียสต่อ
  10. จากนั้นจึงบรรจุใส่ภาชนะ

ที่มา : ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ การรับประทานข้าวกล้องงอกจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ช่วยระบบย่อยอาหาร และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้

การทำน้ำข้าวกล้องงอกจากข้าวสีนิล นอกจากจะได้ประโยชน์จาก สารกาบา ที่ได้จากการนำข้าวกล้องสีนิลมาทำให้งอกแล้ว ในข้าวกล้องสีนิลยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี2 และ ใยอาหาร ซึ่งพบในปริมาณที่สูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ

สารกาบา หรือ Gamma amino butyric acide มีความสำคัญในการทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยรักษาสมดุลในสมอง ป้องกันโรคอัลไซเมอร์

ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการของน้ำข้าวกล้องงอกจากข้าวสีนิลผสม

คุณค่าทางอาหารของข้าวสีนิล

ข้าวกล้องสีนิลอุดมไปด้วยวิตามิน บี1 บี2 วิตามินอี สังกะสี ทองแดง แคลเซียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก (ซึ่งมีสูงกว่าข้าวกล้องทั่วไป 30 เท่า) โปรตีน 12.5% (มากกว่าข้าวกล้องทั่วไป) เส้นใยอาหาร และคาร์โบไฮเดรต (ต่ำกว่าข้าวกล้องทั่วไป) ทั้งนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ แอนตี้ออกซิแตนท์ (Anti-Oxidant) สูงกว่าข้าวกล้องทั่วไป 7 เท่า

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. วิตามิน B1 ป้องกันเหน็บชา และ ช่วยการทำงานของระบบประสาท
  2. วิตามิน B2 ป้องกันโรคปากนกกระจอก และ ช่วยเผาผลาญอาหาร
  3. วิตามิน E เป็นแอนตี้ออกซิแตนท์ ชะลอความชราของผิว รักษาและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย ช่วยเผาผลาญอาหาร
  4. ไนอาซีน ช่วยการทำงานของระบบประสาท และระบบผิวหนัง
  5. แร่ธาตุเหล็ก แม็กนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม ช่วยเสริมสร้าง กระดูกและฟัน ป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว
  6. เส้นใย ช่วยให้ถ่ายสะดวก ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ ซับไขมัน ช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอล ป้องกันโรคไขมันสะสมในเส้นเลือด
  7. คาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานต่อร่างกาย
  8. โปรตีน เสริมสร้าง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

ขั้นตอนเตรียมข้าวกล้องงอก

  1. เตรียมเมล็ดข้าวกล้องที่สดใหม่และมีเมล็ดสมบูรณ์ (เนื่องจากจะสามารถงอกได้ดี โดยเมล็ดข้าวกล้องต้องมีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะมีจมูกข้าวและเปลือกหุ้มเมล็ดอยู่)
  2. นำข้าวกล้องไปซาวน้ำและแช่น้ำไว้ 3-5 ชั่วโมง
  3. เทข้าวที่อุ้มน้ำใส่ผ้าสะอาดและมีความหนานุ่ม โดยอาจเลือกใช้ผ้าขาวบาง แล้วใช้ผ้าห่อคลุมให้มิดชิด แต่พอมีอากาศให้เมล็ดข้าวหายใจ ทิ้งไว้ข้ามคืน หรือ ประมาณ 10-12 ชั่วโมง
  4. ล้างทำความสะอาด
  5. ข้าวงอกพร้อมใช้

ขั้นตอนการเตรียมถั่วเหลืองและธัญพืชอื่น ๆ

  1.  นำถั่วเหลืองซีกธัญพืชอื่น ๆ มาทำความสะอาด
  2. แช่น้ำสะอาด ทิ้งไว้ข้ามคืน หรือ ประมาณ 8-10 ชั่วโมง (สามารถลดเวลาในการแช่ธัญพืช โดยการใช้น้ำอุ่น)
  3. ถั่วเหลืองและธัญพืชอื่น ๆ พร้อมใช้

สูตรอย่างง่าย

  1. ข้าวกล้องงอก 25 กรัม
  2. ถั่วเหลือง 20 กรัม
  3. งาดำ 10 กรัม
  4. น้ำตาลทรายแดง 25 กรัม
  5. น้ำสะอาด 500 กรัม

ขั้นตอนการทำ

  1. นำข้าวกล้องงอกและถั่วเหลืองไปนึ่งนาน 15-20 นาที
  2. เทลงโถปั่น
  3. เติมน้ำสะอาด
  4. ปั่นจนเป็นเนื้อเดียวกัน
  5. กรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวบาง
  6. ให้ความร้อนนาน 3-5 นาที
  7. เติมน้ำตาลทรายแดง
  8. คนให้เข้ากันก็จะได้น้ำข้าวกล้องงอกที่สามารถทำง่าย ๆ ได้เอง

เคล็ดลับความอร่อย

เพิ่มความอร่อยด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ อาทิ ถั่วแดง ถั่วเขียว และลูกเดือย หรือ ใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาลทรายแดงเพื่อให้ความหวานก็ได้

ธัญญาพืช

สารอาหาร

สรรพคุณยาและคุณค่าทางอาหาร

ถั่วเหลือง

โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินเอ วิตามินบี1 บี2 บี6 บี12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี แมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ไนอะซิน เลซิติน และเส้นใยอาหาร

บำรุงม้าม ขับร้อน ถอนพิษ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ป้องกันการขาดแคลเซียมในกระดูก บำรุงระบบประสาทในสมอง เพิ่มความทรงจำ ลดไขมันและคอเรสเตอรอลในร่างกาย

ถั่วแดง

โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามิน วิตามินบี1 บี2 และเส้นใยอาหาร

บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำบัดอาการเหน็บชา อาการใจสั่น อาการปวดประจำเดือนผิดปกติ ช่วยขับพิษ ขับของเหลวในร่างกาย บรรเทาอาการปวดตามข้อต่อกระดูก

ลูกเดือย

โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี1 บี2 วิตามินอี ไนอะซิน และเส้นใยอาหาร

บำรุงม้าม ปอด ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา บำรุงผิวพรรณและเส้นผม ตลอดจนยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก

งาดำ

โปรตีน ไขมัน วิตามินบี วิตามินอี ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม ทองแดง ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โครเมียม สังกะสี

บำรุงระบบประสาทในสมอง บำรุงผมและผิวพรรณให้ชุ่มชื่น ตลอดจนบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยลดคลอเลสเตอรอล ป้องกันอาการหลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจ ทำให้ระบบหัวใจแข็งแรง และมีสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยต่อต้านมะเร็ง

ที่มา : เอกสารประกอบหลักสูตร น้ำข้าวกล้องงอกจากข้าวสีนิล ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย