เรียบเรียงโดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร (กจค.) วว.

ในปัจุบันคำว่า  เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy นั้น เป็นที่คุ้นหูกันในหมู่นักวิชาการ รวมถึงนักวิจัยในสาขาต่างๆ ด้วย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในปัจุบันนี้เน้นไปที่เรื่องดังกล่าว เศรษฐกิจสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมแบบ 3 มิติไปพร้อมกัน อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุและของเสียต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมให้มีความสมดุล ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน  

การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการที่จะขับเคลื่อน เนื่องจากโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อน และยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการดำเนินงานร่วมกันให้เป็นไปโดยมีเอกภาพ ซึ่งในแต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับโลก แต่ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ดังนั้นการทำงานผสานกันเป็นแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) จึงเป็นแนวคิดที่ อว. ใช้ในการขับเคลื่อนโดย การทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการขอความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน หรือเทคโนโลยีจากพันธมิตรในต่างประเทศ 

อว.มีหน่วยงานภายใต้กระทรวง ซึ่งมีศักยภาพในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ โดย อว. มีความตั้งใจที่จะดำเนินการด้วยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ อว. ยังมุ่งหวังที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาด บรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยาง และปาล์ม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตยาชีววัตถุ วัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ทที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น อว. ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และจัดการระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแหล่งใหม่ ที่กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาปิดช่องว่างให้การใช้ทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

และทั้งหมดที่กล่าวมานี่ก็คือ คำตอบว่า เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวได้ด้วยอะไร   

ที่มา : โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG