โดย ปุณณภพ โผผิน 

            เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยในปัจจุบันคือ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่มีการนำเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการพัฒนาและช่วยในการขายสินค้า ดังนั้นในส่วนของงานกราฟิกดีไซน์จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคไทยแลนด์ 4.0 การออกแบบต่างๆ ต้องมีการศึกษาเทรนด์ที่มีความเป็นสากล เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อให้งานการฟฟิกดีไซน์มีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ซึ่งเทรนด์ในงานกราฟฟิกดีไซน์ต่างๆ สามารถสรุปย่อๆ ได้ ดังนี้

        1. การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น วารสาร (magazine) จุลสาร (booklet) โปสเตอร์ (poster) แผ่นพับหรือใบปลิว (leaflet) เทรนด์งานกราฟิกดีไซน์สำหรับสื่อประเภทนี้ ปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่ความเรียบง่าย มีความเป็นธรรมชาติ มีการเลือกใช้สีที่สื่อถึงความสดใหม่ สดใส ตื่นตัว มีการใช้ลูกเล่นโดยการไล่เฉดสี สำหรับลักษณะการใช้ลายเส้นจะเป็นการเลียนแบบจากธรรมชาติรอบตัว เช่น คลื่นทะเล ลายหินอ่อน ใบไม้ ดอกไม้ ปีกนก นอกจากนี้การดีไซน์ยังมีกลิ่นไอของการออกแบบในยุค 80 ที่ผสมอยู่ในการใช้สีและการลักษณะเลือกใช้ตัวอักษร (font) อีกด้วย  ในส่วนของการใช้ภาพประกอบนั้น จะเน้นไปที่การสร้างกราฟฟิกแทนการใช้ภาพจริง หรือใช้ภาพวาดมือ (hand-drawn) ผสมผสานกับกับการใช้ภาพกราฟิก

    So-Schmeckt-2017-wpcf_700x454

tpc_general_spring-summer_2017

        2.การออกแบบโลโก้ ยุคนี้ก็ยังคงยึดถือปรัชญาเดิมคือ การสร้างความน่าจดจำและสื่อถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท โดยการออกแบบจะมุ่งเน้นไปที่ความเรียบง่าย ลายเส้นไม่ซับซ้อน ดูสบายตา ใช้การออกแบบที่เป็นแบบแบน (flat design) และมีการใช้การออกแบบที่ว่างรอบวัตถุให้เกิดภาพซ้อนอีกภาพหนึ่ง (negative space) สำหรับลักษณะลายเส้นที่ใช้ในการสร้างโลโก้ก็จะเน้นไปที่เส้นหนาทึบเสมอกันวางอยู่พื้น (background) สีเดียว นอกจากนี้หลายแบรนด์ยังเลิกใช้ตัวอักษรในโลโก้ เพื่อให้โลโก้ดูเรียบง่าย สะอาดตา สำหรับภาพที่ใช้ในการสร้างโลโก้หากไม่ได้สร้างจากลายเส้นก็จะนิยมใช้เป็นภาพวาดมือ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการให้ดูมีความอบอุ่นและมีเสน่ห์

                                        003-logo590 winelogo

                      2011-logo-rebranding-starbucks Insta-1

      images cafeB

         3. การออกแบบสื่อออนไลน์ที่เป็นภาพนิ่ง การใช้ภาพนิ่งเพื่อเป็นสื่อในการประกาศ โฆษณา หรือแจ้งข่าวสาร ผ่านทางโซเซียลมีเดีย มีความสำคัญอย่างมากในยุคนี้ ดังนั้นการออกแบบสื่อออนไลน์จึงต้องมีความทันสมัยไม่ตกเทรนด์ ซึ่งเทรนด์ของปีนี้ก็ยังเน้นไปที่ความเรียบง่ายเช่นเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์และโลโก้ แต่จะต่างกันตรงที่สื่อออนไลน์ยุคนี้จะนิยมใช้ cinemagraphy หรือการสร้างภาพเคลื่อนไหวเฉพาะจุด เพื่อให้ดูมีมิติ ดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งภาพเคลื่อนไหวนี้นิยมใช้ในการทำโลโก้ที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์เช่นกัน ตัวอย่างภาพนิ่งในลักษณะ cinemagraphy สามารถหาดูได้จาก ที่นี่

        4. การออกแบบสื่อออนไลน์ที่ภาพเคลื่อนไหว (motion graphic) ยุค 4.0 มีการใช้ motion graphic ในการสื่อสารโน้มน้าวใจ ให้ความรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ในยุคนี้จะมีการใช้ภาพกราฟฟิกในลักษณะ 2D และ 3D ผสมผสานกันในสื่อตัวเดียว การเปลี่ยนฉากในแต่ละฉากจะมีความต่อเนื่องกัน (seamless transitions) โดยสิ่งที่เห็นในฉากก่อนหน้าจะปรากฏ และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงลักษณะในฉากต่อไป ซึ่งสร้างความรู้สึกต่อเนื่องให้แก่ผู้ชม สำหรับลักษณะเนื้อเรื่องที่นิยมใช้จะเป็นกึ่งสารคดีแอนนิเมชัน มีการใช้ตัวอักษรน้อย เน้นที่การบรรยายเล่าเรื่อง หรือเพลงประกอบที่เข้ากับเนื้อหาของเรื่อง ส่วนภาพแอนนิเมชันจะใช้ไม่กี่สีและมีการไล่เฉดสี ลายเส้นในการสร้างภาพจะไม่ซับซ้อน หนักแน่น เรียบง่าย และสะอาดตา เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ตัวอย่าง motion graphic ของปี 2017 สามารถหาดูได้จาก https://envato.com/blog/best-motion-graphics-trends-design-2017/

จะเห็นได้ว่าเทรนด์ในการออกแบบกราฟิกของสื่อต่างๆ ยุคนี้จะเน้นไปที่ความเรียบง่าย สะอาดตา เพื่อสร้างความสบายตาให้แก่ผู้ชม ดังนั้นการออกแบบสื่อต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์เอง จึงควรจะมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความน่าสนใจและไม่ตกเทรนด์ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเช่นกัน

อ้างอิงจาก

https://webdesignledger.com/9-graphic-design-trends-need-aware-2017/

http://www.indesignskills.com/inspiration/2017-graphic-design-trends/

http://justcreative.com/2017/01/01/2017-logo-design-trends-forecast/

https://envato.com/blog/best-motion-graphics-trends-design-2017/

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google Image 

 

โดย ดร. นารินทร์  จันทร์สว่าง ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.)

        ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ วว. ที่ได้ให้โอกาสนารินทร์ได้เข้าร่วมประชุม 13th Science and Technology in Society forum (STS forum) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทำให้นารินทร์ได้เปิดโลกทัศน์แลกเปลี่ยนความรู้  จากการได้สนทนาหรือฟังการบรรยายจากผู้ทรงเกียรติที่ได้รับรางวัลโนเบล นักวิจัยผู้มีประสบการณ์สูง นักธุรกิจ นักการเมือง และนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่มาจากทั่วโลก  วัตถุประสงค์ของงานประชุม STS forum คือ การจัดหากลไกใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการสร้างเครือข่ายเพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาจากการประยุกต์ใช้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้งานประชุมยังให้ความสำคัญกับจริยธรรม ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการจัดการอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมจะทำให้มนุษย์ในศตวรรษที่ 21  อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  ก่อนการเริ่มงานอย่างเป็นพิธีการในวันถัดไป ทางผู้จัดงานได้จัดกลุ่มนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกันประมาณ 7-8 ท่าน จากนั้นเชิญผู้มีชื่อเสียงและนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลเข้าร่วมสนทนากับนักวิจัยรุ่นเยาว์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเกิดความสำเร็จในอาชีพการทำงาน โดยกลุ่มของนารินทร์ ได้รับเกียติจากนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 ท่าน คือ คุณหมอ Peter Agre และ ดร. Tim Hunt มาร่วมสนทนา

Narin
Peter Agre

        เริ่มแรกขอกล่าวถึงประวัติของคุณหมอ Peter Agre   คุณหมอเป็นชาวอเมริกัน จบการศึกษาสาขาวิชาแพทยศาสตร์จาก Johns Hopkins School of Medicine และมีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและการสอนหนังสือจนกระทั่งคุณหมอได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถึง 19 ใบจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น นอร์เวย์ กรีซ เม็กซิโก ฮังการี และจากสหรัฐอเมริกา คุณหมอได้วิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรียมาเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นเขาได้ค้นพบ Aquaporins ซึ่งเป็นช่องทางเฉพาะที่โมเลกุลน้ำผ่านเข้าออกระหว่างเซลล์ และเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2546 (ค.ศ. 2003) ทางด้าน “discoveries concerning channels in cell membranes” คุณหมอเล่าว่าเขาชอบทำงานวิจัย ชอบการเรียนรู้ ชอบทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยเขาได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรียในประเทศกำลังพัฒนา  นอกเหนือจากความสำเร็จทางด้านหน้าที่การงาน เขายังมีครอบครัวที่อบอุ่น ลูกสามคนของเขา จบการศึกษาที่ดีและมีความเจริญก้าวหน้าในบริษัทที่มั่นคงและขนาดใหญ่ระดับโลก  คุณหมอยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การทุ่มเท ตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจะทำให้เกิดความสำเร็จและเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง”

Tim Hunt
 Tim Hunt

        ท่านผู้ทรงเกียรติลำดับถัดมา คือ ดร. Tim Hunt เป็นชาวอังกฤษ จบการศึกษาปริญญาเอกจาก University of Cambridge ท่านและทีมงานได้ทำงานวิจัยแล้วพบว่ากลูต้าไธโอน (glutathione) ปริมาณเพียงเล็กน้อยสามารถยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังไม่เจริญเต็มที่ และยังพบว่าสาย RNA ใช้เป็นตัวเริ่มต้นการสังเคราะห์ haemoglobin (สารสีแดงในเม็ดเลือดเป็นโปรตีนที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย)  ดร. Tim Hunt ได้รับรางวัลโนเบลสาขา Physiology or Medicine ปี 2544 (ค.ศ. 2001) ร่วมกับนักวิจัยอีกสองท่านทางด้าน “for their discoveries of key regulators of the cell cycle” ในการการค้นพบ Cyclins ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนสำคัญที่ควบคุมการแบ่งเซลล์   ดร. Tim Hunt กล่าวว่าเขาชอบทำงานวิจัย จะรู้สึกความตื่นเต้นที่ได้ทราบผลการทดลองจากลูกศิษย์ และท่านยังบอกถึงเคล็ดลับในการประสบผลสำเร็จว่า การที่เขามีลูกศิษย์มากมาย ทำให้งานวิจัยนั้นมีปริมาณมากและมีองค์ความรู้มาก ซึ่งจะทำให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

        จากการสนทนากับผู้ทรงเกียรติทั้งสองท่านนี้ ทำให้นารินทร์ได้ทราบว่าความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ สิ่งนั้นมาจากการทุ่มเท ตั้งใจทำงาน สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้ การทำงานเป็นทีมทำให้ได้งานที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น  รวมทั้งไม่ลืมที่จะใส่ใจครอบครัว จะทำชีวิตเรามีความสุขและความสมดุล….:)

โดย วัชรีวรรณ ทรัพย์รุ่งเรือง

             CSR หรือ Corporate Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยมีความรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

CSR1             สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้มีการจัดกิจกรรม CSR ในลักษณะ After process หรือกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรโดยตรง เช่น การปลูกป่า, การบริจาคทุนการศึกษา, การรณรงค์สร้างจิตสำนึกในเรื่องต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด วว. ได้จัดโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกในการรักษาสัตว์ป่า ธรรมชาติ และสร้างความตระหนักในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดย วว. ได้เชิญโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงอันได้แก่ โรงเรียนคลองห้า พฤกษชัฏราษฎร์บำรุง, โรงเรียนบึงเขาย้อน คงพันธุ์อุปถัมภ์ และโรงเรียนบางชวดอนุสรณ์ เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการค่ายนี้ ได้รับการตอบรับจากคณะครู อาจารย์เป็นอย่างดี โดยทั้ง 3 โรงเรียนได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 87 คน เพื่อเดินทางไปร่วมกิจกรรมค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นสถานีวิจัยภายใต้การกำกับดูแลของ วว.  ตั้งอยู่บนผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ของอำเภอวังน้ำเขียว และยังเป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่สงวนชีวมณฑลของประเทศที่ได้รับการประกาศจัดตั้งจากองค์กรยูเนสโกอีกด้วย

CSR3

 

       สำหรับกิจกรรมภายในค่ายนั้น ประกอบไปด้วย กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ดูนก ดูไก่ฟ้าพญาลอ นกประจำชาติของไทยที่หายาก การฝึกใช้กล้อง Binocular และ Telescope กิจกรรมดูดาว กิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การฝึกคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ (Think out of the box & Creative thinking) การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) การใช้ศิลปะ ประดิษฐ์งานศิลปะในเชิงวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ แต่กิจกรรมที่เป็นกุญแจสำคัญในการปลูกจิตสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่เยาวชน คือ “Conservative Role Play” เป็นการนำให้เยาวชนตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะหมดไปถ้ามนุษย์เราไม่ร่วมมือช่วยกันรักษา ซึ่งกิจกรรมนี้จะเริ่มต้นจากการใช้คลิปวีดีโอสั้นๆ ในการสร้างความตระหนัก จากนั้นจึงมีการพูดคุย อธิบาย ถามตอบ เพื่อประเมินความเข้าใจของเยาวชน และปิดท้ายด้วยการให้เยาวชนออกมาแสดงบทบาทสมมติ เรื่องความไม่สมดุลของห่วงโซ่อาหาร (food chain) ว่า หากความสัมพันธ์กันของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ขาดลง จะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลมากมายถึงประการใด ซึ่งเยาวชนมีความสนุกสนานอย่างมากในการร่วมกิจกรรมทุกๆ กิจกรรม เพราะได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ได้รับความรู้ในรูปแบบ “Learning by Playing” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้เยาวชนได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ด้วยความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ซึมซับความรู้ที่แฝงอยู่กิจกรรมต่างๆ ระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไม่รู้ตัว อันเป็นผลดีต่อการสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและสังคมต่อไป

CSR2

       โครงการค่ายครั้งนี้ นับว่าเป็นงาน CSR ที่ วว. ตั้งใจดำเนินการเพื่อเยาวชน  และได้รับการตอบรับที่ดีจากชุมชน โดยต่อจากนี้ วว. จะมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัย และการช่วยเหลือสังคมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีและน่าอยู่อย่างยั่งยืน

โดย  ปฐมสุดา อินทุประภา

            เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 คณะทำงานการจัดการความรู้ของ วว. นำโดย ดร.นฤมล รื่นไวย์ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลและสารสนเทศได้เข้าเยี่ยมชมหอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มหาวิทยายาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งได้รับการต้อนรับจากทางเจ้าหน้าที่ของหอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นอย่างดี

 

18191062_10210667408055195_430297375_n18197701_10210667409175223_479245732_n

          หอสมุดป๋วย อึ้งภาภรณ์ ที่ศูนย์รังสิตแห่งนี้ มีพื้นที่ถึง 18,699  ตร.ม. มีพื้นที่นั่งอ่านหนังสือถึง 2, 310 เครื่องคอมพิวเตอร์ 142 เครื่อง มี Wifi และเครื่อง printer ให้นักศึกษาได้ใช้งาน หอสมุดป๋วยเปิดให้บริการแก่นักศึกษาทุกวันไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และในช่วงสอบยังเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนอีกด้วย ในส่วนของทรัพยากรสารสนเทศนั้น ทางหอสมุดมีหนังสือในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 278,647 เรื่อง ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 34,275 เรื่อง มีวารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 217 เรื่องในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ถึง 106,542 เรื่อง วิทยานิพนธ์ในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 19,500 เรื่อง ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 20,995 เรื่อง หนังสือพิมพ์ในรูปแบบสิ่งพิมพ์จาก 10 สำนักพิมพ์ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 5,000 สำนักพิมพ์ และยังมีโสตทัศนวัสดุจำนวน 14,937 เรื่อง ให้นักศึกษาได้เข้ามาศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ทางหอสมุดยังมีระบบการยืม-คืนทรัพยากรสารสนเทศระหว่างหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตต่างๆ อีกด้วย และหากนักศึกษาต้องการทรัพยากรสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยอื่นที่อยู่ในเครื่องข่ายของหอสมุด ก็สามารถกรอกแบบฟอร์มผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยื่นความจำนงในการขอยืมทรัพยากรสารสนเทศเหล่านั้นมาใช้ได้อีกด้วย  นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี สมกับยุคไทยแลนด์ 4.0

18191709_10210667411655285_730606875_n

          ในส่วนของศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2558 ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด  Active learning หรือการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่ 15,300 ตร.ม. ที่นั่งอ่าน 1,200 ที่นั่ง เครื่องคอมพิวเตอร์ 228 เครื่อง พร้อม Wifi และเครื่อง printer ไว้คอยให้บริการ นักศึกษาสามารถเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ติวหนังสือ ทำรายงาน หรือประชุมหารือในเรื่องต่างๆ ได้ตลอดเวลา

18190857_10210667411935292_177824556_n

          ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ให้แนวคิดในการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ไว้ว่า ท่านต้องการสร้างที่นี่ให้เป็นห้องสมุดแนวใหม่ ที่ไม่มีหนังสือ ไม่มีผนัง ไม่มีเจ้าหน้าที่  เป็นห้องสมุดเปิดโล่ง ไม่เข้มงวดเหมือนห้องสมุดทั่วไป แต่ให้มีที่อ่านหนังสือ มีที่นั่งเล่น มีบรรยายกาศที่เป็นกันเอง สำหรับพื้นที่ในการให้บริการนั้น ทางศูนย์ฯ ได้จัดแบ่งไว้เป็นสัดส่วน คือชั้น 1  Business Zone ซึ่งจะมีร้านกาแฟให้บริการ ชั้น 2 Tutoring Zone ซึ่งห้องจะกั้นด้วยกระจกใส เพื่อให้นักศึกษารวมกลุ่มกัน เพื่อติวหนังสือ หรือประชุมหารือเรื่องต่างๆ โดยสามารถจองห้องผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยได้ล่วงหน้า ในส่วนของชั้น 3 Reading Zone นักศึกษาสามารถนำหนังสือ เข้ามาอ่านหรือทำรายงานได้ ส่วนชั้น 4 Multimedia Service จะให้บริการคอมพิวเตอร์ และเป็นห้องฝึกฝนทักษะทางด้านภาษา รวมถึงให้บริการห้องชมภาพยนตร์

18191060_10210667412135297_597594491_n

          นอกจากนี้ทางที่บริเวณชั้น 2 ของศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังแบ่งพื้นที่ไว้จัดนิทรรศการ โดยจัดนิทรรศการที่เกี่ยวของกับการบริหารจัดการทรัพยากรห้องสมุด บทเรียนออนไลน์ การจัดการความรู้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านห้องสมุดและบริการที่เป็นประโยชน์ต่างๆ

          หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นี้ นับได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาในยุค 4.0 นี้ ได้เป็นอย่างดี

โดย วรวิทย์ อินทร์กง กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ในปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัลความต้องการในการใช้กระดาษและงานพิมพ์ได้ลดลงมาก หนังสือ นิตยสาร และสำนักพิมพ์ต่างๆ ทยอยปิดตัวลง เนื่องจากความนิยมในการอ่านของผู้อ่านเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะ e-book, e-journal, e-magazine ได้เข้ามาแทนที่ แต่อย่างไรก็ตาม กระดาษและงานพิมพ์ก็ยังไม่ถึงกับสูญหายไปเสียทีเดียว เนื่องจากความต้องการในการพิมพ์งานจิปาถะต่างๆ ยังคงมีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การพิมพ์นามบัตร การพิมพ์บัตรเชิญ การพิมพ์รายงานสำหรับนักเรียน นักศึกษา การพิมพ์รายงานสำหรับนักวิจัย การพิมพ์โปสเตอร์สำหรับการนำเสนองานในการประชุมและงานโฆษณา เป็นต้น  ดังนั้น เราจึงควรมีความรู้ในเรื่องของการเลือกกระดาษที่เหมาะกับงานพิมพ์ เพื่อให้งานของเราออกมาดีและสวยงามยิ่งขึ้น  pa1

หลักการพื้นฐานในการเลือกกระดาษให้เหมาะกับบงานพิมพ์มี 4 สิ่งที่ต้องคำนึง คือ

  1. ความสว่างของกระดาษ (brightness) ในที่นี้หมายถึงความขาวสว่างของกระดาษ ซึ่งยิ่งกระดาษมีความขาวสว่างมากเท่าใด ก็จะทำให้เกิดมิติและความเข้มของสีมากขึ้นเท่านั้น ทำให้สีสันของงานพิมพ์ออกมาสวยงามชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน
  2. ความทึบแสงของกระดาษ (opacity) ความทึบแสงของกระดาษสามารถสังเกตได้จากการที่เราชูกระดาษขึ้นให้แสงส่องผ่าน แล้วเราสามารถมองเห็นสิ่งที่ถูกเขียนหรือถูกพิมพ์ไว้ในอีกด้านหนึ่งของกระดาษ ซึ่งหากเรามองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของกระดาษได้ชัดเจน ก็แสดงว่ากระดาษชนิดนั้น ไม่เหมาะสำหรับงานพิมพ์สองด้าน (double-sided printing)  ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หากกระดาษพิมพ์คุณภาพดีจะมีความทึบแสงสูง ทำให้เหมาะกับงานพิมพ์หลากหลายประเภท และสามารถพิมพ์ได้ทั้งสองด้านpa2
  3. น้ำหนักกระดาษ (weight) ซึ่งบ่งบอกถึงความหนา ความบางของกระดาษ และเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของกระดาษ เพราะหากกระดาษมีน้ำหนักมาก ย่อมมีหนามากและมีความทึบแสงมากขึ้น ดังนั้นการเลือกกระดาษที่มีน้ำหนักมาก ความสูง จะทำให้งานพิมพ์ที่ออกมาดูดี มีคุณค่าและดูมีราคา กว่าการเลือกใช้กระดาษที่มีความบางและโปร่งแสง
  4. เนื้อกระดาษ (texture) หมายถึง พื้นผิวหรือความเรียบของเนื้อกระดาษ ซึ่งเนื้อกระดาษมีความสำคัญมากในการพิมพ์ เนื่องจากส่งผลต่อการกระจายตัวของหมึกพิมพ์ ซึ่งหากเลิกใช้เครื่องพิมพ์ inkjet และ laser เราควรเลือกใช้กระดาษที่มีความเรียบมากกว่ากระดาษที่มีพื้นผิวขรุขระpa3

จากหลักการพื้นฐานในการเลือกกระดาษทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า การเลือกกระดาษที่เหมาะสมกับงานพิมพ์แต่ละชนิดจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพงานพิมพ์ที่ผลิตออกมา ผลงานออกแบบต่างๆ ที่ดูสวยงามจอคอมพิวเตอร์จะถูกลดความสวยงามลงไปในทันที หากผู้ผลิตไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกกระดาษในเหมาะสมกับออกแบบนั้นๆ

เอกสารอ้างอิง                                                                                                                                   

ไม่ปรากฏผู้แต่ง .2559. Printing Basics: How to Choose the Right Kind of Paper. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: http://www.computershopper.com/feature/printing-basics-how-to-choose-the-right-kind-of-paper/(page)/2, [เข้าถึงเมื่อ 9 กันยายน 2559].